ความต้องการอยากเลือกตั้งของ ‘คนเมือง’ กับ ‘คนท้องถิ่น’

เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งทุกระดับที่จะมีขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติหนล่าสุดเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อ้างถึงความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

จากวันนั้นมาจนถึงเมื่อ 5 มิถุนายน 2561 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ล่าสุดถึงการเตรียมการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทั้งหมด 7,852 แห่งหมดวาระทั้งหมดแล้วตั้งแต่สิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น และความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งที่สรุปได้ภาพชัดเจนมากขึ้นว่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นจำนวน 6 ฉบับ มีความรุดหน้ามากขึ้น คาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะประเดิมก่อนภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

แต่การที่กฎหมายท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับจะต้องถูกประกาศใช้ในเวลาต่อมา ยังมีกฎหมายบางอย่างที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับแก้ไขไปด้วยในแบบเดียวกับที่ขณะนี้พรรคการเมืองต่างเรียกร้องคือให้มีการปลดล็อก โดยเฉพาะประกาศ คสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ระบุถึงการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งในประเด็นที่นักการเมืองท้องถิ่นเจอคำสั่งมาตรา 44 และการถูกตั้งสอบของกระทรวงมหาดไทยนั้น ยังติดล็อกอย่างเหนียวแน่น

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังยืนยันชัดภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โรดแมปการเลือกตั้งจะไม่เลื่อน ทันกรอบเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน ไม่มีการใช้อำนาจมาตรา 44 เข้ามาเร่งใดๆ รวมทั้งการหารือพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้

Advertisement

ดังนั้น กลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองเป็นผู้หนุนหลังที่จะจัดผู้สมัครลงชิงเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาอบจ.ทั้ง 76 จังหวัดจึงน่าจะเกิดขึ้นก่อนท้องถิ่นอื่น คสช.อาจต้องปลดล็อกคำสั่งบางอย่างเพื่อคลี่คลายให้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกิดอาการสะดุด ทั้งการหาตัวผู้สมัคร การหาเสียงต่างๆ ที่ท้องถิ่นถือว่ามีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง เป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เลือกผู้แทนเข้ามาดูแลชุมชนของเขา

ความคึกคักของการเลือกตั้งท้องถิ่นแตกต่างจากเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯและรอบปริมณฑลอย่างลิบลับ เนื่องจากภาครัฐต่างอัดงบประมาณทำโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ป้อนเข้าไปให้ทั้งหมด ทั้งรถไฟฟ้าทุกประเภท ถนนหนทางตัดใหม่มากมาย ระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน ไม่นับการลงทุนเม็ดเงินมหาศาลของภาคเอกชนทั้งการสร้างแหล่งช็อปปิ้งมหึมา คอนโดฯผุดขึ้นมากมายที่อยู่ตามรายทางของรถไฟฟ้าทั้งหลาย สนองตอบเต็มที่ สิ่งเหล่านี้คนในกรุงไม่จำเป็นต้องเรียกร้องเหมือนกับที่คนต่างจังหวัดเรียกร้องจากผู้บริหารท้องถิ่นช่วยสร้างถนนหนทางในหมู่บ้านให้สัญจรไปมาสะดวก ขนส่งพืชผลทางการเกษตรและเด็กเล็กลูกหลานเดินทางไปโรงเรียนสะดวก เป็นต้น

เห็นได้ว่าความกระตือรือร้นหรือความสนใจที่จะอยากจะให้มีการเลือกตั้งระหว่างคนเมืองกับท้องถิ่นจึงแตกต่างกัน คนในต่างจังหวัดเหมือนมีเป้าหมายในการดำรงชีวิตกลับมาอีกครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชุมชน

Advertisement

แต่คนในท้องถิ่นก็จะส่งสัญญาณชัดเจนในทำนองเดียวกันว่า ผู้ที่จะมาเสนอตัวเป็นนายกฯท้องถิ่นจะต้องมีฝีมือ ความตั้งใจ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง พร้อมจะช่วยพัฒนาบ้านเมืองนั้นๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมสมกับที่หยุดนิ่งไปนาน เพราะเห็นแล้วว่า การที่ขาดการพัฒนาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและได้ผู้บริหารที่คดโกงหลงอำนาจ ไม่ดูแลลูกบ้าน มาก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image