อดีตผอ.หอศิลป์ยันปมค้านกทม.ไม่เกี่ยวสีเสื้อ ชี้ระบบราชการไม่ตอบโจทย์ (คลิป)

จบไปแล้วท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายในช่วงสายของวันนี้ สำหรับการแถลงการณ์ “หอศิลปฯ ยืนยาว” อันสืบเนื่องจากกรณีกรุงเทพมหานครมีแนวคิดนำหอศิลปฯกลับไปบริหารกระทั่งเกิดกระแสการต่อต้าน โดยมีการรณรงค์เข้าชื่อคัดค้านผ่านเวปไซต์ change.org รวมถึงการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองแถลงยุติแนวคิดดังกล่าว บรรยากาศที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการตั้งโต๊ะแถลงบริเวณหน้าประตูทางเข้าออกบริเวณชั้น 1 โดยมีป้ายไวนิลขนาดใหญ่สีดำ พิมพ์อักษรสีขาว ข้อความว่า “ชีวิตสั้น หอศิลปยืนยาว” ผู้ร่วมงานสวมเสื้อยืดสกรีนข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ “เราเลือกหอศิลป์” “ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า” เป็นต้น

มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินชื่อดังอ่านแถลงการณ์ มีเนื้อหาโดยสรุปเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้กทม.ต่ออายุสัญญาโอนสิทธิ์การใช้อาคารแก่มูลนิธิหอศิลปฯ ทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข 2.ขอให้แก้ไขกฎระเบียบต่างๆของกทม.ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดสรร และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน 3. การสรรหากรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ ขอให้ผุ้ว่าฯ เห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการมูลนิธิฯ โดยกรรมการสรรหาประกอบไปด้วย ตัวแทนจากกทม. , ตัวแทนศิลปิน, ตัวแทนนักวิชาการ/ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ , ตัวแทนด้านเด็กและเยาวชน,ตัวแทนด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม จุมพล อภิสุข , วสันต์ สิทธิเขตต์, แม่น้ำแรลลี่ จามิกรณ์ แสงสิริ สมพงศ์ ทวี,และ จิตต์สิงห์ สมบุญ ดีไซเนอร์เสื้อผ้าแบรนด์ดัง และศิลปินอีกหลายรายเข้าร่วม

งานนี้ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ อดีต ผอ.หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริหารองค์กรดังกล่าวนานเกือบ 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2554 กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯกทม. ที่ “ฉายสปอตไลต์” มายังหอศิลป์ ทำให้ประชาชน หลายคนได้ออกมาพูดสะท้อนความรู้สึกมีส่วนร่วมในการรักษาที่นี่ไว้

อดีตผอ.ยังปล่อยมุขบนโต๊ะแถลงว่า หอศิลป์ไม่ได้รับงบประมาณในปี 2561 แนวคิดการยึดคืนหอศิลป์ของผู้ว่าฯ ช่วย “ประหยัดงบพีอาร์” ไปได้เยอะ.

Advertisement

ลักขณาบอกอีกว่า ความ “ไม่เห็นด้วย” ที่ออกมาสะท้อนว่าต้นทุนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกทม.ต่ำมาก

“ลองนึกถึงว่าพื้นที่สาธารณะในด้านศิลปวัฒนธรรมที่กทม.บริหารอยู่ แทบไม่มี พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเขตต่างๆ มีใครเคยไปบ้าง พิพิธภัณฑ์เด็กก็มีปัญหาเรื้อรังมาตลอด”

สำหรับ “โมเดล” การบริหารโดยมูลนิธิหอศิลป์ ฯ เกิดจากแนวคิดว่า ถ้าเป็นระบบราชการ “ไม่น่าเป็นไปได้” ไม่สะท้อนพลวัตรโลกปัจจุบัน และอนาคตที่ต้องการการมีส่วนร่วม รัฐต้องลงทุนโครงสร้าง ส่วนประชาชนร่วมกันออกแบบในลักษณะที่อยากให้เป็น

Advertisement

“ที่ผ่านมา เราบริหารแบบ 3 P คือ Public , Private และPeople เราเดินหน้าไปไกลแล้วในสิ่งที่ตอบโจทย์โลกอนาคต”

ลักขณายังย้ำว่า เรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับ “พวกใคร สีใด” หากแต่เกิดจากความรู้สึกไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดดังกล่าวของกทม. จึงออกมาคัดค้านดังที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ในช่วงหลายวันมานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image