ออมสินสำรวจใช้จ่ายเปิดเทอมสะพัด 3.9 หมื่นล้าน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอม ปี 2561 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนฐานรากมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตร/หลาน ไม่เกิน 2 คน และอยู่ในระดับประถมศึกษามากที่สุด โดยภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอมคาดว่า จะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 39,700 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 8,640 บาท เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมกับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 64.4% มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ในขณะที่ 32.9% คาดว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเทอมปรับตัวสูงขึ้นตามระดับการศึกษาของบุตร/หลาน อีกทั้ง ค่าชุดนักเรียนและค่าอาหารมีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากรายได้ 57.2% เงินจากคนในครอบครัว 27.5% เงินสวัสดิการจากภาครัฐ 6.6% เงินออม 5.6% และเงินกู้ยืม/จำนำ ซึ่งมีทั้งเงินกู้นอกระบบและในระบบ 3.1%
นายชาติชาย กล่าวว่า เมื่อสำรวจค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ในช่วงเปิดเทอม พบว่า ค่าใช้จ่าย 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ คือ 1.ค่าชุดนักเรียน เครื่องแต่งกาย 84.1% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,670 บาท 2.ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษาอยู่ที่ 63.9% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 6,540 บาท 3.ค่าอุปกรณ์การเรียน 62.3% มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 990 บาท ทั้งนี้ในภาพรวมส่วนใหญ่ 61.7% ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมของบุตร/หลาน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความกังวล โดยมีความกังวลในเรื่องการจ่าย ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา ค่าชุดนักเรียน/เครื่องแต่งกาย ค่าตำราเรียน และอุปกรณ์การเรียน ตลอดจนการเรียนเสริมนอกเวลา ตามลำดับ
ลักษณะการจ่ายเงินให้บุตร/หลานไว้ใช้จ่ายช่วง เปิดเทอม พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 84.1% จ่ายเงินให้บุตรหลานเป็นลักษณะรายวันเฉลี่ย 75 บาทต่อวัน รายเดือน 7.9% เฉลี่ย 3,220 บาทต่อเดือน รายสัปดาห์ 7.5 % เฉลี่ย 1,035 บาทต่อสัปดาห์ และรายเทอม 0.6% เฉลี่ย 3,070 บาทต่อเทอม

“สิ่งที่ประชาชนฐานรากต้องการความช่วยเหลือ/สนับสนุนในช่วงเปิดเทอม พบว่า 3 อันดับแรก คือ ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา 32.4% รองลงมาคือ ทุนการศึกษา 26.3% และการได้รับโอกาสเรียนต่อ ในระดับที่สูงขึ้น 12% ” นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อใช้จ่าย ในช่วงเปิดเทอม พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 38.1% มีความต้องการสินเชื่อ โดยต้องการใช้สินเชื่อระยะยาวมากกว่า 1 ปี มากที่สุด 55 % และยังคงมีความต้องการใช้บริการผ่านช่องทางสาขามากที่สุด 81.3% สำหรับก่อนเปิดเทอมเป็นช่วงที่ผู้ปกครองต้องเตรียมเงิน เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายของบุตร/หลาน ทั้งนี้ผลสำรวจพบว่า ประชาชนฐานราก ส่วนใหญ่ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอมมากนัก โดยจะมีการจัดสรรค่าใช้จ่ายมาจากรายได้ของตนเอง และเงินจากคนในครอบครัวเป็นหลัก เพราะคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ และจะต้องมีการวางแผนด้านค่าใช้จ่ายล่วงหน้าสำหรับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนฐานรากบางส่วนยังคงมีความต้องการสินเชื่อระยะยาว เพื่อนำมาใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตร/หลาน ซึ่งธนาคารออมสินมีสินเชื่อ เพื่อนำไปใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนี้ คือ สินเชื่อธนาคารประชาชน กรณีบุคคลทั่วไป วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท/ราย และประชาชนฐานรากผู้ที่มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ราย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image