‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์-ธงทอง’ ทอดน่องจุฑาธุชราชฐาน วังบนเกาะแห่งเดียวในไทย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคม ที่พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง มีการถ่ายทอดสดรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน เกาะสีชัง มีพระราชวัง ร.5 บนเส้นทางการค้าโลกยุคทวารวดี โดยมีวิทยากรกิตติมศักดิ์ คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ราชสำนัก ดำเนินรายการโดยนายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชนจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนเคยมายังเกาะสีชังตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กโดยเดินทางมากับพ่อตั้งแต่ราว พ.ศ.2499 ใช้ถนนสุขุมวิทเลียบคลอง แวะที่แปดริ้วก่อน ไหว้หลวงพ่อโสธรแล้วจึงเข้าบางแสน ศรีราชา และเกาะสีชัง

“บางแสนในยุคนั้นสองข้างทางยังเต็มไปด้วยต้นมะพร้าว ต่อมา เมื่ออยู่ในวัยทำงานก็ยังมาเที่ยวแถบบางแสน หนองมน เป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นช่วงวันหยุดตั้งแต่เย็นวันศุกร์ ค้างคืนถึงวันเสาร์ หรืออาทิตย์”

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่บนเส้นทางการค้าโลกระหว่างอินเดียกับจีน ตั้งแต่ พ.ศ.500 ชุมชนชาวน้ำในอ่าวไทยราว 2,500 ปีมาแล้ว มีคนอยู่ในพื้นที่จังชลบุรีแล้ว ปรากฏหลักฐานที่โคกพนมดี อ.พนัสนิคมเป็นชุมชนใหญ่ พบโครงกระดูกจำนวนมาก เป็นกลุ่มคนอยู่บนที่ดอน แต่หากินทางทะเล เพราะพบหัวหน้าเผ่าเป็นหญิง มีลูกปัดหอยเป็นแสนเม็ดในหลุมขุดค้น อ่าวไทยยุคแรกการค้าโลก คือยุคทวารวดี ราวพศ. 1000 ตอนนี้นกรุงเทพฯ ยังอยู่บนทะเลโคลน ดินแดนภายใน เช่น สุพรรณบุรี อู่ทอง นครปฐม ติดต่อกันผ่านแม่น้ำ พื้นที่อำเภอพนัสนิคมพัฒนาเป็นบ้านเมือง เช่น เมืองพระรถ เป็นพวกพูดภาษาตระกูลมอญ- เขมร และพวกพูดภาษาตระกูลชวา-มลายู กระจายรอบอ่าวไทย ต่อมา พ.ศ. 1800 -1900 จีนออกมาค้าขายทางเรือสำเภา หนุนสุพรรณบุรี กับเพชรบุรีให้ยึดอยุธยา เพราะต้องการคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทร อยุธยากลายเป็นรัฐพูดภาษาไทย อยู่ภายใต้อุปถัมภ์จากจีน

Advertisement

“หลัง พ.ศ. 1500 บ้านเมืองเล็กๆรอบอ่าวไทยเติบโตขึ้น ไตรภูมิพระร่วงมีการกล่าวถึงเกาะสีชัง ซึ่งเป็นหลักหมายแรกของคนเดินเรือ อยู่บนเส้นทางเดินเรือ โดยอยุธยาอยู่ทางทิศเหนือ ใครจะไปจีน ไปใต้ ไปมลายู ต้องมาเกาะสีชังก่อนวรรณคดีเรื่องกำสรวลสมุทร หรือกำสรวลศรีปราชญ์ มีโคลง 2 บทหนึ่งกล่าวถึงเขาสามมุก อีกบทกล่าวถึงเกาะ ‘สรชัง’ นี่คือ ชื่อเดิมของเกาะสีชัง สรชัง แปลว่า ภาชนะอย่างหนึ่ง สอดคล้องกับชื่อเกาะอื่นๆใต้เกาะสีชัง ซึ่งมีเกาะครก เกาะสาก ส่วนมาเพี้ยนเป็นสีชังเมื่อไหร่ ก็น่าศึกษา ส่วนชื่อพัทยา ไม่ได้เพี้ยนจากทัพพระยา เพราะเป็นชื่อลมมรสุม คือ ลมพัทยา นอกจากนี้ยังเป็นชื่อส่วย เรียก ส่วยพัทยา” นายสุจิตต์กล่าว และว่า วรรณคดีเรื่องกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งปรากฏชื่อเกาะสรชังหรือสีชังนั้น ศรีปราชญ์ไม่ได้แต่ง เพราะไม่มีตัวตนจริง มจ. จันทร์จิรายุ รัชนีหรือ “ท่านจันทร์” รับสั่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ว่า เรื่องนี้เป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบรมราชาที่ 3 นายขรรค์ชัย ทราบเรื่องนี้ดี เพราะมีโอกาสได้พูดคุยและเขียนกลอนกับท่านจันทร์เป็นประจำ

นายสุจิตต์ ยังโชว์แผนที่แสดงเส้นทางการค้าสำเภาทางทะเลจากจีนไปยังปากน้ำต่าง ๆ เช่น เขาอี้ซาน คือ ยี่สาร ในจังหวัดสมุทรสงคราม แปลว่า เขาลูกโดด มีนิทานพ่อปู่ศรีราชามาค้าสำเภา สร้างบ้านเรือนที่ยี่สาร อีกทั้งมีนิทานเกี่ยวกับเขาเจ้าลาย ตั้งเพชรบุรีถึงประจวบคีรีขันธ์ซึ่งบอกความสัมพันธ์สองฟากอ่าวไทยว่าไปมาหาสู่กันแต่โบราณ

Advertisement

“คนไทยไม่ใช่พวกออกทะเล แต่เป็นพวกแม่น้ำลำคลอง กลุ่มออกทะเลคือพวกมลายู พื้นที่ชายทะเลเต็มไปด้วยโจรสลัด เกาะสีชังเป็นศูนย์กลางการเดิทางเลียบอ่าวไทยไปหาฝั่งตะวันตก เส้นทางพระเจ้าตาก ก็ผ่านเกาะสีชัง พระองค์ทรงแวะไหมไม่ทราบ ไม่มีหลักฐานเอกสาร แต่แวะเมืองชล นอกจากนี้ ชื่อศรีราชายังเป็นชื่อบ้านนามเมืองของชลบุรีที่สำคัญมาก แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเต็มที่ นิราศเมืองแกลงปรากฏชื่อ ‘ศรีมหาราชา’ ดังนั้น ชื่อศรีราชาน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ถามว่ามาจากไหน ? 1. มีชื่อเมืองแพรกศรีราชา เป็นตำแหน่งเจ้าเมืองรอบอ่าวไทย 2. นามศรีราชาเมตไตรยะ มีปรากฏ ในจารึก ดังนั้น ชื่อนี้จึงสำคัญ” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า บนเกาะสีชัง มีศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ซึ่งเป็นศาลเจ้าจีน ชี้ให้เห็นการมาถึงและมีอยู่ของชุมชนชาวจีน สำหรับคนพูดภาษาตระกูลไทยลาวเดินทะเลไม่เป็น ออกปากน้ำเจอคลื่น เรือแทบล่ม แถมอาเจียน ประเด็นเรื่องการค้าทางทะเลเป็นสิ่งสำคัญ น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์ไทยไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควร

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า เป็นที่เล่าลือแต่โบราณว่าเกาะสีชังอากาศดีเหมาะแก่การพักผ่อน ซึ่งในตอนนั้นคนยังไม่รู้จักหัวหินและชะอำ แถบนี้มีชาวกรุงนิยมมาพัก มีคำที่สมัยก่อนเรียกว่า “อาไศรยสถาน” ใครจะมาอยู่ สามารถแจ้งราชการแล้วเข้าพักได้ เกาะสีชังเริ่มต้นอาไศรยสถานในราวพ.ศ.2430 กว่าๆ คือเมื่อ 130 ปีก่อน รัชกาลที่ 4 ยังทรงรู้จักคนแก่ ชื่อ “ยามเสม” อายุ 100 กว่าปี ทรงตั้งเป็น “ท้าวคีรีรักษา” ในยุคนั้ชาวบ้านทำไร่น้อยหน่าเลี้ยงชีพ
ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ซึ่งทรงรักมาก เกิดประชวรเมื่อมีพระชนมายุได้ 2-3 ชันษา ต้องทรงต้องเปลี่ยนอากาศ เกาะสีชังคือสถานที่ที่สะดวกที่สุด โดยประทับครั้งละหลายเดือน เสด็จราว 2-3 ปี ทรงพัฒนา
ความเจริญให้เกาะสีชัง เกิดสะพานอัษฎางค์และอาคารต่างๆ

“ร.5 ทรงพาเจ้านายหลายพระองค์และข้าราชการมาที่นี่ นอกจากนี้ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ยังประสูติที่นี่ ตอนนั้นพระราชวัง เพิ่งเริ่มสร้าง ยังไม่มีขื่อ ก็ตั้งชื่อให้สอดคล้องกัน สำหรับสะพานอัษฎางค์ คือสิ่งก่อสร้างแรกๆ แต่ก่อนลำบาก หอยบาด จำเป็นต้องสร้างสะพาน อย่างไรก็ตามสะพานที่เห็นอยู่นี้เพิ่งสร้างใหม่ 20 กว่าปีก่อนบนฐานตอม่อเดิม” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าว

จากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ได้เดินนำชมสถานที่ต่างๆภายในพระจุฑาธุชราชฐาน อาทิ
พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ ซึ่งมีผัง 8 เหลี่ยม สร้างจากไม้สัก รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นอาคารหลักของพระราชวัง โดยมีการบรรจุเหรียญ และหนังสือฝังในดินที่ก่อสร้างพระที่นั่งด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่พบ

“มีเหตุการณ์สำคัญในปี 2436 คือ รศ. 112 เกิดการกระทั่งกับฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองดินแดนฝั่งตะวันออก บุกปากน้ำเจ้าพระยา มีการสู้รบที่ป้อมพระจุลฯ การจะมาประทับแรมต่อที่นี่เริ่มไม่ปลอดภัย จึงโปรดให้รื้อไปปลูกใหม่เกิดเป็นพระที่นั่งวิมานเมฆในพระราชวังดุสิต” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าว

จากนั้น มุ่งสู่เรือนไม้ริมทะเล และ “บ่อมหาอโนดาต” ซึ่งเป็นบ่อน้ำจืดใหญ่ที่สุดในวัง มีการดาดปูนที่พื้น เนื่องจากสีชังเป็นเกาะ ปัญหาการบริหารจัดการคือน้ำจืดซึ่งต้องมีที่เก็บ ไม่ซึม ไม่รั่ว นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำที่ตั้งชื่อคล้องกัน เช่น เชิญสรวญ ชวนดู ชูจิตร เป็นต้น

ต่อมา ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ได้บรรยายถึงอาไศรยสถานในวังทั้ง 3 เรือน ได้แก่ เรือนวัฒนา เรือนผ่องศรี และเรือนอภิรมย์ รวมถึงวัดอัษฎางคนิมิต

“เรือนวัฒนาได้ชื่อจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ส่วนเรือนผ่องศรี
ตั้งชื่อตามพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ภายในมีพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ในอิริยาบทลำลอง สำหรับเรือนอภิรมย์ เป็นเรือนยาว ได้ชื่อจากพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เคยใข้เป็นโรงเรียนสอนเด็กในเกาะสีชัง ปัจจุบันมีนิทรรศการเล่าประวัติวังแห่งนี้ ที่นี่ยังมี
วัดอัษฎางคนิมิต อยู่บนเนินเขา สังคมไทย ใครอยู่ไหนต้องมีวัด แต่เดิมว่ากันว่าเลยพระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ออกไป มีวัดเล็กๆ พอเจ้านายเสด็จมาบ่อยๆ เริ่มมีข้อพิจารณาว่า วัดกับพระที่นั่ง ใกล้กันมากเกินไป ร .5 จึงทรงเดินสำรวจเอง เพื่อหาที่สร้างวัดใหม่ พบว่าบริเวณนั้นทิวทัศน์สวย จึงโปรดให้สร้าง”

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า วัดแห่งนี้ มีการออกแบบเอนกประสงค์ ชั้นล่างเป็นอุโบสถ ด้านบนเป็นเจดีย์ลังกา เสมาก็มีความแปลก เนื่องจากใช้ก้อนหินจารึกพระธรรม 8 ทิศรอบโบสถ์ นอกจากนี้มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีความสำคัญที่ได้หน่อจากเมืองคยา ขอเชิญชวนให้มาเวียนเทียนกันในวันวิสาขบูชา ซึ่งวัดแห่งนี้ทำประทีปเป็นรูปสิ่งของและเรือรบ เป็นต้น โดย ปัจจุบันยังสืบธรรมเนียมนี้อยู่ สำหรับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ก็มีการถวายบังคมพระบรมรูปด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าวปิดท้ายว่า ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจในรากเหง้าของตัวเอง ต้นไม้ถ้ามีรากแก้วจะ ยั่งยืนเติบโต แต่ถ้ามีแค่รากฝอย โดนลมก็ล้มได้ ประวัติศาสตร์ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันและอนาคต

การถ่ายทอดสดครั้งนี้สนับสนุนโดยสำนักศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image