4สะพานข้ามเจ้าพระยา คนกรุงได้ประโยชน์จริงหรือ?

ตามที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนสร้างโครงข่ายถนนเชื่อมระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี เพื่อแก้ไข้ปัญหาการจราจรในพื้นที่นั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ขณะนี้ กทม.มีแผนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่

1.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย รองรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นโครงข่ายหลักทางฝั่งตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่ช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรบริเวณสะพานพระราม 7 และสะพานกรุงธนบุรี สำหรับรูปแบบเป็นสะพานขนาด 6 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 5.8 กิโลเมตร (กม.)

2.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง เชื่อมระหว่างถนนราชวงศ์ฝั่งพระนครกับถนนท่าดินแดงฝั่งธนบุรี โดยเป็นสะพานขนาดเล็กขนาด 2 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 480 เมตร

3.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม เชื่อมต่อระหว่างถนนลาดหญ้าฝั่งธนบุรี กับถนนมหาพฤฒารามฝั่งพระนคร ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด บริเวณสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน สะพานพระปกเกล้า
เพิ่มทางเลือกโครงข่ายสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ชั้นใน รูปแบบสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 1.34 กม.

Advertisement

4.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร เชื่อมระหว่างถนนเจริญนครฝั่งธนบุรีกับถนนจันทน์ฝั่งพระนคร ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด บริเวณสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน สะพานกรุงเทพ และสะพานพระราม 3 รูปแบบสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 1.4 กม.

สำหรับโครงการแรกที่จะดำเนินการคือ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ซึ่งล่าสุด สำนักการโยธา กทม.ยืนยันว่าได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2562 แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง จำนวน 4,500 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 6,000 ล้านบาท ส่วนอีก 3 โครงการที่เหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากเป็นโครงการที่ยังไม่ถูกบรรจุไว้ใน “ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร” อีกทั้งบางโครงการยังต้องปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่

ดังเช่น โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม ที่ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อศึกษาและจัดทำอีไอเอ อีกทั้ง สำนักการโยธา กทม.ได้พิจารณาปรับรูปแบบทางขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนลาดหญ้า เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างให้น้อยลง ซึ่งหมายถึง จะลดพื้นที่เวนคืนที่ดินจากประชาชน และประหยัดงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งปรับรูปแบบโครงการเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างสถานีบริเวณโรงพยาบาล (รพ.) ตากสิน ใกล้กับทางขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้านถนนลาดหญ้าด้วย

Advertisement

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงสำรวจพื้นที่โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม เมื่อสัปดาห์ก่อน ว่า โครงการดังกล่าวจะเชื่อมต่อระหว่างถนนลาดหญ้าฝั่งธนบุรีกับถนนมหาพฤฒารามฝั่งพระนคร เพิ่มทางเลือกโครงข่ายสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน โดยเฉพาะเขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ และเขตคลองสาน ซึ่งปัจจุบันบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ สะพานพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า และสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (สะพานสาทร) แต่ไม่เพียงต่อกับปริมาณรถที่เข้าออกเมือง

“จากผลการสำรวจที่ผ่านมา พบว่าบริเวณสะพานทั้ง 3 แห่ง มีปริมาณรถที่สัญจรไปมาประมาณ 300,000 คันต่อวัน หรือในชั่วโมงเร่งด่วนประมาณ 22,000 คันต่อชั่วโมง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณถนนที่เชื่อมต่อกับสะพานทั้ง 3 แห่ง ในพื้นที่ฝั่งพระนคร ได้แก่ ถนนตรีเพชร ถนนจักรเพชร ถนนเจริญกรุง ถนนสีลม ถนนสาทร ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ได้แก่ ถนนเทอดไท ถนนอิสรภาพ ถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนคร ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และถนนสมเด็จเจ้าพระยา” นายจักกพันธุ์กล่าว และว่า หากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม แล้วเสร็จ จะเป็นการเติมเต็มโครงข่ายถนนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนชั้นใน ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น และช่วยกระจายการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน และบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กทม.ระบุว่า โครงข่ายถนนนี้ สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ยุทธศาสตร์ “มหานครสีเขียว สะดวกสบาย” ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เชื่อมโยงโครงข่ายถนน เพิ่มประสิทธิภาพการจราจรให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

แต่ปัญหาคือ ทุกครั้งที่ กทม.มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ สิ่งที่จะตามมาคือ เสียงคัดค้านของชาวชุมชน ที่ต่างวิตกกังวลว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งกรณีการถูกเวนคืนที่ดิน กรณีการสูญหายของวัฒนธรรมดั้งเดิมในชุมชน หรือแม้แต่ปัญหาใหม่ๆ ที่ยังมองไม่เห็น

ขณะนี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ แม้ในอีก 3 สะพาน ที่โครงการของ กทม.ยังเป็นแค่แผนงานในกระดาษ แต่ก็เริ่มมีหลายชุมชนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ หนึ่งในนั้น คือ โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง ที่ชาวชุมชนสำเพ็ง ชุมชนเยาวราช ชุมชนท่าราชวงศ์ ชุมชนทรงวาด และชุมชนอนุวงศ์ รวมตัวกันติดป้ายคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากเกรงว่าสะพานข้ามแม่น้ำจะทำลายวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม และเชื่อว่านอกจากสะพานไม่สามารถแก้ปัญหาจราจรทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีได้แล้ว การก่อสร้างสะพานอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพค้าขาย เพราะแนวสะพานจะกินพื้นที่ถนน ทำให้พื้นที่แคบลงไปอีก

เกี่ยวกับข้อวิตกกังวลนี้ นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักงานออกแบบ สำนักการโยธา กทม.ได้ชี้แจงว่า สำหรับโครงการนี้ ยืนยันว่า กทม.ไม่มีการเวนคืนที่ดินประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแน่นอน เพราะเป็นโครงการที่สร้างในแนวถนนเดิมทั้งหมด และขณะนี้อยู่ระหว่างปรับรูปแบบให้กระทบความรู้สึกวิตกกังวลของประชาชนในชุมชนให้น้อยที่สุด

“ที่ชาวชุมชนวิตกกังวลว่าเมื่อมีสะพานแล้วรถจะมากขึ้น ทำให้ค้าขายลำบาก ถ้าดูจากสภาพพื้นที่จริงวันนี้ บริเวณดังกล่าวเป็นถนนตัน คือ ชนกับท่าน้ำ ไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆ แต่หาก กทม.ได้ติดตั้งสะพานข้ามแม่น้ำ จะช่วยให้คนกรุงเทพฯ ได้มีโครงข่ายถนนเพิ่มขึ้น ช่วยระบายรถทั้งขาเข้าและขาออกเมืองได้ดีขึ้น สภาพแวดล้อมของพื้นที่ก็จะดีขึ้น เพราะมีการปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่ตามด้วย” นายธวัชชัยกล่าว

แนวทางนี้ คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ก็จริง แต่เสียงส่วนน้อยก็ต้องฟังไว้บ้างเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image