‘อนุสรณ์’คาดจีดีพีครึ่งปีหลังชะลอตัว-ชี้จีดีพีQ1โตสุดแล้ว

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิตได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังภายใต้ปีที่ 5 ของ คสช ว่า ยังคงยืนยันการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ 4.1-4.7% ตามที่ได้ประมาณการไว้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแม้นว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีนี้จะขยายตัวสูงสุดในรอบห้าปีที่ 4.8% เนื่องจากตนมองว่าอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกที่ 4.8% นั้นจะเป็นการเติบโตรายไตรมาสที่สูงที่สุดในปีนี้ โดยหลังจากนี้อัตราการเติบโตรายไตรมาสจะชะลอตัวลงและน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.8% โดยที่ในช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและราคาพลังงาน อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1% สภาวะการทำงานต่ำระดับมากขึ้นเราจะเห็นคนจบปริญญาตรีทำงานที่อาศัยความรู้และทักษะระดับ ม. ปลาย เห็นคนจบ ป. โท ทำงานที่อาศัยความรู้และทักษะระดับ ป. ตรี เนื่องจากมีคนจำนวนมากไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงได้จึงทำงานต่ำระดับเพื่อไม่ให้ว่างงาน นอกจากนี้เทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะได้ทำหน้าที่แทนแรงงานคนมากขึ้น การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงปลายปีอาจทำให้ภาคบริโภคชะลอตัวลงควรเน้นจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการอิเลคทรอนิกส์ที่มีถิ่นฐานนอกประเทศที่ค้าสินค้าและบริการในไทยแทน การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศ โดยเฉพาะการขายสินค้าดิจิทัลที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า ไม่มีการนำเข้าสินค้า ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขาดหายไป โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า การค้าขายสินค้าดิจิทัลทั่วไปมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ B2B (Business to Business) และ B2C (Business to Consumer) ซึ่งในกรณี B2B ประเทศที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมักจะไม่มีปัญหาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรณีนี้ เนื่องจากโดยทั่วไปกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีการกำหนดภาระหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในประเทศ เมื่อมีการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการไปให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ผู้ซื้อในไทยซื้อสินค้าดิจิทัลจากผู้ประกอบการมาเลเซียมาใช้ในไทย โดยที่มาเลเซียไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการหรือมีสำนักงาน/สาขาในไทย กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดให้ผู้ซื้อในไทยมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร ทั่วไปถ้าเป็นลักษณะ B2B ผู้ซื้อในไทยที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ซื้อที่เป็นกิจการได้มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นกรมสรรพากรก็สามารถเก็บภาษีในส่วนนี้ได้ แต่ถ้าเป็นกรณี B2C ผู้ซื้อที่เป็นผู้บริโภคและไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มจะกำหนดเหมือนกับ B2B แต่เนื่องด้วยผู้บริโภคไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็อาจทำให้ในส่วนนี้ขาดหายไป ทำให้รัฐขาดรายได้จากส่วนนี้ เมื่อมีเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งไปที่ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มีถิ่นฐานในประเทศไทย เมื่อมีการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องรีบปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงปลายปีนี้ที่อาจส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ รายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงเป็นผลมาจากการเติบโตธุรกรรมออนไลน์ที่ตามเก็บภาษีไม่ได้มากกว่าอัตราภาษี การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอาจไม่ได้ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มแต่อย่างใด

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองยังคงส่งผลต่อภาคการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกยังคงเป็นบวกต่อภาคส่งออกและท่องเที่ยวของไทย ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและต้องจับตาผลของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาและมาตรการ QE Exit อัตราการขยายตัวของการส่งออกจะไม่เร่งตัวเหมือนช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ในระยะยาวแล้ว เศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตบนฐานนวัตกรรมและผลิตภาพเนื่องจากการขยายตัวของแรงงานและทุนมีข้อจำกัดและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยนั้นยังลงทุนทางด้านนวัตกรรมน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนยังคงกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับ 4.8% ในไตรมาสแรกไม่ได้หมายความว่า ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.8% คนส่วนใหญ่อาจจนลงก็ได้หากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 4.8% นั้นกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และจากข้อเท็จจริงก็ชี้ชัดว่า กลุ่มคนเพียง 6 ตระกูลถือครองความมั่งคั่งเท่ากับคนเกือบ 50 ล้านคนและครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งระบบ การกระจายรายได้และความมั่งคั่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ระบบการเมืองแบบอำนาจนิยมที่มีการผูกขาด รวมทั้งความผิดผลาดทางนโยบายของหลายรัฐบาล ตลอดจนความไม่สามารถปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป เศรษฐกิจไทยต้องขยายตัวในระดับ 5-6% และต้องกระจายรายได้และความมั่งคั่งมายังคนส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

Advertisement

ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 3-4% ภายใต้โครงสร้างแบบเดิมนี้เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้และยังจะทำให้การกระจายรายได้แย่ลงอีกด้วย เพราะผลประโยชน์ที่เติบโตขึ้นจะไปกระจุกตัวอยู่ในมือของเจ้าของทุน คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น คนจนจะไม่ดีขึ้นนัก แต่คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นคนยากจน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมโดยทั่วไปหากไม่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image