ลบครหาเกณฑ์แต่งตั้งตำรวจเอื้อคนพิเศษชักบันไดหนี ‘มีชัย’ ผุดสูตรใหม่ นายพลโตช้า-นายพันโตไว

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .. หรือกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา เริ่มลงรายมาตราในหมวดการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งระดับต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการบัญญัติหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ในกฎหมายหลัก ระดับพ.ร.บ.เป็นครั้งแรก จากที่เคยบัญญัติอยู่ในกฎหมายลำดับรอง อาทิ กฎก.ตร. หรือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางบุคคลเป็นพิเศษ

“การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรแรกเข้า ที่ไม่ใช่ตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ ให้ดำรงตำแหน่งในส่วนราชการใด ให้ดำเนินการดังนี้ 1. ถ้าผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรสูงสุดมีสิทธิเลือกก่อนตามลำดับ 2. ถ้าผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้ ให้ผู้ที่สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้เป็นลำดับที่ 1 มีสิทธิเลือกก่อนเรียงตามลำดับไป หากมีกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ให้ดำเนินการตามวิธีการที่ก.ตร.กำหนด”นายคำนูณ กล่าว

กรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรในระดับตำแหน่งต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้ 3 เกณฑ์ คือ 1.ระยะเวลา 2.พื้นที่ 3.การประเมินรายบุคคล

“เริ่มต้นจากเกณฑ์ระยะเวลา ได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรแต่ละคนจะต้องอยู่ตำแหน่งในแต่ละลำดับชั้นให้ครบก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งในลำดับชั้นที่สูงขึ้น ดังนี้ 1. ตำแหน่งสารวัตร จะต้องดำรงตำแหน่งรองสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี
2. ตำแหน่งรองผู้กำกับการ จะต้องดำรงตำแหน่งสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี
3. ตำแหน่งผู้กำกับการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี
4. ตำแหน่งรองผู้บังคับการ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี
5. ตำแหน่งผู้บังคับการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี
6. ตำแหน่งรองผู้บัญชาการ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
7. ตำแหน่งผู้บัญชาการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
8. ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
9. ตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
นั่นหมายความว่า ตามเกณฑ์ระยะเวลาทั่วไปนี้ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรจะต้องดำรงตำแหน่งระดับชั้นต่าง ๆ อย่างน้อย 33 ปีจึงจะมีโอกาสได้เป็นแคนดิเดตตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”นายคำนูณ กล่าว
และว่า หากข้าราชการตำรวจแรกบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรหลังจบปริญญาตรีมีอายุ 22 ปี ก็จะมาอยู่ในตำแหน่งแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะมีอายุอย่างน้อย 55 ปี

“เหตุผลสำคัญที่สุดในการกำหนดเกณระยะเวลาขั้นต่ำในการดำรงตำแหน่งแต่ละระดับชั้นไว้ในกฎหมายหลักระดับพ.ร.บ. เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางบุคคล ซึ่งเคยเกิดข้อครหาวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วในอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนหรือพยามเปลี่ยนกฎก.ตร.ว่าด้วยการนี้ ในลักษณะเสมือนเป็นการลดระยะเวลาระดับบน เพิ่มระยะเวลาระดับล่าง จนเกิดเป็นศัพท์แสลงบางคำ อาทิ ‘ต่อยอดทอดสะพานสูง’ หรือ ‘ชักบันไดหนี’ “กรรมการปฏิรูปกล่าว

Advertisement
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า สำหรับ เกณฑ์พื้นที่นั้น จะได้พิจารณาว่าการแต่งตั้งในระดับสารวัตรขึ้นไปจนถึงระดับรองผู้บังคับการให้พิจารณาจากผู้มีคุณสมบัติที่รับราชการอยู่ในภายในภาคเดียวกันเท่านั้น ส่วนเกณฑ์การประเมินรายบุคคลนั้นจะได้กำหนดให้ข้าราชการตำรวจแต่ละคนมีคะแนนประจำตัวถ่วงน้ำหนักจาก 3 กรอบ คือ อาวุโส ผลงาน และความพึงพอใจของประชาชน

ทั้งนี้ตามกฎก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2561 นั้น เมื่อเทียบกับแนวทางใหม่ที่จะตราในร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ พบว่า นายตำรวจสัญญาบัตรใช้เวลาในการเป็นแคนดิเดตผบ.ตร.นานขึ้น 1 ปี จากเดิมใช้เวลาอย่างน้อย 32 ปี เป็นอย่างน้อย 33 ปี แบบเดิมจากรองสารวัตร ขยับเป็นผบก.ยศ พล.ต.ต. ใช้เวลาอย่างน้อยเพียง 23 ปี แต่แนวทางใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 27 ปี จึงจะมีโอกาสเป็นนายพล ขณะที่เมื่อขึ้นเป็นนายพลแล้วตามกฎก.ตร.ที่ใช้ในปัจจุบันในเวลาอย่างน้อย 5 ปี จากผบก. มีสิทธิลุ้นตำแหน่งผบ.ตร.แต่แนวทางใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image