คอลัมน์ Cloud Lovers : ปรากฏการณ์ ‘อาทิตย์ 5 ดวง’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

หากมีคนบอกว่าเห็น “ดวงอาทิตย์ 5 ดวง” บนท้องฟ้าตอนกลางวันนี่ คุณผู้อ่านจะเชื่อไหม?

“ดวงอาทิตย์ 5 ดวง” หมายถึง ดวงอาทิตย์จริง 1 ดวง แถมด้วยจุดแสงสว่างจ้าอีก 4 จุด มีสองจุดอยู่ข้างซ้ายและขวาของดวงอาทิตย์ ส่วนอีกสองจุดอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เยื้องไปทางซ้ายและขวา จุดสว่างทั้งหมดนี้อยู่บนเส้นวงกลมสีขาวขุ่นซึ่งลากผ่านดวงอาทิตย์และขนานไปกับขอบฟ้ารอบทิศ นอกจากนี้ยังอาจมีโค้งหงายสีรุ้งอยู่เหนือดวงอาทิตย์อีกด้วย

เพื่อให้ชัดเจน ขอแนะนำให้ชมคลิปที่ท้ายบทความกันก่อนครับ

Advertisement

จริงๆ แล้วปรากฏการณ์อาทิตย์ 5 ดวงเกิดขึ้นเป็นระยะครับ ฝรั่งมีบันทึกย้อนไปอย่างน้อยเกือบ 400 ปี ว่าเคยเกิดที่กรุงโรม แต่ถึงตอนนี้ใครๆ ก็มีมือถือถ่ายภาพได้ ปรากฏการณ์นี้จึงถูกบันทึกได้บ่อยขึ้น กรณีที่ใกล้เราคือเมื่อ 3 ปีก่อน ในวันพุธที่ 1 เมษายน 2558 มีคนถ่ายคลิปอาทิตย์ 5 ดวง ได้ที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชา แถมมองเห็นได้จากในแถบบ้านเราด้วย (ข้อมูลจากคุณ Wiruch Yubhiyo สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ ซึ่งทำงานอยู่ที่ด่านบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี)

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้คืออะไร?

คำตอบคือ จุดแสงสว่างทั้ง 4 จุด เส้นวงกลม และแถบโค้งหงายสีรุ้ง ต่างก็เป็น อาทิตย์ทรงกลดรูปแบบต่างๆ ในกรณีอาทิตย์ 5 ดวงที่พระตะบองนี้ เราเข้าใจได้โดยใช้ผลึกน้ำแข็งรูปแผ่นแบนๆ ทำหน้าที่หักเห (หรือสะท้อน) แสงออกไปในทิศทางต่างๆ ลองมาดูทีละแบบครับ

Advertisement

⦁ จุดแสง 2 ข้างของดวงอาทิตย์ คือ ซันด็อก (sundogs) ซึ่งผมเคยเล่าไว้แล้วในเรื่อง “ตามหา ‘หมาน้อย’ ลอยฟ้า” อ่านได้ที่ www.matichon.co.th/news/712104 กลไกการเกิดซันด็อกดูภาพที่ 1

ภาพที่ 1 : กลไกการเกิดซันด็อก

⦁ เส้นวงกลมสีขาวขนานไปกับขอบฟ้า คือ วงกลมพาร์ฮีลิก (parhelic circle) ก็เคยเล่าไว้แล้วในเรื่อง “Parhelic circle ทรงกลดวงกลมแสนพิเศษ” อ่านได้ที่ www.matichon.co.th/news/701114

⦁ เส้นโค้งหงายสีรุ้ง คือ CZA ชื่อเต็มคือ เส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (circumzenithal arc) ก็เล่าไว้แล้วในเรื่อง “ชวนรู้จักการทรงกลดแบบ ‘รอยยิ้มสีรุ้ง’” อ่านได้ที่ www.matichon.co.th/article/news_95996 ส่วนการเกิด CZA ดูจากภาพที่ 2 ครับ

ภาพที่ 2 : เส้นทรงกลดแบบ CZA และกลไกการเกิด

⦁ จุดแสงอีก 2 จุด ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ออกไป หากวัดด้วยมุมบนวงกลมโดยให้ดวงอาทิตย์อยู่ที่ 0 องศา จะพบว่าจุดแสงทั้งสองอยู่ที่ 120 องศาทางซ้ายและทางขวา จึงเรียกว่า พาร์ฮีเลียน 120 องศา (120-degree parhelion) ถ้าเรียกรวมกันก็คือ พาร์ฮีเลีย 120 องศา (120-degree parhelia) ดูภาพที่ 3 ครับ

ภาพที่ 3 : จุดแสงพาร์ฮีเลียน 120 องศา และกลไกการเกิด (เส้นสีขาวคือส่วนหนึ่งของวงกลมพาร์ฮีลิก)

ภาพที่ 4 สรุปปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมใช้โปรแกรม HaloPoint 2.0 เพื่อจำลองเหตุการณ์ โดยกำหนดให้ดวงอาทิตย์อยู่สูงจากขอบฟ้า 25 องศาครับ

ภาพที่ 4 : ปรากฏการณ์อาทิตย์ 5 ดวง ที่พระตะบองจำลองด้วยคอมพิวเตอร์
ภาพและการคำนวณ: บัญชา ธนบุญสมบัติ

อาทิตย์ทรงกลดแบบแปลกๆ มักจะมาแบบไม่ได้ทันตั้งตัว แต่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน จะมีโอกาสเกิดได้บ่อยกว่าช่วงอื่น หมั่นมองท้องฟ้าบ่อยๆ จะมีเรื่องสนุกๆ ให้เรียนรู้มากมายเชียวครับ 😀

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ชมคลิปปรากฏการณ์ “อาทิตย์ 5 ดวง ที่พระตะบอง” โดยค้น YouTube ด้วยคำว่า five suns + Cambodia หรือ five suns + Battambang หรือสแกน QR Code

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image