หนึ่งราชภัฏ หนึ่งพื้นที่ปฏิบัติการชุมชน Social Lab

ประเด็นข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นในเรื่องการผลิตครู การพัฒนาวิชาชีพครู และถือว่ามีความเป็นเลิศที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

ในอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือข้อเสนอที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจัดให้มี “ศูนย์ปฏิบัติการทางสังคม” (Social Lab) เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นแหล่งให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยที่ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ตามศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นส่วนหนึ่งในการนำมาใช้ประโยชน์แก่ชุมชน ท้องถิ่น สามารถตอบโจทย์และทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏก้าวไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจนักว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะมีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันมากน้อยเพียงใด ว่าการจัดให้มี “พื้นที่ปฏิบัติการทางสังคมหรือ Social Lab” นั้นเป็นอย่างไรและจะทำกันอย่างไร ?

ทั้งนี้เพราะผมเห็นว่ายังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับ “พื้นที่ปฏิบัติการทางสังคมหรือ Social Lab” ซึ่งในเบื้องต้นทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์ไปเข้าใจว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่ทำงานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้ว เพราะไปทึกทักว่าได้มีคณาจารย์จำนวนหนึ่งลงศึกษาชุมชน ไปทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ทั้งในรูปของการศึกษาวิจัย ไปบริการวิชาการในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การฝึกอบรม การร่วมประชุมสัมมนา

Advertisement

รวมทั้งการนำนักศึกษาไปฝึกงานในชุมชนและไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนอยู่ในบางครั้งบางคราว”

ผมจึงเห็นว่า การกระทำที่ผ่านมาในทำนองดังกล่าวนี้ เป็นการกระทำในลักษณะเพียงชั่วครั้งชั่วคราวของคณาจารย์เพียงบางส่วน และอาจจะขาดความต่อเนื่องไม่มีความยั่งยืน ซึ่งจะไปทึกทักว่าได้ทำงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นแล้วนั้น เห็นว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิดและถือว่ายังมีความเข้าใจไม่ตรงกันว่า “Social Lab” เป็นอย่างไร ? และจะทำอย่างไร ?

ทั้งนี้เพราะ “Social Lab” ต้องทำให้เป็นแหล่ง

จัดการศึกษาค้นคว้า การศึกษาวิจัย การทดลองในโครงการต่างๆ ที่มีความต่อเนื่องและมีความยั่งยืนซึ่งสามารถกระทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้พื้นที่ปฏิบัติการทางสังคมชุมชนท้องถิ่น เป็นพื้นที่ที่ผ่านการรวบรวมข้อมูล (Big Data) ในชุมชนท้องถิ่นอย่างละเอียดและมหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องเลือกพื้นที่ปฏิบัติการที่มีทั้งทุนทางทรัพยากร เช่น ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนภูมิปัญญา ทุนวัฒนธรรม และที่สำคัญสามารถสร้างความร่วมมือกันระหว่างชุมชน ท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสาธิตปฏิบัติการด้านต่างๆ ตามศักยภาพ ทั้งการศึกษาวิจัย การบริการชุมชนในหลายด้าน เพื่อปฏิบัติการกระทำให้เป็นต้นแบบ (Best Practice) ที่สามารถเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งใช้ในการประกอบการเรียนการสอน แหล่งการฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษา และเป็นแหล่งบริการวิชาการให้กับชุมชนท้องถิ่น

รวมทั้งภาครัฐภาคเอกชน โดยจะต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาขึ้นมาให้มีความต่อเนื่อง เกิดความยั่งยืน ซึ่ง Social Lab อาจจะมีหลายพื้นที่ก็ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลและความต้องการ

ผมอยากให้นึกถึง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงจัดตั้งโครงการพระราชดำริและจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาค เพื่อให้เป็นแหล่งสาธิตในการฝึกอาชีพของราษฎร ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการ ดิน น้ำ ป่า และเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีตัวอย่างโครงการพระราชดำริในลักษณะต่างๆ เช่น ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย จ.เพชรบุรี ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่

และโครงการพระราชดำริอื่นๆ ดังเช่น ที่ภูพาน จ.สกลนคร และศูนย์พิกุลทอง ที่ จ.นราธิวาส เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งกรณีของ Dr.James C Yen หรือเรียกสั้นๆ ว่า ดร.เยน เป็นชาวจีน เกิดที่เมืองปาจู รัฐเสฉวน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งการศึกษามวลชนและขบวนการบูรณะชนบท (Mass Education and Rural Reconstruction Movements) ในหลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินเดีย กานา รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในไทยได้มาพบกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และหมอเฉก ธนะสิริ ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้ง “มูลนิธิบูรณะชนบท” ที่ จ.ชัยนาท เมื่อปี พ.ศ.2510 (1967) ให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการและการฝึกปฏิบัติของนักศึกษา

จึงกล่าวได้ว่า ดร.เยนเป็นแม่แบบของงานพัฒนาชุมชนที่ได้ดำเนินการให้มีพื้นที่ปฏิบัติการทั้งการบริการชุมชน การศึกษาวิจัย และการปฏิบัติการให้เห็นเป็นรูปธรรมแก่ชุมชน และในเวลาต่อมา ดร.เยนก็ได้รับ
รางวัลแมกไซไซในปี 1960

อีกคนหนึ่งคืออาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือเรียกกันทั่วไปว่า “อาจารย์ยักษ์” ได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 นำมาใช้ในการรณรงค์ให้ชาวบ้านดำรงชีวิตที่ยึดหลักความพอเหมาะพอดี และได้จัดตั้ง “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ หรือมหาวิทยาลัยคอกหมู” ขึ้นที่มาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อตอบโจทย์ในการนำแหล่งเรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา” เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นสถานที่ที่มีแหล่งสาธิตการเรียนรู้ในเรื่องการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ผมได้เคยถามอาจารย์ยักษ์ว่ามีแรงบันดาลใจในการทำได้อย่างไร ได้รับคำตอบว่า “ไปดูงานที่สวนจิตรลดา” ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทำให้เป็นที่ประจักษ์ ก็นำกลับมาประยุกต์ใช้

ผมได้มีโอกาสไปรับฟังอาจารย์รุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งได้มีคณาจารย์กลุ่มหนึ่งนำเสนองานวิจัยชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นการใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกร การส่งเสริมการเพาะปลูกของเกษตรกรเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพดิน

รวมทั้งผู้นำชุมชนและเกษตรกรร่วมจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์กับทีมวิจัยเพื่อศึกษาค้นคว้าสภาพดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก โดยให้เกษตรกรเรียนรู้ว่าพื้นที่ชุมชนควรจะปลูกพืชชนิดใดที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนและเป็นการเพิ่มผลผลิต ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ที่เป็นนักวิจัยกับชุมชนจึงกลายเป็น “ต้นแบบการส่งเสริมการเกษตรของชุมชน”

ผมจึงคาดหวังว่าการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งมีพื้นที่ปฏิบัติการชุมชน (Social Lab) ไว้เป็นพื้นที่ปฏิบัติทั้งด้านการศึกษาเรียนรู้ การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการ ซึ่งอาจมีหลายพื้นที่ก็ได้ขึ้นอยู่กับศักยภาพและคงจะทำให้เห็นภาพว่าจะทำอย่างไร และที่สำคัญต้องทำกันอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ดังนั้น พื้นที่ปฏิบัติการจึงเป็นพื้นที่สาธิต พื้นที่การเรียนรู้ในด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย และให้เป็นห้องเรียนยุคใหม่ที่มีชุมชนเป็นฐานในการปฏิบัติการของวิชาต่างๆ ในหลักสูตร ตลอดจนการใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัย ที่จะก่อให้เกิดองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีความร่วมมือกับภาคีต่างๆ ระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ และภาคเอกชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน

นอกจากนี้ผมเห็นว่าในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งมีพื้นที่อยู่จำนวนหนึ่ง แทนที่จะนำไปสร้างตึก สร้างอาคารสถานที่แล้ว ก็น่าจะนำพื้นที่เหล่านี้ส่วนหนึ่งมาทำเป็น “Social Lab” ในมหาวิทยาลัย โดยการนำศาสตร์พระราชาด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้และดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

ซึ่งแนวทางที่นำเสนอนี้เห็นว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละแห่งจะมีความโดดเด่นและมีความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเองตามศักยภาพและขีดความสามารถที่มีอยู่ มหาวิทยาลัยราชภัฏก็จะกลายเป็นมหาวิทยาลัยในแนวทางใหม่ที่มีพลังแห่งการเรียนรู้อย่างชัดเจน มีความร่วมมืออย่างแข็งขันกับชุมชนท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ เพื่อใช้ชุมชนเป็นฐานรากที่จะสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้เห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในฐานะเป็นคลังสมองทางวิชาการ (Think Tank) ของชุมชนและภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาหรืออาจจะมีส่วนดัดแปลงเทคโนโลยีให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนเพื่อสร้างคุณภาพทั้งนักศึกษาและชุมชนทั้งการศึกษา การฝึกทักษะวิชาชีพด้านต่างๆ และเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีการศึกษาตลอดชีวิต”

โดยเฉพาะการบริการวิชาการความรู้สู่ประชาชน ชุนชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

ผมจึงเห็นว่าหากมหาวิทยาลัยราชภัฏได้ดำเนินการให้มี “Social Lab” อย่างที่คาดหวัง ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีทั้งทุนทางทรัพยากรอย่างพร้อมเพรียง และต้องนำมาบริหารจัดการให้ถูกต้องรวมทั้งต้องมีการปรับตัวใหม่ ทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ และบุคลากรให้เป็นไปตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีการปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ (Mind set) และวิธีทำใหม่ โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของคณาจารย์ที่ไม่ยึดติดกับสาขา (ภาควิชา) จนเกินไป มีความยืดหยุ่นและบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่เป้าหมายการเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”

ข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือการทำให้อนาคตอันใกล้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ นั่นก็คืออย่างน้อยต้องเกิด
“หนึ่งราชภัฏ หนึ่ง Social Lab หรือ 2-3 Social Lab” ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นฐานการพัฒนาท้องถิ่นที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

เป็นการพัฒนาคุณภาพของคนในชุมชนจากฐานราก การสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยให้เข้มแข็ง และจะนำไปสู่การทำให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงต่อไป

 

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image