คิกออฟ!! ฟื้นฟูป่า ‘ดอยสุเทพ’ ปลูกต้นไม้ 2 หมื่นต้น พื้นที่ก่อสร้างบ้านพัก ขรก.

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายสวัสดิ์ สุระวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ รวมกว่า 2,000 คน นำกล้าไม้ยืนต้น 200 ต้น ทั้งคำมอกหลวง พะยูง พะยอม สัก ตะแบก รวงผึ้ง และหญ้าแฝก 20,000 ต้น ปลูกในบริเวณอาคารชุดบ้านพักข้าราชการตุลาการ เป็นการคิกออฟฟื้นฟูป่าที่เสียหายจากการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามที่รัฐบาลกำหนด นอกจากนี้ ยังร่วมกันสร้างฝายกึ่งถาวร หรือฝายเกเบี้ยน ขนาดยาว 5 เมตร กว้าง 2 เมตร กั้นลำห้วยแม่ชะเยือง ด้านหลังอาคารชุดอีก 2 ลูก เพื่อช่วยดักตะกอนและชะลอความรุนแรงของน้ำที่จะไหลลงมาจากดอยสุเทพในช่วงฤดูฝน ขณะที่ชมรมร่มบินเชียงใหม่ นำร่มบินหลายลำติดริบบิ้นสีเขียวพร้อมป้าย “รื้อ” บินวนเหนือพื้นที่อาคารชุดและบ้านพัก 45 หลัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทวงคืนพื้นที่ป่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกล้าไม้ที่นำมาปลูกในพื้นที่บริเวณอาคารชุด ก่อนหน้านี้ได้ปลูกไปแล้วประมาณ 500 ต้น ทำให้ล่าสุดมีกล้าไม้ยืนต้นถูกปลูกไปแล้วประมาณ 800 ต้น ทั้งหมดคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 8 ปี จึงจะเติบโตเป็นไม้ยืนต้นที่ถาวรในเขตป่านายธัญญากล่าวว่า พื้นที่ปลูกป่าฟื้นฟูเป็นพื้นที่บางส่วนที่ศาลส่งคืนให้กรมธนารักษ์ ส่วนพื้นที่บ้านพัก 45 หลังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่หากรัฐบาลมีนโยบายสั่งการ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชพร้อมเข้าดำเนินการ ส่วนการผนวกพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อช.ก็พร้อมดำเนินการหากมีการสั่งการ แต่ทุกฝ่ายต้องคุยกันให้ชัดเจนก่อน“ขณะที่การผนวกเข้าเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายอุทยานฯ พื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ อาจสามารถมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องทุบทิ้งเพราะสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่อาจใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น ศูนย์ประชุม หรือศูนย์เรียนรู้ เพราะสิ่งปลูกสร้างมาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่กรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการ ต้องขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาของคณะกรรมการว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร” นายธัญญากล่าว
นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ-ปุย ยืนยันอีกครั้งว่าบ้านพักและอาคารชุดในพื้นที่ส่งคืนจะต้องรื้อถอนออกทั้งหมด จะต้องไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเข้ามาใช้ประโยชน์เพราะผิดวัตถุประสงค์ของเครือข่ายและชาวเชียงใหม่ที่ต้องการให้ป่ากลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ส่วนจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาหรือรื้อถอนนานเท่าไหร่ก็จะต้องดำเนินการนางปลายอ้อ ทองสวัสดิ์ ตัวแทนสภาเมืองสีเขียวเชียงใหม่ หนึ่งในคณะกรรมการชุดฟื้นฟูพื้นที่ป่า กล่าวว่า การฟื้นฟูหลังจากนี้ จะมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลฝายและต้นไม้ โดยจะเปิดให้เยาวชนและประชาชนเข้ามาพ่อแม่อุปถัมป์ของต้นไม้แต่ละต้น เพื่อให้เกิดความรักความผูกพันกับผืนป่า พร้อมยืนยันว่า หากยังมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ การฟื้นฟูป่าให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นเดิมจะไม่มีทางเป็นไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image