สถานีคิด : มองข้ามรั้ว โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข

ผลการเลือกตั้งมาเลเซีย เมื่อต้นเดือน พ.ค. ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับการเมืองประเทศไทย

ประเด็นสำคัญ ที่นักการเมือง นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวแล้ว ได้แก่ การให้ประชาชนตัดสินปัญหาด้วยวิธีการลงคะแนนเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งที่มีฝ่ายแพ้และชนะ บ่งบอกในตัวว่า ประชาชนอยากเห็นประเทศเดินไปทางไหน

หลังจากนี้ นายกฯใหม่ของมาเลเซีย คือ มหาธีร์ โมฮัมหมัด คงจะจัดการกับข้อครหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นของนายกฯคนก่อน

Advertisement

และเรื่องราวอื่นๆ ที่สัญญากับประชาชนมาเลเซียเอาไว้ในตอนเลือกตั้ง

รวมถึงการดำเนินการปล่อยตัว นายอันวาร์ อิบราฮิม ที่ติดคุกติดตะรางด้วยผลของการเมือง

ที่จริงเรื่องอย่างนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

แต่ในอาเซียนด้วยกัน แต่ละประเทศมีระบบการเมืองภายในที่แตกต่างกัน และต่างมีปัญหาของตัวเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย เป็นระบบการเมืองสากล ที่ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าไปหรือพูดให้ถูกคือย้อนกลับไป จึงเป็นที่กล่าวขวัญ ประกอบกับ นายมหาธีร์เอง เป็นผู้นำคนดังของอาเซียน และเป็นที่รู้จักในประเทศไทย

การคัมแบ๊กจึงเรียกความสนใจ และท่ามกลางกระแสการเมืองไทยๆ ที่กำลังเรียกร้อง “คนรุ่นใหม่” ผู้สมัครอายุ 92 ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกฯ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ทำเอาผู้อาวุโสในแวดวงการเมืองไทยพลอยคึกคักกระปรี้กระเปร่าไปด้วย

อย่างพรรค ปชป. ชื่อของ นายชวน หลีกภัย ที่อายุเกือบ 80 ปี และยังเดินสายร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ เลยถูกหยิบยกขึ้นมาด้วยว่า น่าจะเป็นผู้นำพรรค หรือเป็นนายกฯได้เหมือนกัน แถมยังหนุ่มแน่นกว่านายกฯมาเลย์ตั้งสิบกว่าปี

เป็นเรื่องที่ทางพรรค ปชป.จะไปพูดคุยกัน แต่เอาเข้าจริงๆ จะอายุเท่าไหร่ ก็ล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเข้าสู่การเมือง

รัฐธรรมนูญกำหนดอายุผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 18 ปี และผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ต่ำกว่า 25 ปีในวันเลือกตั้ง

และยังมีเงื่อนไขและคุณสมบัติอื่นๆ อีก

การแสดงความคิดความเห็นว่า ประเทศกำลังต้องการผู้นำแบบไหน อายุเท่าไหร่ จะเอาหนุ่มๆ สาวๆ แบบประเทศตะวันตก หรือให้มีประสบการณ์ในแบบรุ่นใหญ่สักหน่อย ฯลฯ ต้องเป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองทุกคน

ถ้ากลัวบ้านเมืองจะไปเร็วเกินไป ก็เน้นผู้นำเชยๆ หัวโบราณ หรือถ้าอยากให้พุ่งๆ ไปกับโลกยุคใหม่ ก็ใช้คนหนุ่มคนสาวพลังแรง

ทุกคนมีสิทธิเสนอ มีสิทธิอภิปราย พรรคการเมืองมีหน้าที่ส่งชื่อ ส่วนคนที่มีหน้าที่ตัดสิน คือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนั่นเอง

ให้ระบบได้ทำหน้าที่แก้ปัญหา

ที่สำคัญต้องยอมรับ “ผล” และ “การตัดสิน”

ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องไปไหน ติดแหง็กกันอยู่อย่างนี้ ทุกแนวคิดและทุกวัย

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image