4 ปี คสช. แก้ไม่ตกปัญหาปากท้องประชาชน?

ครบรอบ 4 ปีเต็ม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ เข้ามายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557

4 ปีที่คสช.เข้ามาบริหารประเทศในฐานะรัฐบาลย่อมมีความคาดหวังในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ”ปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน”

4 ปีที่ผ่านผลงานด้านเศรษฐกิจ กลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลายต่อหลายครั้ง แม้จะดึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มือเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเสริมความแข็งแกร่ง แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน มากนัก

แม้ที่ผ่านมาจะเห็นความพยายามของรัฐบาลที่จะเข้าเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและผลักดันให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน ผ่านโครงการประชารัฐต่างๆ เช่น การแจกบัตรสวัสดิการคนจน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  การปล่อยสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน

Advertisement

แต่ยังสวนทางกับ ผลสำรวจความเห็นของประชาชนหรือผลโพลที่ออกมาของแต่ละสำนัก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผลโพลส่วนใหญ่ ประชาชนยังกังวลเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย  และมองเศรษฐกิจไทยยังตกต่ำ การค้าการลงทุนไม่ดี  ทำให้ความนิยมของคสช.และรัฐบาลลดลง

โดยผลโพลล่าสุดของสวนดุสิตโพล ในหัวข้อ “ประชาชนได้อะไร? จาก 4 ปีรัฐบาล คสช.” เป็นการสำรวจความเห็นในโอกาสครบ 4 ปี การบริหารประเทศโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า สิ่งที่ประชาชน “สมหวัง” ใน 4 ปีรัฐบาล คสช. มากที่สุด คือ 1 บ้านเมืองสงบ ไม่มีการชุมนุมประท้วงที่รุนแรง  อันดับ 2 การใช้กฎหมายเด็ดขาด เช่น ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ยาเสพติด  อันดับ 3 จัดระเบียบพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่ป่าไม้  อันดับ 4 พัฒนาระบบคมนาคม โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และอันดับ 5 ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพิ่มเบี้ยยังชีพ ขึ้นค่าแรง

ในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น สินค้าแพง ประชาชนเดือดร้อน เป็นสิ่งที่ประชาชน  ผิดหวังมากที่สุดในผลงาน4ปี

แม้ล่าสุดทางรัฐบาลโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะออกมาเน้นย้ำว่า จีดีพีไตรมาสแรก ปี 2561 ขยายตัว 4.8% โตสูงสุดรอบ 20 ไตรมาสหรือรอบ 5 ปี เราใช้เวลากว่า 5 ปีมาถึงจุดนี้ได้

“สิ่งที่รัฐบาลทำงานอย่างหนักร่วมกับเอกชนเริ่มออกผล เพราะการที่จะให้จีดีพีมาถึงจุดนี้ไม่ใช่ว่าง่ายง่าย และรัฐบาลไม่ยอมรับสภาพเพียงอย่างเดียว พยายามเข้าไปดูรายละเอียดทุกจุด จุดไหนที่ยังไม่ดีก็ทำให้ดีขึ้น การลงทุนเอกชนสูงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ภาคเกษตรขยายตัวน่าพอใจ เป็นเรื่องที่ดีเพราะปัญหาภาคเกษตรที่สะสมมานานเริ่มคลายตัว ด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวดีต่อเนื่อง”

ทั้งหมดนี้ยังสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน

ในขณะที่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับจนคนก็ยังสูงขึ้น คนรวยกระจุกตัวแค่คนกลุ่มเดียว ซึ่งดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต สะท้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุน กับ แรงงานรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรายย่อยปราศจากที่ดินทำกิน มหาเศรษฐี 100 อันดับแรกของไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศทรัพย์สินและความมั่งคั่งไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยและหนี้สินต่อครัวเรือนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประเทศไทยจึงติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับสามรองมาจากอินเดียและรัสเซีย

เสียงสะท้อนที่ออกมาเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วง 4ปีของคสช.เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่แก้ไม่ตก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image