‘ลิฟต์ผู้พิการ’ วันนี้ถึงไหนแล้ว?

เมื่อปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดทำลิฟต์พร้อมอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า และจัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้รถเข็นผู้พิการ (วีลแชร์) กว้าง 120 เซนติเมตร (ซม.) และมีราวสูง 80 ซม. บริเวณทางขึ้น-ลง ติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งใน-นอกตัวรถคันที่จัดให้สำหรับคนพิการตามกฎหมายกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองและใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ร่วมมือสนับสนุน กทม. โดยเฉพาะการก่อสร้างลิฟต์ เห็นควรให้สร้างครบ 4 จุด หรือสถานีละ 4 ตัว

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจลิฟต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในระบบขนส่งมวลชน บริเวณสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี เขตบางรัก ว่า ข้อเท็จจริงโครงการรถไฟฟ้า มีจำนวนสถานีทั้งหมด 34 สถานี โดย กทม.จะต้องก่อสร้างลิฟต์ตามศาลกำหนด สถานีละ 4 ตัว รวม 136 ตัว แต่ปัจจุบัน กทม.ก่อสร้างลิฟต/์ได้ 107 ตัว เหลืออีก 29 ตัว กทม.ยังไม่ได้ก่อสร้าง เดิมปี 2543 กทม.เริ่มมีลิฟต์ใช้งานตาม 5 สถานีสำคัญจำนวน 11 ตัว และก่อสร้างช่วงก่อนปี 2557 เพิ่มอีก รวมเป็น 55 ตัวใน 33 สถานี กระทั่งปี 2557 สจส.ขอจัดสรรงบประมาณ 356 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างลิฟต์เพิ่มเติมจำนวน
56 ตัวใน 19 สถานี ส่วนนี้เริ่มทยอยเปิดใช้งานเรื่อยมาจนแล้วเสร็จครบ 18 สถานี 52 ตัว ณ ปัจจุบัน รวม 107 ตัว

 

Advertisement

“ส่วนที่เหลือ 29 ตัว กทม.แบ่งดำเนินการออกเป็น 2 กรณี 1.ก่อสร้างลิฟต์ให้ครบทั้งสองฝั่งทุกสถานีรถไฟฟ้า จำนวน 19 ตัว 16 สถานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณจากสภา กทม. วงเงิน 256.25 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 250 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน 6.25 ล้านบาท หากสภา กทม.เห็นชอบแล้ว กทม.จะจัดสรรงบประมาณให้ สจส.ทันที กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 120 วัน นับตั้งแต่ลงนามสัญญาจ้าง

2.ลิฟต์ที่ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างเพราะติดปัญหาอุปสรรค จำนวน 10 ตัว 5 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีสะพานตากสิน (S6) 4 ตัว เพราะมีรางรถไฟฟ้าเป็นรางเดี่ยว ในอนาคต กทม.จะสร้างพร้อมปรับปรุงสถานี
เป็นรางคู่ 2.สถานีศาลาแดง (S2) 2 ตัว ติดปัญหาสาธารณูปโภคใต้ดิน แต่ตอนนี้ กทม.ขอใช้ลิฟต์ของ รฟม.แทน 3.สถานีชิดลม (E1) และ 4.สถานีเพลินจิต (E2) สถานีละ 1 ตัว เพราะทางเท้าแคบ รวมถึง 5.สถานีอโศก (E4) ต้องมีลิฟต์เพิ่มอีก 2 ตัว โดย กทม.ขอให้บีทีเอสซี สร้างให้พร้อมทางเชื่อมที่จะเชื่อมมายังสถานีรถไฟฟ้า โดยกรณีที่ 2 สจส.จะต้องไปศึกษารายละเอียดในแง่วิศวกรรมให้สอดคล้องกับลักษณะกายภาพ เพื่อให้สร้างลิฟต์ให้ครบ”

Advertisement

ส่วนกลุ่มภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) รวมตัวฟ้อง กทม.อีกรอบ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 1,436 ล้านบาท เพราะสร้างลิฟต์ไม่เสร็จตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายจักกพันธุ์ชี้แจงว่า เพื่อขอทุเลาคำสั่งศาล ได้ให้ สจส.ประสานสำนักงานกฎหมายและคดี แจ้งถึงสาเหตุที่ กทม.ไม่สามารถก่อสร้างลิฟต์ได้ และยืนยันว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา กทม.ได้ก่อสร้างลิฟต์ทุกตัวตามสัญญาจ้าง 56 ตัว แต่ติดปัญหา ทำให้ กทม.สร้างลิฟต์ได้เพียง 52 ตัวเท่านั้น แต่เมื่อสำรวจพื้นที่ ปรากฏว่า กทม.ต้องสร้างลิฟต์เพิ่ม 29 ตัว ซึ่งในจำนวน 10 ตัว 5 สถานี กทม.ไม่สามารถก่อสร้างลิฟต์ได้จริงๆ เพราะปัญหาทางเท้า สายสาธารณูปโภคและกายภาพ โดยบางสถานีแม้สร้างไม่ได้ กทม.ก็ประสานกับเอกชนและ
ผู้ประกอบการเพื่อขอใช้ลิฟต์

“กทม.จึงขอยืนยันไม่ได้เพิกเฉย แก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2557 โดยปัจจุบันลิฟต์มีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2543 จากจำนวน 11 ตัว 5 สถานี เป็น 107 ตัว 33 สถานี และพยายามก่อสร้างให้ครบทั้ง 136 ตัว” นายจักกพันธุ์กล่าว

นั่งยันยืนยันนอนยันว่าไม่เพิกเฉยก่อสร้างลิฟต์ผู้พิการ…

นฤมล รัตนสุวรรณ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image