ทางคนทางข่าว : มาเลเซียได้นายกฯคนใหม่ แล้วนโยบาย ‘ไฟใต้’ จะเป็นอย่างไร : โดย นายอุตสาหะ

•…“งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา” วลีนี้เหมาะที่สุดสำหรับ นาจิบ ราซัก ผู้นำพรรคอัมโน วัย 64 ที่ใช้อำนาจผ่านมือไม้ของรัฐทุกอย่างในการชิงความได้เปรียบสู้กับ “ปู่มหาธีร์” หรือ มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังเตะปี๊บดังในวัย 92 สุดท้ายแนวร่วมแห่งชาติหรือบีเอ็น ภายใต้การนำของ นาจิบ ราซัก ก็พ่ายลงอย่างราบคาบ หลังปิดคูหาเลือกตั้งเมื่อ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นการรูดม่านลงของพรรคอัมโนที่ครั้งหนึ่งปู่มหาธีร์เคยร่วมลงเสาเอก สมัยเรืองอำนาจนั่งเก้าอี้นายกฯ มายาวนานถึง 22 ปี โดยพรรคอัมโนครองเป็นรัฐบาลมานานถึง 60 ปี ก็ถูก “ปู่มหาธีร์” คนเดียวกันถอนเสาเอกทิ้งจนล้มครืน…• นี่คือกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้านที่มีผืนแผ่นดินติดกันตั้งแต่สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส รวมระยะทางเขตแดน 506 กิโลเมตร โดยสตูลจะมีแนวรั้วคอนกรีตคอยกั้นแบ่ง แต่พื้นที่อื่นๆ อาศัยทิวเขาสันกาลาคีรีและแม่น้ำโก-ลกแบ่งเขตแดนไว้…• เมื่อกล่าวถึงปมปัญหาชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียที่ต้องเผชิญร่วมกัน ทั้งการลักลอบขนของหนีภาษี ปัญหาประมง การเป็นเส้นทางของกลุ่มค้ามนุษย์ ที่เปราะบางที่สุดก็คือการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ “คนสองสัญชาติ”…• หากเรียงติ้วปฐมบทของความรุนแรง “ไฟใต้” รอบใหม่ที่ปะทุเริ่มขึ้นในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ ระหว่างปี 2544-2549 เป็นช่วงเดียวกับ “ปู่มหาธีร์” นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างยาวนานระหว่างปี 2524-2546 ต่อด้วยรัฐบาล อับดุลละฮ์ อะฮ์มัด บาดาวี ครองอำนาจต่อ ระหว่างปี 2546-2552 ตรงกับช่วงนายกฯ ของไทย ทักษิณ ชินวัตร-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์-สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมาถึงสมัย นาจิบ ราซัก บริหารประเทศมาเลเซียระหว่างปี 2552-2561 ตรงกับรัฐบาล “อภิสิทธิ์-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”…• การเจรจาร่วมกันของสองรัฐบาลเกี่ยวกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาโดยตลอด ยกเว้นแต่ช่วงสมัยรัฐบาลสั้นๆ อย่าง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นเป็นนายกฯ เมื่อ 18 ก.ย. 2551 ยังไม่ทันพิมพ์นามบัตร นั่งได้เพียงประมาณ 90 วัน เท่านั้นก็ต้องด่วนไป…• ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่างกันเองระหว่าง “เชื้อชาติ-ภาษา-ศาสนา” ถูกหยิบยกไปเป็นประเด็นการสร้างความแตกแยกหลายครั้ง ขณะที่รัฐบาลตั้งแต่สมัย “ทักษิณ” เป็นต้นมา มุ่งหาทางเพื่อปิดช่องว่างเหล่านี้ โดยเฉพาะร่วมหารือกับ “ปู่มหาธีร์” นายกฯมาเลเซีย เวลานั้น…• ย้อนไป 28 ก.พ.2556 เป็นอีกครั้งของการร่วมมือกันในรัฐบาลนาจิบจับเข่าคุยกับกลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นให้หันมาร่วมลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ ก่อนมีการแถลงร่วมระหว่างนาจิบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯของไทย ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ลงนามกับ ฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และมีฝ่ายความมั่นคงมาเลเซียเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก”...• นาจิบกล่าวชัดถ้อยชัดคำมากว่า “การหาความเห็นร่วมกันที่จะเกิดขึ้นนี้ เพื่อนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพอันยุติความรุนแรงและเกิดสันติภาพที่แท้จริงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนการพูดคุย พร้อมจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้”…• อย่าลืมว่า ช่วงนั้นเป้าหมายของชาติอาเซียน ในนาม “เออีซี” หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมประชากรกว่า 500 ล้านคน จะต้องเกิดความร่วมมือทั้งการค้า การลงทุน และอื่นๆ รวมถึงความสะดวกสบายของเส้นทางเชื่อมชายแดน ที่ต้องลดการก่อเหตุของความไม่สงบลงด้วย…• ต่อมาในช่วงรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์” เปิดทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 9 ก.ย.2559 ต้อนรับการมาของนาจิบและภริยา ที่ขณะนั้น พล.อ.อักษรา เกิดผล ปัจจุบันเป็น “ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ยังเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมให้การต้อนรับและอยู่ในวงสนทนาด้วย…• นาจิบไล่แจกยาหอมถ้วนหน้า ยินดีที่จะดำเนินบทบาทของผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติสุข เข้าใจสถานการณ์ชายแดนใต้เป็นเรื่องภายใน พร้อมทำตามที่รัฐบาลไทยกำหนด ก่อนกล่าวรับรู้กันว่า “ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้ใช้ไทยและมาเลเซียเป็นแหล่งพักพิงและใช้ในการเคลื่อนไหว”…• นาจิบยังกล่าวถึงการเห็นชอบร่วมในการสร้างรั้วกำแพงตามแนวชายแดนด้วยกัน รวมพูดถึงการพิสูจน์บุคคล 2 สัญชาติ ที่ต้องสร้างฐานข้อมูลร่วมกัน โดยใช้ “ไบโอแมทริกซ์” (biometrics) ที่นาจิบเคยกล่าวไว้เช่นเดียวกันในการพูดคุยกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ ธ.ค.2552 ก่อนที่อภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องสะสางให้จบ เพราะยังมีความร่วมมือหลายอย่างที่ค้างอยู่ เราก็ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีหน้าทุกอย่างต้องจบ คิดว่ามีความเป็นไปได้”…• แต่การดับ “ไฟใต้” บนโต๊ะเจรจา และเรื่องบุคคล 2 สัญชาติ ไม่จบลงง่ายๆ เพราะก่อนการเลือกตั้งของมาเลเซียเมื่อ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาไม่กี่วัน ทางการมาเลเซียได้ผลักดันบุคคล 2 สัญชาติที่พิสูจน์ว่าเป็น “คนไทย” กว่า 200 คน ให้เดินทางกลับเข้ามาทางชายแดนฝั่งสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส หลังมีการร้องเรียนจากพรรคการเมืองอีกฝ่าย พบการจ้างคนเหล่านี้หัวละ 200 ริงกิต ให้เตรียมไปลงคะแนนเสียงช่วยผู้สมัครรายหนึ่งในรัฐกลันตัน แต่ก็เป็นแค่ผลักดันเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้กฎหมาย การยกเลิกบุคคล 2 สัญชาติ จึงไม่เกิดขึ้น…• การ “คัมแบ๊ก” ของ “ปู่มหาธีร์” ปัญหาชายแดนภาคใต้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ่งที่นาจิบเคยย้ำกับนายกรัฐมนตรีของไทยถึง 3 คน ยังดำเนินต่อไปภายใต้การสนับสนุนของปู่มหาธีร์หรือไม่ หรือปู่มหาธีร์จะมีมาตรการเข้มข้นต่อการจัดการปัญหามากมายเหล่านี้…• หากมีการอ่านและเรียบเรียงบทบาทของปู่มหาธีร์ต่อปัญหา “ไฟใต้” ตั้งแต่เป็นนายกฯพูดคุยกับ ทักษิณ ชินวัตร จนเป็นผู้ให้ความเห็นในระยะหลัง จะพบว่ามาเลเซียไม่เคยปัดความรู้สึกของรัฐบาลไทยที่ต้องการแก้ปัญหานี้ให้จบลง มาเลเซียเองก็ได้รับผลกระทบพอสมควรดังที่กล่าวมาพอสังเขป…• กับการรับรู้ของปู่มหาธีร์กับนาจิบไม่ต่างกันตรงที่รู้ว่า ไทยไม่ต้องการเปิดช่องเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน และก็ยังเข้าใจว่า มีแกนนำก่อการร้ายในอดีตบางคนไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่อยากให้รัฐบาลไทยยอมรับและร่วมกันรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ทั้งศาสนา วัฒนธรรมและภาษาของพวกเขา ในฐานะพลเมืองไทยเฉกเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีพวกเห็นต่างบางกลุ่มหรือกลุ่มอิทธิพลทำตัวเป็นพวก “เดนมนุษย์” ฉวยโอกาสไปต่อรองและสร้างความวุ่นวายขึ้นมา โดยไม่สนว่าจะมีคนล้มเจ็บล้มตายกันขนาดไหน…• ขอจบที่ประโยค “ปู่มหาธีร์” คนที่กำลังจะเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 7 เคยกล่าวไว้ว่า “หากผมสามารถช่วยสร้างสันติสุขให้เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และผมก็เต็มใจอย่างมากด้วยที่จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้น”

นายอุตสาหะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image