กลุ่มผู้ใช้ฟอร์ด 308 รายเฮ ศาลรับฟ้องแบบกลุ่ม เรียกค่าเยียวยา 24 ล้าน

เมื่อเวลา 09.00น.วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 ศาลนัดไต่สวนคำร้องและฟังคำสั่งการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่ผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดเฟียสต้า โฟกัส และอีโค่สปอร์ต 308 ราย รวมตัว ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค กับ บ.ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด , บ.ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด  ,บ.ฟอร์ด โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บ.ฟอร์ด เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องชำรุดบกพร่อง , สินค้าไม่ปลอดภัย  เนื่องจากการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ชำรุดบกพร่องไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา และทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงอันตราย

โดยคดีดังกล่าวเดิม ผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดเฟียสต้า โฟกัส และอีโค่สปอร์ต รวม 10 ราย เป็นตัวแทนฟ้องคดีแบบกลุ่มจำนวน 421 รายตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 60 เป็นคดีหมายเลขดำ ผบ.492/2560 เรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษและจิตใจ รวมจำนวน 24,751,420.95 บาท ซึ่งคดีเคยดำเนินการไกล่เกลี่ยคู่ความมาแล้วโดยมีผู้ใช้รถยนต์จำนวน 113 รายยุติการฟ้องคดีจากการรับข้อเสนอเจรจา ขณะนี้จึงเหลือผู้ใช้รถยนต์ที่ยังประสงค์ดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อไปอีก 308 ราย

โดยวันนี้ ผู้ใช้รถยนต์กว่า 300 ราย และทีมทนายความ มาศาลพร้อมไต่สวนว่าจะอนุญาตให้ฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่ขณะที่เมื่อถึงเวลาทั้ง 2 ฝ่ายมาศาลพร้อมแล้ว ศาลจึงได้สอบคู่ความ กรณีที่ทนายความโจทก์ ยื่นคำร้องพร้อมแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1,3,4 อีกต่อไป ซึ่งจำเลยทั้งสี่ก็ไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง บ.ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1, บ.ฟอร์ด โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 3 และ บ.ฟอร์ด เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 4 ได้ โดยให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1,3,4 ออกจากสารบบความด้วย

ขณะเดียวกันทนายความของ บ.ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 2 แถลงว่า นายนรเสฏฐ์ มงคลศิริวัฒนา โจทก์ที่ 5 เป็นผู้ครอบครองรถฟอร์ด แบบแรนเจอร์ (Ford Ranger) ซึ่งไม่ได้เป็นรถยนต์ที่ใช้ระบบเกียร์เพาเวอร์ชิฟ 6 สปีค (DPS 6) จึงไม่ได้มีลักษณะหรือความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกลุ่ม ดังนั้นขอให้ศาลจำหน่ายคดีสำหรับโจทก์ที่ 5 ซึ่งศาลสอบถามแล้ว ทนายโจทก์แถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้จำหน่ายคดีโจทก์ที่ 5 ไปก่อน โดยให้โจทก์ที่ 5 นำคดีมายื่นฟ้องใหม่ภายใน 30 วัน

Advertisement

ส่วนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทนายความจำเลยที่ 2 แถลงไม่คัดค้าน การดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับโจทก์ 5 ราย ประกอบด้วย นายเอกชัย แก้วทรัพย์ , นายภีมวัจน์ จิตรใคร่ครวญ , นางทศพร ฤทธิ์วิรุฬ , นายกอปรศักดิ์ นุ่มน้อย , นายชัชวาล อ่อนอุไรผู้เสียหายที่ใช้รถยนต์ฟอร์ดต่อไป

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้ง 5 ราย และสมาชิกกลุ่มอีก 303 ราย รวมทั้งสิ้น 308 ราย มีสภาพแห่งข้อหา , คำขอบังคับ ตลอดจนข้ออ้างนี้อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา โดยมีลักษณะความเสียหายอันเกิดมาจากเกียร์เพาเวอร์ชีฟ 6 สปีค (DPS 6) แบบเดียวกัน และสมาชิกกลุ่มมีเป็นจำนวนมาก หากจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นการสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าและสมาชิกกลุ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดย บ.ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การภายใน 30 วัน

โดยศาลเห็นว่าคดีนี้ไม่มีข้อยุ่งยาก จึงนัดสืบพยานโจทก์‪ในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ‪เวลา 09.00 น. และนัดสืบพยานจำเลย ใน‪วันที่ 30-31 สิงหาคมนี้ ‪เวลา 09.00 น.และให้คู่ความทั้งสองฝ่าย ส่งสำเนาเอกสารที่จะใช้สืบทั้งหมดให้อีกฝ่ายตรวจความถูกต้อง ซึ่งหากจะคัดค้านก็ให้ส่งเอกสารคัดค้านภายใน 5 วันก่อนวันนัดสืบพยานของแต่ละฝ่าย

ทั้งนี้ ที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าและสมาชิกกลุ่มดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยไม่ให้มีผลกับสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ หรือบุคคลภายนอกคดี ขณะที่ศาลเห็นว่าคดีนี้เนื่องจากให้เวลาในการไต่สวนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมานานพอสมควร จึงเห็นสมควรกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาล่วงหน้าเป็นวันที่ ‪28 กันยายนนี้ ‪เวลา 10.00 น.

นายจิณณะ แย้มอ่วม” หัวหน้าทีมทนายของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด โจทก์  เปิดเผยว่า ผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า โฟกัส และอีโค่สปอร์ต จำนวน 308 ราย ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กรณีบริษัทผลิตรถยนต์ชำรุดบกพร่องออกจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน60 เวลาผ่านไปกว่า 1 ปี วันนี้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว นับเป็นการรับฟ้องคดีแบบกลุ่มผู้บริโภคคดีแรก ๆ ของประเทศไทยที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภค

“วันนี้ศาล มีคำสั่งรับเป็นคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม อาจด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งความเสียหายที่เกิดกับผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ฟอร์ดจำนวนมาก ขณะเดียวกันศาลในหลายประเทศก็มีการตัดสินให้ บ.ฟอร์ด ชดใช้เยียวยาผู้เสียหายแล้วโดยเฉพาะที่ออสเตรเลียศาลเพิ่งมีคำสั่งปรับ บ.ฟอร์ด เป็นเงินเกือบ 300 ล้านบาท โทษฐานที่ประกอบธุรกิจโดยขาดจิตสำนึก” นายจิณณะ ทนายความโจทก์ กล่าวและว่า สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องไม่ทำงานแบบฉาบฉวย รวมทั้งมูลนิธิหรือสมาคมที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ควรทำงานแบบบูรณาการในเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพ เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย ขณะที่คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งไม่รักษาสิทธิของตัวเองเป็นพวก “ไทยเฉย”เราจึงขาดหลักเกณฑ์ที่จะควบคุมให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึก ผลิตสินค้าให้มีมาตรฐาน ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ขณะที่ควรมีการปฏิรูปสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ แต่ไม่เอามาปฏิบัติ ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญฯ ตั้งแต่ปี 2540 , 2550 และ2560ก็ระบุชัดเจนว่าให้จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานที่ดีทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่จนถึงปัจจุบัน องค์กรอิสระนี้ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

ด้าน “น.ส.ฌนิฏา สุขขวัญ” ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากรถยนต์ฟอร์ดในนาม “กลุ่มเหยื่อรถยนต์” กล่าวว่า พวกตนรอคอยวันนี้ หลังจากยื่นฟ้องต่อศาลมานานกว่า 1 ปี และรู้สึกดีใจมากที่ศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดรุ่นเดียวกันในหลายประเทศ ก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน ขณะที่การต่อสู้ของผู้บริโภคที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าแม้เราจะมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐอย่าง สคบ. แต่ผู้บริโภคก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง จนเป็นคำถามที่คาใจสมาชิกในกลุ่มมาตลอดว่า สคบ. คุ้มครองใคร ทำให้เราเลิกหวังกับหน่วยงานของรัฐ และหันมาต่อสู้ปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยตัวพวกเราเอง

“นายเอกชัย แก้วทรัพย์” หนึ่งในโจทก์ร่วมฟ้องคดีนี้ กล่าวว่า ตนเองรอคอยวันนี้มานานมาก รู้สึกดีใจและปลาบปลื้ม เพราะต้องทนทุกข์กับการใช้รถที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานมานานกว่า 6 ปี ซึ่งผู้เสียหายจากรถยนต์ฟอร์ดมีจำนวนมาก และชัดเจนว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอุปกรณ์รถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบเกียร์ , ชุดคลัชต์ , ล็อคประตูเสีย ประตูปิดไม่ได้ , เบรคแข็งหรือเบรคไม่อยู่ , ความร้อนสูง ซึ่งยืนยันได้จากเอกสารการซ่อมของผู้เสียหายทุกราย โดยผู้บริโภคจึงได้รวมตัวกันร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ทั้ง สคบ. , กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานอื่น ๆ แต่หน่วยงานเหล่านี้ไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค หรือทำงานล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคยังไม่ได้รับการเยียวยาจนกระทั่งทุกวันนี้

“ผมซื้อรถยนต์มาราคา 700,000 บาท ต้องทนอยู่กับสภาพรถเกียร์เสียมานาน 6 ปี จะให้ยอมรับการเยียวยาด้วยการซ่อม แต่ปัญหามันเรื้อรัง มันแก้ไม่จบ และการเข้าศูนย์ซ่อมแต่ละครั้งก็ใช้เวลานาน 7 วันถึงหนึ่งเดือน การเยียวยามันจึงเหมือนเป็นการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้บริโภคถอดใจกันไปเอง จนพวกเราทนไม่ไหว จึงต้องมารวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลให้คุ้มครองสิทธิของพวกเรา เพราะพวกผมต้องการเห็นประเทศไทยมีการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” นายเอกชัย 1 ในโจทก์ที่ร่วมฟ้องคดี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image