หุ่นยนต์เอไอ เตรียมขึ้นแท่น’แรงงาน’พรีเมียม?

มนุษย์อาจต้องตกงานแล้วจริงหรือ!? เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์เอไอ เตรียมขึ้นแท่นแรงงานคุณภาพเทียบชั้นมนุษย์ เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าว มีการออกแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสื่อสารและแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ใกล้เคียงมนุษย์มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์ในกลุ่มงานที่เสี่ยงอันตราย รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ในมิติต่างๆ อาทิ หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด หุ่นยนต์นักบิน บาริสต้าในร้านกาแฟ และแม่ครัวทอดไข่เจียว ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความอัจฉริยะของหุ่นยนต์เอไอเท่านั้น ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่แรงงานมนุษย์ต้องหาแนวทางร่วมกันครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาแย่งก้าวข้ามสายงานของหุ่นยนต์ในอนาคต หรือท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์และหุ่นยนต์จะสามารถทำงานร่วมกันอย่างพันธมิตรที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ภาพประกอบ

ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มธ. กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เริ่มเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานมนุษย์ และผลผลิตจากปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถควบคุมจำนวนและคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการ ซึ่งสามารถแบ่งบทบาทการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ได้ 3 ระดับ ได้แก่ 1. ทำงานแทนสมองของมนุษย์ รูปแบบการทำงานเพื่อการตัดสินใจแทนมนุษย์ เช่น การใส่ข้อมูลอาการป่วยของผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยโรค แต่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากและเพียงพอ จึงจะสามารถวินิจฉัยหรือตัดสินได้อย่างแม่นยำ 2. ทำงานแทนคำพูดของมนุษย์ รูปแบบการทำงานเพื่อโต้ตอบกับมนุษย์ เช่น ระบบตอบรับอัตโนมัติหรือแชทบอท (Chatbot) ที่สามารถตอบโต้เพื่อให้ข้อมูลกับมนุษย์คู่สนทนา แต่สามารถให้ข้อมูลที่ได้รับการบันทึกไว้เท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ไม่เคยถูกบันทึกหรือซับซ้อนได้ 3. ทำงานแทนการกระทำของมนุษย์ รูปแบบการทำงานเพื่อทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์หรือแขนกลในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อคัดแยกส่วนที่เน่าเสียหายหรือไม่ผ่านมาตรฐานในอุตสาหกรรมการเกษตร ตามข้อมูลที่มนุษย์ได้บันทึกไว้ หรือแขนกลเพื่อช่วยเหลือการผ่าตัดของศัลยแพทย์ในบางส่วน แต่ยังไม่สามารถทำการผ่าตัดแทนศัลยแพทย์ได้ทั้งหมด

“แม้ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้ามาทดแทนในส่วนงานที่ไม่ซับซ้อนหรือส่วนงานที่ใช้เพียงทักษะพื้นฐานเท่านั้น แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี ส่งผลในอนาคตปัญญาประดิษฐ์สามารถพัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนการทำงานที่ซับซ้อนของมนุษย์ได้ แรงงานมนุษย์จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งทักษะเฉพาะด้านและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้สอดคล้องไปกับความต้องการของตลอดแรงงานในอนาคต” ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

Advertisement

ด้าน รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเสริมว่า การเติบโตของหุ่นยนต์เอไอ ถือเป็นเครื่องสะท้อนความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเด่นชัด จากการเข้ามามีบทบาทด้านการประหยัดเวลา และลดการใช้แรงงานมนุษย์ได้หลายเท่าตัว อาทิ การประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ และการไถพรวนดินในนาข้าว จึงเป็นสิ่งที่สังคมไม่อาจปิดกั้นการใช้หุ่นยนต์เอไอทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้ แต่ทั้งนี้ หุ่นยนต์ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเรื่องของจิตใจและความจริงใจ ที่เป็นหัวใจสำคัญของงานบริการ ที่ต้องใช้ความจริงใจในการสื่อสารกับผู้รับบริการ รวมถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องอาศัยทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ของมนุษย์เป็นพื้นฐาน ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหุ่นยนต์เอไอ อาจเข้ามามีบทบาทที่ใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น ในมิติของการทำงานร่วมกันแบบพาร์ตเนอร์ (Partner) ที่มีส่วนช่วยให้การค้นคว้าวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

(ภาพ-vincenthk)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image