ดีเดย์15พ.ค.’กสทช.-อย.’ลุยเอาผิดโฆษณาผิดกม.บนสื่อออนไลน์(มีคลิป)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังเชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) จำนวน 20 ราย และภก.ประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าหารือแนวทางในการระงับโฆษณาที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย และโฆษณาเกินจริงผ่านเว็บไซต์ว่า ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีความร่วมมือเพิ่มเติม ในการตรวจสอบเนื้อหารายการและโฆษณาที่ผิดกฎหมาย โดยเมื่อคณะทำงาน ร่วมตรวจพบจะส่ง URL ของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ให้ สำนักงาน กสทช. เพื่อแจ้งไอเอสพี ให้นำเนื้อหารายการหรือโฆษณาที่ผิดกฎหมายลงจากอินเตอร์เน็ต

นายฐากร กล่าวว่า การดำเนินการร่วมกัน ระหว่าง กสทช. และ อย. ที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหารายการของ สำนักงาน กสทช. มีการสั่งระงับเนื้อหารายการและโฆษณาที่ไม่เหมาะสม ระหว่างวันที่ 4- 9 พฤษภาคม 2561 ในทีวีดิจิทัล 3 ช่อง ได้แก่ ช่องสปริงนิวส์, ช่อง 8 และช่องไบรท์ทีวี จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โกตุ โกล่าคริสตัลเฮิร์บ, ถั่งเช่าสกัดผสมเห็ดหลินจือสกัด พลัส ตรา ซีเนเจอร์,เอส.โอ.เอ็ม. ซีแมคซ์ (ผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง, Magique gravitas treatment, Ricapil rapid และไวต้า-พลัส ในช่องดาวเทียม 12 ช่อง ได้แก่ ช่อง ATTV, ช่อง Mix Major Channel, ช่อง MIRROR Channel, ช่อง JKN DRAMAX, ช่อง KM Channel, ช่อง Hit Station, ช่อง Fan TV, ช่องทีวีบ้านบ้าน, ช่องอีสานทีวี, ช่อง Movie Hits, ช่องทริปเปิ้ลเอ ทีวี และช่อง Unity TV จำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ดับเบิ้ล แม็กซ์, ไบโอวัน, ลูทินาร์, คลอดี้ พลัส, ST DBM Active serum, Lamucare, คอร์ดี้พลัส, หลินจือโกะ, ชาเทวัญ, น้ำชาปรุงสำเร็จ รสวินิก้า ผสมน้ำผึ้ง และเห็ดหลินจือ ชนิดเข้มข้น (ตรา มาดี้ คอมบูชา), แอล-ซี พลัส และเคลียร์วิส

Advertisement

นายฐากร กล่าวว่า ผู้ให้บริการไอเอสพี ยินดีให้ความร่วมมือกับ กสทช. โดยหลังจาก อย.ตรวจพบโฆษณาที่มีเนื้อหาเกินจริง จะส่งรายชื่อให้กับ กสทช. หลังจากนั้น กสทช.จะประสานงานกับผู้ให้บริการไอเอสพี เพื่อระงับโฆษณาดังกล่าวภายใน 2-3 วัน ทั้งนี้หลังจากได้รับหนังสือคำสั่งจาก กสทช. หากผู้ให้บริการไอเอสพี ไม่ให้ความร่วมมือ จะมีโทษทางปกครองคือ ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท และจำคุกไม่เกิน 1 ปี

“การประชุมครั้งนี้ เพื่อประสานความร่วมมือในการทำงาน โดยขั้นตอนการปิดกั้นโฆษณาเกินจริงหรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายที่ออกอากาศบนสื่อออนไลน์นั้นเดิมใช้ระยะเวลา 4-5 เดือน แต่หลังจากนี้จะใช้ระยะเวลาเพียง 2-3 วัน ในการปิดกั้นโฆษณาที่ผิดกฎหมาย” นายฐากร กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ อย. ระบุว่า โฆษณาที่ได้ระงับการออกอากาศก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการขออนุญาต และมีเลขจดทะเบียน อย. เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมถูกต้อง แต่กลับมีถ้อยคำโฆษณาที่กล่าวอ้างว่ามีสรรพคุณบรรเทาหรือรักษาโรคได้ ทำให้เป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไม่ใช่ยา นอกจากนี้ในวันที่15 พฤษภาคม 2561 สำนักงาน กสทช. และ อย. จะแถลงข่าวร่วมกันในประเด็น ผลการดำเนินงานระงับการออกอากาศของโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2561-14 พฤษภาคม 2561 ว่า ดำเนินการปิดกั้นไปแล้วทั้งหมดเท่าใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image