เอกชนสนใจสิทธิเอฟทีเออาเซียน–ฮ่องกง ก่อนใช้จริง ม.ค.62

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “ASEAN–Hong Kong FTA โอกาสทางการค้าเพื่อเปิดตลาดสู่แดนมังกร” จัดโดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง เพื่อเตรียมความพร้อมและชี้โอกาสให้แก่ผู้ประกอบการ ในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน ว่า ที่เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทย ทั้งที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วกับฮ่องกง และสนใจจะทำธุรกิจและเข้าไปลงทุนในฮ่องกง

ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญของไทย มีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าและการลงทุนไปสู่ตลาดใหญ่อย่างจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและฮ่องกง ได้ลงนามแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562

โดยในการเปิดเสรีระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง แบ่งการเปิดตลาดสินค้า 5 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าที่ลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 3 ปี นับจากปี 2562 (6,364 รายการ เช่น ทองคำ วงจรพิมพ์ ยางสังเคราะห์) สินค้าที่ลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี จำนวน 1,750 รายการ เช่น พลาสติก เสื้อผ้า สินค้าที่ลดภาษีเหลือ 0-5% ภายใน 12 ปี จำนวน 435 รายการ เช่น รองเท้า ผลิตภัณฑ์แผ่นรีดทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เจือ รถบรรทุก สินค้าที่ลดภาษีเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50% ภายใน 14 ปี จำนวน 650 รายการ เช่น น้ำผลไม้/น้ำผักสำหรับเด็ก รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล ลวดและเคเบิล) และสินค้าที่ไม่ลดภาษี จำนวน 359 รายการ เช่น กระดาษ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า กระเทียม ขณะที่ฮ่องกงผูกพันทุกรายการสินค้าที่ 0% ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจและแน่นอนในการทำการค้าของผู้ประกอบการไทยและอาเซียน เพราะฮ่องกงจะไม่สามารถขึ้นภาษีเกิน 0% กับอาเซียนได้

ในส่วนของการเปิดตลาดเสรีการค้าบริการและการลงทุนไทยอนุญาตให้ผู้ให้บริการของฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทย จำนวน 74 สาขาย่อย เช่น สาขาบริการให้คำปรึกษาในการร่างเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ไม่รวมกฎหมายในประเทศ) สาขาบริการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สาขาบริการวิดีโอเท็กซ์ และสาขาบริการให้เช่าวงจร เป็นต้น ขณะที่ฮ่องกงอนุญาตให้ผู้ให้บริการของไทยเข้ามาลงทุนในฮ่องกงได้ จำนวน 77 สาขาย่อย โดยให้ไทยถือหุ้น 100% แบบไม่มีเงื่อนไขในสาขาบริการด้านการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ นับว่าเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขาบริการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์จะเข้าไปลงทุนธุรกิจบริการดังกล่าวในฮ่องกง

Advertisement

ในด้านการลงทุน ความตกลงครอบคลุมทั้งเรื่องการคุ้มครองการลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนให้กับนักลงทุนของอาเซียนและฮ่องกง อาทิ คุ้มครองนักลงทุนหลังจากที่ได้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจ การปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับนักลงทุนในประเทศ กระบวนการยื่นขออนุมัติการลงทุนที่สะดวกขึ้น และการส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง เป็นต้น

นางอรมนกล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับจากความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ในส่วนของการค้าสินค้านั้น นอกจากฮ่องกงจะไม่สามารถขึ้นภาษีสินค้าที่ส่งออกจากอาเซียนได้แล้ว การลดภาษีสินค้ายังเป็นการสนับสนุนโอกาสทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น รวมทั้งความตกลงมีกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่รัดกุมทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่มีความกังวล ในประเด็นการสวมสิทธิของสินค้าจากประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ การเปิดตลาดการค้าบริการจะช่วยยกมาตรฐานภาคบริการของไทยโดยการเคลื่อนย้ายผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกงมาไทย อาทิ ด้านกฎหมายและด้านการเงิน ขณะที่นักลงทุนไทยสามารถถือหุ้นได้ 100% ในสาขาบริการด้านสื่อโสตทัศน์ที่ไทยเรียกร้อง ซึ่งไทยอาจพิจารณาลงทุนตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการจัดจำหน่าย ทั้งภาพยนตร์ วีดิทัศน์ วิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงการร่วมมือกับฮ่องกงในด้านธุรกิจภาพยนตร์และละครเพื่อมุ่งไปสู่ตลาดใหญ่อย่างจีนได้
สำหรับการลงทุน ความตกลงจะช่วยขจัดอุปสรรคการลงทุนระหว่างไทยและฮ่องกง เพื่อให้นักลงทุนทั้งสองฝ่ายมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม นอกจากนี้ นักลงทุนไทยจะได้รับความสะดวกทางด้านการเข้าถึงข้อมูลและกฎระเบียบในกรณีเข้าไปลงทุนในฮ่องกง ขณะเดียวกันความสะดวกดังกล่าวยังกระตุ้นให้นักธุรกิจฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่ง ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และบริการธุรกิจ ที่ฮ่องกงมีศักยภาพ

ปัจจุบัน ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย ในปี 2560 โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกง 15.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.42% จากปี 2559 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปฮ่องกง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สินค้านำเข้าจากฮ่องกง ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์อัญมณีและเครื่องประดับ และผ้าผืน การลงทุนปี 2560 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเป็นอันดับที่ 8 จำนวน 41 โครงการคิดเป็นมูลค่า 7.16 พันล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image