ฟิสิกส์ธรรมดา สาระมันส์ : การเดินทางรอบโลกครั้งแรก (ตอนจบ) โดย : อาจวรงค์ จันทมาศ

(ภาพที่ 1)

เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan) ต้องการเดินทางไปยังเกาะเครื่องเทศด้วยการเดินเรือไปทางตะวันตก ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน (ดูภาพที่ 1)

เมื่อสเปนให้การสนับสนุน การเดินทางที่สร้างประวัติศาสตร์จึงเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1519 ด้วยเรือทั้งหมด 5 ลำใหญ่ๆ (นึกภาพเรือลำใหญ่ๆในหนังเรื่องไพเรทออฟเดอะแคริบเบียน) พร้อมด้วยลูกเรือราว 270 คน เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากนั้นเข้าสู่แผ่นดินอเมริกาใต้ เรือของเขาได้เดินทางผ่านช่องแคบซึ่งถ้าเราดูจากแผนที่จะพบว่าช่องแคบนี้ทั้งแคบ ยาวและคดเคี้ยว การเดินทางในช่วงนี้เองที่เขาพบนกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะแปลกประหลาดคือ เดินต้วมเตี้ยมอยู่บนพื้นดิน บินไม่ได้ แต่ว่ายน้ำคล่องปรื๋อ มันคือ นกเพนกวิน ที่กระจายพันธุ์อยู่แถวอเมริกาใต้ ทุกวันนี้ช่องแคบนี้มีชื่อว่า ช่องแคบมาเจลลัน (Strait of Magellan) ส่วนนกเพนกวินมีชื่อว่า Magellanic penguin ตั้งชื่อตามชื่อของเขาซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางผู้ข้ามช่องแคบและพบนกเพนกวินชนิดนี้

(ดูภาพที่ 2 และภาพที่ 3)

ภาพที่ 2
ภาพที่ 3

เมื่อมาเจลลันทะลุช่องแคบออกมาได้ สิ่งที่เขาพบคือมหาสมุทรแห่งใหม่ที่ไม่เคยมีชาวยุโรปคนไหนพบเห็นมาก่อน มาเจลลันเรียกมหาสมุทรนี้ว่า มหาสมุทรแห่งความเงียบสงบ หรือ Mar Pacífico ซึ่งทุกวันนี้เรารู้จักมันในชื่อมหาสมุทรแปซิฟิก

Advertisement

มหาสมุทรแห่งนี้เป็นมหาสมุทรที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก สมัยนี้ถ้าเรานั่งเครื่องบินจากญี่ปุ่นไปอเมริกา โดยบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกนี้จะใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง ระหว่างนี้ถ้ามองจากหน้าต่างเครื่องบินลงมา จะแทบไม่เห็นอะไรเลยนอกจากน้ำทะเลสีฟ้าสุดลูกหูลูกตา

มาเจลลันเดินทางออกจากช่องแคบปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1520 เพื่อข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก การเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นทรหดมาก ลูกเรือหิวโหย ขาดทั้งน้ำดื่มและอาหาร กว่าจะมาถึงหมู่เกาะมาเรียนาก็ราวต้นเดือนมีนาคม ค.ศ.1521 แล้วเข้าสู่ฟิลิปปินส์ ในที่สุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ.1521 เรือของสเปนก็เดินทางถึงหมู่เกาะเครื่องเทศ ทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันแล้ว ก็เดินทางกลับสเปนด้วยการหันหัวเรือไปทางทิศตะวันตก

การเดินทางครั้งนี้ทำให้สเปนอ้างได้ว่าหมู่เกาะเครื่องเทศอยู่ทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตแดนเพราะตนเองเดินทางไปทางทิศตะวันตกไปเรื่อยๆ ก็สามารถไปถึงได้ ข้ออ้างนี้ส่งผลต่อการเจรจาและทำข้อตกลงใหม่

Advertisement

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การเดินทางครั้งนี้เป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าโลกกลม กล่าวคือ เมื่อล่องเรือไปทางตะวันตกสุดขอบแผนที่แล้วมันจะกลับมาโผล่ทางตะวันออกได้

แม้เส้นทางที่มาเจลลันเลือกใช้จะเป็นเส้นทางที่อันตรายและใช้เวลาเดินทางมากเกินกว่าจะใช้เป็นเส้นทางเดินเรือตามปกติ แต่มันช่วยเติมเต็มแผนที่โลกของชาวยุโรปในยุคนั้นให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

(ดูภาพที่ 4)

ภาพที่ 4

อย่างไรก็ตาม เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ไม่ใช่มนุษย์คนแรกที่เดินทางรอบโลก อันที่จริงเขาไม่ได้เดินทางไปถึงหมู่เกาะเครื่องเทศด้วยซ้ำเพราะในระหว่างที่เดินทางผ่านฟิลิปปินส์ เกิดการต่อสู้กับชนพื้นเมือง และเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน เสียชีวิตในการต่อสู้นั้นด้วยธนูพิษ

ผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำการเดินทางต่อจนเรือสามารถไปสู่หมู่เกาะเครื่องเทศและกลับสู่สเปนได้คือ Juan Sebastián Elcano นักเดินเรือชาวสเปนที่อยู่ในกองเรือมาตั้งแต่ต้น (แต่ผลสุดท้ายนักเดินทางสุดท้ายกลับถึงสเปนได้ 18 คน ด้วยอุปสรรคต่างๆ มากมายสาหัส) ดังนั้น Juan Sebastián Elcano จึงเป็นผู้เดินทางรอบโลกได้เป็นคนแรกอย่างแท้จริง แต่ทุกวันนี้ เรามักจะให้เกียรติและเครดิตมาเจลลันร่วมด้วยเพราะเป็นผู้บุกเบิกและพากองเรือเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ไพศาลมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image