พลิกวิกฤตแล้งทำนากบเงินสะพัดหมู่บ้าน 10 ล้าน/ปี

วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครพนม ในช่วงฤดูแล้งปีนี้แม้จะมีพายุฝนฤดูร้อนตกลงมาต่อเนื่อง แต่ยังมีหลายพื้นที่จะประสบปัญหาจากภาวะภัยแล้ง ขาดน้ำในการทำการเกษตร แต่ชาวบ้านหนองแต้ และชาวบ้านนาขาม ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส นำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำนากบมาสร้างรายได้หน้าแล้ง ด้วยการปรับพื้นที่นา นำตาข่ายเขียวมาขึงเป็นคอกเลี้ยงกบ ขายลูกอ๊อด เนื่องจากมองว่า ลูกอ๊อด เป็นที่ต้องการของตลาดสูง และหายาก โดยได้เริ่มจากการเลี้ยงตามภูมิปัญญาชาวบ้านลองผิดลองถูกมานานหลายปี จนกระทั่งเกิดความชำนาญ กลายเป็นอาชีพที่มีผลผลิตสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี จนทำให้หมู่บ้านเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า หมู่บ้านเลี้ยงกบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแห่งเดียวของนครพนม ซึ่งในแต่ละปีจะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า เดินทางมารับซื้อลูกอ๊อด ช่วงหน้าแล้ง ไปส่งขายออกสู่ตลาดทั่วภาคอีสานปีละหลาย 10 ตัน สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดปีละกว่า 10 ล้านบาททีเดียว

โดยอาชีพทำนากบ จะเริ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะใช้พื้นที่นาว่าง นำตาข่ายเขียวมาขึงเป็นบ่อเลี้ยงกบ จากนั้นจะนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบที่เลี้ยงไว้ ไปปล่อยให้กบออกไข่ เพราะพันธุ์เป็นลูกอ๊อด แล้วใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 20 วัน เพื่อขายลูกอ๊อดในราคาส่ง กิโลกรัมละ 150-200 บาท โดยจะมีพ่อค้า แม่ค้า ทั่วภาคอีสาน มารับซื้อไปขายตามตลาด มีราคาขายตามท้องตลาดประมาณ 250-300 บาท ให้ลูกค้าที่นิยมรับประทาน ซื้อไปประกอบอาหาร แกง หมก อ่อม ตามความชอบ ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะเป็นช่วงสุดท้ายที่เกษตรกรจะเร่งขาย ก่อนใช้พื้นที่นาทำนาปีตามปกติ ที่สำคัญถือเป็นอาชีพที่ใช้ต้นทุนต่ำ และดูแลง่าย ใช้น้ำน้อยในการเลี้ยง รวมถึงไม่มีคู่แข่งทางการตลาด ทำให้สามารถส่งขายได้ไม่อั้น มีตลาดรองรับตลอด

นายสมชัย วงษ์สุข อายุ 58 ปี เกษตรกรชาวบ้านหนองแต้ ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม ซึ่งถือเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่นำร่องบุกเบิกทำอาชีพนากบมานานกว่า 10 ปี จากการลองผิดลองถูกด้วยการเลี้ยงแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จนประสบความสำเร็จสามารถมีผลผลิตลูกกบขายส่งทั่วภาคอีสานตลอดปี แบบครบวงจร โดยได้เล่าถึงที่มาของอาชีพทำนาเลี้ยงกบว่า เดิมชาวบ้านหนองแต่ ทำไร่ทำนา พอหมดฤดูนาปี ถึงหน้าแล้งส่วนใหญ่จะไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัด หารายได้เสริม เพราะไม่มีงานทำ ทำการเกษตรไม่ได้ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอ ทำให้ตนเกิดความคิดหาวิธีเลี้ยงกบขาย เพราะมองว่ากบน่าจะหายากในช่วงหน้าแล้ง บวกกับลูกอ๊อดเป็นที่ต้องการของตลาดสูง หาตามธรรมชาติยาก จึงนำมาทดลองเลี้ยง แบบลองผิดลองถูก ด้วยการนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาขยาย ใช้เวลา 2-3 ปี จึงประสบความสำเร็จ สามารถขายได้ทั้งลูกอ๊อด รวมถึงกบที่โตแล้ว และมีตลาดรองรับตลอด จึงแนะนำส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงมาต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันในหมู่บ้านมีคนยึดอาชีพนากบเกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 100 ครอบครัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image