‘กสทช.-อย.’โชว์ผลสอบโฆษณาผิดกม.ส่อดีขึ้น-แต่สื่อวิทยุและเว็บไซต์ยังน่าห่วง(มีคลิป)

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561 เป็นสัปดาห์ที่ 4 ที่สำนักงาน กสทช.ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ พบว่าเป็นสัปดาห์แรกที่ไม่พบทีวีดิจิตอลที่กระทำผิด ส่วนช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม/เคเบิลทีวี มีช่องใหม่ที่เพิ่มเพียง 1 ช่อง ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีหลังจาก สำนักงาน กสทช. และ อย. ได้ทำงานเชิงรุกร่วมกันต่อเนื่อง แต่ในสื่อวิทยุกลับพบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายบางสถานี

พลโท ดร.พีระพงษ์ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีเนื้อหาโฆษณาผิดกฎหมาย ที่พบในสื่อโทรทัศน์และวิทยุสัปดาห์นี้ มีจำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ คือ 1.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำนมหัวปลีผสมอินทผลัม (สูตรดั้งเดิม) ตรา มิลค์ พลัส แอนด์ มอร์ 2.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำนมหัวปลีผสมอินทผลัม (สูตรขิง) ตรา มิลค์ พลัส แอนด์ มอร์ 3.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำนมหัวปลีผสมอินทผลัม (สูตรมะขาม) ตรา มิลค์ พลัส แอนด์ มอร์ 4.ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สกินยูน ออริจินัล จิน เซ็ง โกลด์ เซรั่ม 5.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันถั่วดาวอินคา ตราเป็นเอก 6.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ธันย์ 7.เครื่องสำอาง aliz paulin 8.ผลิตภัณฑ์ตังถั่ง-ซาร์น 9.ผลิตภัณฑ์คอร์ดีน่า 10.ผลิตภัณฑ์พรหม เรด วัน และ 11. ผลิตภัณฑ์ดี-ทีน่า

ส่วนการโฆษณาผ่านเว็บไซต์ที่พบว่า มีการกระทำผิดมีจำนวนทั้งสิ้น 30 URL เป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มยาสมุนไพรบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง ยาทำแท้ง ขับเลือด ขับประจำเดือน และผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพเพศชาย

Advertisement

นายสมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์นี้ ยังคงพบโฆษณาที่ผิดกฎหมายอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าเป็นยารักษาโรค ซึ่งเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ถือเป็นการสื่อข้อความที่เป็นเท็จ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการโฆษณาทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นลักษณะการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจว่ามีผลต่อโครงสร้างของร่างกาย ส่วนโฆษณาผ่านเว็บไซต์พบการโฆษณาขายยาทำแท้งหลายรายการ ยาถือเป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้ขายในเว็บไซต์ หรือนอกสถานที่ขายยาได้ โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น จึงขอเตือนประชาชน ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต หรือทางเว็บไซต์ ต่าง ๆ เพราะเสี่ยงทั้งได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นายสมชาย กล่าวว่า นอกจากนี้ อย. ยังได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทาง โซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 20 พฤษภาคม 2561 มีทั้งสิ้น 1,537 เรื่อง ร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณา 783 เรื่อง แบ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ 44 เรื่อง เครื่องสำอาง 149 เรื่องยา 178 เรื่อง อาหาร 401 เรื่อง และอื่น ๆ 9 เรื่อง ซึ่งมีการดำเนินการแล้วทุกเรื่อง เช่น ทำหนังสือแจ้งปิดเว็บไซต์ไปที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เฉพาะรายที่เข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม.14(1) และ ม.20 แจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับ รวมถึงส่งเรื่องให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อสืบหาผู้กระทำผิด เพื่อขยายผลไปยังแหล่งผลิตและจำหน่ายต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ตามกฎหมายระบุว่า สามารถจำหน่ายยา ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น การจัดจำหน่ายยาบนเว็บไซต์จึงผิดกฎหมาย ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติยามีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และนอกจากนี้จะพ่วงกับความผิดในเรื่องของการโฆษณายาด้วยซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image