กนง.กางทิศทางเศรษฐกิจไทย ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง สวนทางรายได้ไม่เพิ่ม

แฟ้มภาพ

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 0 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม นั้น ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยได้รับแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากครัวเรือนรายได้ปานกลางและสูงเป็นสำคัญ และการจ้างงานมีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้าง

การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากความชัดเจน ด้านการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) หลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้การลงทุนภาครัฐบางโครงการล่าช้าไปบ้าง

ในรายงานระบุอีกว่า ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของรายได้กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างใกล้ชิด โดยรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นกระจุกอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง ซึ่งช่วยสนับสนุนให้การบริโภคกลุ่มสินค้าคงทนขยายตัวได้ ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังมีรายได้ทรงตัว และมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภค สำหรับครัวเรือนเกษตรกร แม้ผลผลิตโดยรวมจะขยายตัว แต่กำลังซื้อเริ่มปรับดีขึ้นเฉพาะกลุ่ม ตามราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิและมันสำปะหลัง

ทั้งนี้ กนง. มีความเห็นประเด็นหนี้ครัวเรือน โดยเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จะเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับลดหนี้อย่างชัดเจน ขณะที่หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง และลดลงค่อนข้างช้าเมื่อเปรียบเทียบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สะท้อนว่าส่วนหนึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข และมีการตั้งข้อสังเกตว่าระยะเวลาสัญญาของสินเชื่อเพื่อการบริโภคในระบบการเงินไทยโดยรวมสั้นกว่าในต่างประเทศ หากระยะเวลาสัญญาของสินเชื่อยาวนานขึ้น อาจทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อเดือนลดลง ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เหลือสำหรับใช้จ่ายและบริโภคในปัจจุบันมากขึ้น

Advertisement

รายงานข่าวฯ ระบุอีกว่า สำหรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยรวมจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและประเทศคู่ค้าไม่มาก แต่ผลกระทบจะต่างกันไปในแต่ละประเภทสินค้าอย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตรวมทั้งธุรกิจไทย ซึ่ง กนง.จะติดตามพัฒนาการของนโยบายและการเจรจาทางการค้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีผลกระทบรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้รวมทั้งมีนัยต่อความเชื่อมั่นทั้งด้านบรรยากาศการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ และภาวะตลาดการเงิน

สำหรับด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในอนาคต ซึ่งกนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนโดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายการค้าระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมหลักและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนทิศทางราคาน้ำมัน กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว และนัยต่ออัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละมิติอย่างใกล้ชิดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image