อึ้ง!กรมสุขภาพจิตเผยปัญหาฆ่าตัวตายพุ่งเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อคน ภาคเหนือครองแชมป์

เมื่อวันที่ 26 ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดการประชุมบุคลากรจากโรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รพ.ศูนย์/ทั่วไป รพ.ศรีนครินทร์ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบ้านเมตตา จ.นครราชสีมา และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจำจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม โดยมีผู้เข้ารวม 220 คน ว่า โครงการพัฒนาความร่วมมือด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนไร้ที่พึ่งที่ป่วยจิตเวช ร่วมกับภาคีเครือข่าย มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคม ชุมชนและครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยไม่ทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ทั้งนี้สภาพสังคมปัจจุบันมีการแข่งขัน จิตใจเกิดความเครียด กดดันจากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยจากโรคจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งการเจ็บป่วยจากโรคทางจิตเวชส่วนใหญ่จะเป็นอาการเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษายาวนาน โดยเฉพาะโรคจิตเภทคือมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เป็นสาเหตุของการทำร้ายตัวเอง หรือ ฆ่าตัวตาย

“ปัจจุบันปัญหาฆ่าตัวตายในประเทศเกิดถี่ขึ้น ดังนั้น การทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วยทางสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง พบว่าอยู่ในวัยคนทำงานสูงขึ้น การป้องกันทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิตก็จะเน้นในเรื่องของคนวัยทำงานให้มีความสุข ลดความเครียด นอกจากนี้ต้องป้องกันบุคคลที่อยู่ในวัยสูงอายุไม่ให้เกิดความเสี่ยงกับภาวะซึมเศร้า เพื่อป้องกันการทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย โดยตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีข้างหน้า คนที่จะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายจะต้องไม่เกิน 6.5 แสนประชากร” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยได้กลับมาขยายตัวสูงขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด ปี พ.ศ.2558 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.47 ต่อแสนประชากร สูงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่  6.08 ต่อแสนประชาชน หรือเฉลี่ยทุกๆ 2 ชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน พื้นที่ภาคเหนือ ยังมีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดกว่าภาคอื่นคือ 10.59 ต่อแสนประชากร มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่อัตราการฆ่าตัวตายลดลง ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคอีสาน เป็นภาคที่มีสัดส่วนการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นกว่าภาคอื่น จาก 5.38 ต่อแสนประชากรในปี 2557 ขยับขึ้นเป็น 6.11 ต่อแสนประชากรส่วนกลุ่มจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงจากการที่อัตราการฆ่าตัวตายปรับตัวสูงขึ้นจาก 4.51 เพิ่มขึ้นเป็น 5.96 นั่นคือ คนที่อาศัยอยู่ใน 4 จังหวัดนี้ 5,040,000 คน มีคนฆ่าตัวตายไปแล้ว 301 คน หรือจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 5-6 คน ที่สำคัญ จ.ขอนแก่น ฆ่าตัวตายสูงสุดที่ 6.81 ต่อแสนประชากร

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการบูรณาการความร่วมมือกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนไร้ที่พึ่งที่ป่วยทางจิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นำร่องที่รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์กับบ้านเมตตา จ.นครราชสีมาซึ่งพบผู้ไร้ที่พึ่งป่วยทางจิตร้อยละ 90 ผลการฟื้นฟูรุ่นแรกในเดือนมิถุนายน 2560 จำนวน 79 คน เป็นชาย 63 คน หญิง 16 คน พบว่าได้ผลดีมาก ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบอาชีพได้ ส่งกลับไปอยู่บ้านได้ ในปีนี้จึงขยายผลเต็มพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งมี 4 จังหวัด คือขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม และเตรียมการจะขยายไปพื้นที่อื่นๆด้วยในอนาคต เพื่อให้ผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตได้รับการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพคืนความเป็นมนุษย์ได้อย่างครอบคลุม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image