อินฟราฟัน : เปิดแผนแหลมฉบังเฟส 3 : นายขันตี

งวดเข้ามาทุกทีแล้วกับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ.2558-2565 และเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขั้นสูง และเชื่อมต่อการค้าการพาณิชย์อย่างต่อเนื่องด้วยเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่ครบวงจร

โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะผลักดันให้เป็นท่าเรือที่ล้ำสมัย ด้วยการพัฒนาระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบบเบ็ดเสร็จ (วันสต๊อบ อี-พอร์ต เซอร์วิส) และระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบบูรณาการ ควบคู่กับการพัฒนาเป็นท่าเรือสีเขียว ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการ สร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการแข่งขัน ดึงดูดความสนใจจากสายการเดินเรือชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก

สำหรับโครงการนี้มีพื้นที่รวมกว่า 1,600 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้าจำนวน 4 ท่า ความยาวรวม 4,420 เมตร และลานกองเก็บตู้สินค้าแอ่งจอดเรือลึก 18.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้ได้ถึง 7 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Domestic) 1 ท่า มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 1 ล้านทีอียูต่อปี และท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า รองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทรถยนต์ได้ 1 ล้านคันต่อปี รวมถึงรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟได้ 4 ล้านทีอียูต่อปี หรือคิดเป็น 30% ของการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมด

Advertisement

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติในรูปแบบพีพีพี รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนและผู้สนใจ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการออกแบบรายละเอียด และประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน แล้วถึงจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี ขนส่งรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี สัดส่วนสินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจาก 7% เพิ่มเป็น 30% ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศจาก 14% ของจีดีพี เหลือ 12% ของจีดีพี ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 2.5 แสนล้านบาทเลยทีเดียวนะครับ!!

นายขันตี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image