เขื่อนคลองลาดพร้าว กทม.เข็นไม่ถึงครึ่งทาง

จากปัญหาบุกรุกแนวเขตคลองสาธารณะ สาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำท่วม เพราะไม่สามารถปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคูคลองได้ ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้รัฐบาลเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการสิ่งรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ พร้อมให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดหาที่พักอาศัยถาวรให้กับผู้บุกรุก จึงทำให้โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) และประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสองและคลองบางซื่อ จากบริเวณเขื่อนเดิมอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง ไปทางคลองประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งรัดของรัฐบาล

อัพเดตล่าสุด นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังลงพื้นที่โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.ลาดพร้าว ด้วยการนั่งเรือสำรวจ ตั้งแต่ท่าเรือวัดบางบัวจนถึงท่าเรือชุมชนร่วมใจพัฒนากลาง เขตบางเขน ร่วมหลายกิโลเมตร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าเนื้องานก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

1.ก่อสร้างเขื่อนความยาว 45.30 กิโลเมตร (กม.) กทม.ได้ว่าจ้าง บริษัท ริเวอร์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด ก่อสร้างเขื่อน จากข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม สามารถตอกเสาเข็มได้แล้ว 20,867 ต้น คิดเป็นระยะทางยาว 16 กม. จากจำนวนเสาเข็มที่ต้องตอก 60,400 ต้น 2.การทำความเข้าใจกับประชาชนบุกรุกแนวคลองสาธารณะ เพื่อรื้อย้ายผู้บุกรุกออกจากแนวเขตคลอง โดยชุมชนรุกล้ำในแนวก่อสร้างเขื่อน (ในแนวธงแดง) รวม 3,676 หลังคาเรือน มีประชาชนยินยอม 3,085 หลัง

Advertisement

ปัจจุบันได้รื้อย้ายแล้ว 1,154 หลัง ส่วนที่เหลือจำนวน 1,831 ยังไม่ได้รื้อย้าย เพราะรอแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งประชาชนประสงค์เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามโครงการบ้านมั่นคง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับผิดชอบจัดหาที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับชาวบ้านที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลอง ขณะนี้หน่วยงานกำลังดำเนินการตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ยังมีบ้านรุกล้ำอีก จำนวน 504 หลัง กระจายตามพื้นที่ 6 เขต ยังไม่ยินยอมรื้อย้ายบ้านเรือน ซึ่ง กทม.โดยผู้อำนวยการแต่ละเขต ร่วมกับ พม. และ พอช. พยายามลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับคนในชุมชนที่รุกล้ำคลอง รวมถึงสำนักการระบายน้ำร่วมลงพื้นที่เพื่อกำหนดแนวร่องน้ำที่จะก่อสร้างเขื่อนให้ประชาชนทราบ และที่เหลืออีก 87 หลัง ชุมชนก้าวหน้าเขตหลักสี่ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน

Advertisement

กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพยายามพูดคุยทำความเข้าใจกับบ้านเรือนที่ไม่ยินยอมรื้อย้าย 504 หลัง อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบจำนวนบ้านเรือนที่ไม่ยอมรื้อย้ายในอดีตกว่า 1,000 หลัง พบมีจำนวนลดลงมาก ฉะนั้น ในอนาคต กทม.มั่นใจว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงเพิ่มขึ้น หากหน่วยงานพยายามทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน นายจักกพันธุ์กล่าว และว่า ต้องยอมรับว่าผู้รับจ้างยังทำงานไม่เป็นไปตาม
แผนงาน โดยสำนักการระบายน้ำได้ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างแล้ว ความยาวประมาณ 20 กม. แต่สามารถดำเนินงานได้เพียง 16 กม.

การลงพื้นที่ทุกครั้งจึงมีวัตถุประสงค์สำคัญให้ผู้รับจ้างเร่งรัดดำเนินการพื้นที่ที่ กทม.ส่งมอบให้แล้วเสร็จรวดเร็วที่สุด ส่วนสาเหตุล่าช้านั้น ผู้รับจ้างแจ้งว่า ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม 20 ตัว มีบางตัวเกิดชำรุดเสียหายจากการตอกเสาเข็ม อีกทั้งเมื่อตรวจงานกลับพบเนื้องานบางจุดไม่เป็นไปตามสเปก จึงสั่งให้หยุดดำเนินการและแก้ไข ซึ่งการแก้ไขส่วนที่ดำเนินการไปแล้วนั้นค่อนข้างยาก

หน่วยงานจำเป็นเข้าใจชุมชนว่าเขาเหล่านี้
ได้อาศัยในพื้นที่มานานหลาย 10 ปี ไม่ใช่เพียง 1-2 ปี ดังนั้น การทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญ รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว
นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์กล่าวถึงการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลากำหนดว่า ต้องยอมรับว่าช่วงแรกที่ กทม.ได้เริ่มต้นลงนามสัญญาก่อสร้างนั้น เกิดปัญหาการทำความเข้าใจร่วมกับชุมชนทำให้การทำงานเกิดความล่าช้า ทั้งนี้ สัญญาก่อสร้างจะสิ้นสุดในปี 2562 กทม.คาดจะต้องขยายเวลาการก่อสร้างออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งต่อจากนี้ กทม.จำเป็นจำต้องเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำต้องรายงานผลความคืบหน้าก่อสร้างต่อรัฐบาลในทุกสัปดาห์ อาทิ ปัญหาอุปสรรค ความล่าช้าและแนวทางแก้ไข เพื่อให้โครงการสำเร็จ พร้อมเร่งรัดให้ กทม.ดำเนินการทำความเข้าใจ พูดคุยกับประชาชนต่อเนื่อง และเร่งรัดผู้รับจ้าง

ด้าน นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการเขตบางเขน กล่าวถึงการติดตามโครงการจากรัฐบาลว่า เนื่องจากเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกับชุมชน อาทิ วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างเขื่อน การยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ประโยชน์ที่จะได้รับ ฯลฯ อีกทั้งรัฐบาลยังได้มีการตรวจสอบควบคุมอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยมีหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามร่วมกับ
ผู้อำนวยการเขตทั้ง 8 เขตตามแนวก่อสร้าง

นอกเหนือจาก 3,676 หลังตามแนวก่อสร้างเขื่อน พอช.ได้จัดทำแผนการรื้อย้ายและการพัฒนาที่อยู่อาศัยตลอดแนวคลอง โดยมีรูปแบบดำเนินการคือ ก่อสร้างใหม่ในที่เดิมการขยับขึ้นจากคลองมาจัดระเบียบชุมชนใหม่ โดยมีคำสั่งให้กำหนดพื้นที่ก่อสร้างให้ใช้พื้นที่จากแนวเขื่อนเข้าไประยะ 12 เมตร

ดังนั้น เมื่อรื้อย้ายบ้านตามแนวก่อสร้างเขื่อนแล้ว ทั้งหมดจะย้ายไปอยู่แนวดังกล่าว ซึ่งเดิมมีบ้านเรือนประชาชนอยู่นอกแนวเขื่อน (นอกธงแดง) จำนวน 2,883 หลังคาเรือนจำเป็นต้องรื้อถอนด้วย เพื่อก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคง ส่วนนี้มีประชาชนยินยอม 2,061 หลัง ไม่ยินยอม 676 หลัง และไม่มีข้อมูลชัดเจนอีก 146 หลัง

รวมทั้งหมดจะมีบ้านทั้งในและนอกแนวเขื่อนก่อสร้างต้องรื้อย้ายทั้งหมด รวม 6,559 หลังคาเรือน คือข้อเท็จจริง…

 

นฤมล รัตนสุวรรณ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image