โครงการอาหารกลางวัน ‘โยนบาปให้ครู’ หรือ ‘งบต่อหัวไม่เพียงพอ??’

หลังจากมีข่าวทางโซเชียล เกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวัน ขนมจีนคลุกน้ำปลา ไม่เหมาะสมกับเงิน 20 บาทต่อหัว ผู้บริหารถูกตั้งข้อหาบริหารเงินไม่โปร่งใส อาจต้องออกจากราชการ
หากจะพิจารณาโดยไม่มองว่า ใครผิดใครถูก ผู้บริหารคนนั้น บริหารเงินโปร่งใสหรือไม่โปร่งใส มีการยักยอกเงินจากค่าอาหารกลางวันมาเป็นเงินในกระเป๋าตัวเองหรือไม่ ผู้ที่รู้ที่แท้จริง คือเจ้าตัวหรือผู้บริหารคนนั้น ลองมาพิจารณาอีกครั้งเกี่ยวกับค่าของเงินยุคเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป เมื่อ 50 ปีผ่านมา ปลาทูเข่งละ 3 บาท หรือ 3-5 ตัว ราคา 5 บาท แต่ปัจจุบัน ปลาทูตัวละ 100 บาทก็มี มะนาว กิโลกรัมละ 1 บาท ปัจจุบันลูกละ 5 บาทก็มี ก๋วยเตี๋ยว ชามละ 1-3 บาท เมื่อเปรียบให้เห็นอย่างนี้แล้ว ในขณะที่รัฐจัดสรรเงินเป็นค่าอาหารกลางวัน หัวละ 20 บาทต่อมื้อเที่ยง 1 มื้อ จะมีอาหารชนิดใดบ้างให้เด็กกิน 1 มื้อ ให้มีสารอาหารครบ 5 หมู่
โรงเรียนหลายโรงเรียนสามารถนำเงิน 20 บาท มาบริหารจัดการให้เด็กได้กินอาหารอิ่ม มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ใช่ว่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปซื้ออาหาร แต่ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ช่วยกันสร้าง ช่วยกันปลูกพืชผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ในโรงเรียน แล้วนำผลผลิตที่ได้มาทำอาหารให้เด็กได้กิน โดยได้รับการช่วยเหลือจากเอกชนบ้าง จากมูลนิธิบ้าง จากครูช่วยกันเอาเงินเดือนส่วนหนึ่งช่วยซื้ออาหารให้เด็กบ้าง ทั้งนี้การได้มาซึ่งวัสดุทำอาหารกลางวันนั้น โรงเรียนต้องมีปัจจัยพื้นฐานมาก่อน เช่น บริเวณโรงเรียนมีสระน้ำ มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีครูเพียงพอ

แต่มีบางโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นกันดาร สระน้ำก็ไม่มี ประปาก็ไม่มี เมื่อทำการเกษตรจะมีเอาน้ำที่ไหนมารดพืชผัก จะเอาน้ำที่ไหนมาเลี้ยงปลา เงินที่รัฐจัดให้หัวละ 20 บาท จะออกไปซื้ออาหารก็ไกล ต้องใช้น้ำมันเติมรถออกไปซื้อ จะซื้อแม่ค้าที่เร่ขายก็ขายแพง จะซื้ออาหารถุง ก็ถุงละ 40 บาท 20 บาทไม่ขาย และที่ดีก็คงได้แค่ซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวไปนึ่ง ผัด คลุกน้ำปลาให้เด็กกิน ยังดีกว่าให้เด็กหิวโหย อย่างน้อยก็ประทังความหิวได้
ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ผู้บริหารมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน กับผู้นำหมู่บ้าน กับบริษัทเอกชน ขอความร่วมมือ ขอบริจาค เพื่อนำไปเป็นทุนปลูกผัก เลี้ยงปลา ภายในรั้วโรงเรียน และในโรงเรียนก็ได้รับความร่วมมือจากครูและนักเรียน เมื่อถึงชั่วโมงว่าง หรือชั่วโมงกิจกรรม ก็ให้เด็กช่วยกันลงแปลงเกษตร สร้างอาหารให้กับเด็กนักเรียนต่อไป โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณหัวหัวละ 20 บาทอีกต่อไป

สำหรับในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 มีโรงเรียน 2 แห่งที่ดำเนินการด้านเกษตรเพื่ออาหารกลางวันได้สำเร็จและเป็นแบบอย่างของโรงเรียน มีโรงเรียนบ้านคลองหว้า ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ และโรงเรียนบ้านแก้วเพชรพลอย ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา สามารถบริหารจัดการอาหารกลางวันให้เด็กได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ทุกคน รวมถึงอาหารเช้าให้เด็กที่ไม่ได้รับประทานข้าวก่อนมาโรงเรียนอีกด้วย
นายสุชิน ศรีทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองหว้า ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว สังกัด สพป.สระแก้ว เขต 2 เล่าว่า โรงเรียนบ้านคลองหว้าก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2512 ในพื้นที่ 33 ไร่เศษ มีครู 13 คน เปิดทำการสอน ตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 139 คน ที่มีการบริหารจัดการ ด้านอาหารกลางวัน เป็นแบบอย่างของโรงเรียนอื่น ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 กระทั่งมีชาวต่างชาติและคณะครู ผู้บริหารจากต่างจังหวัดมาดูงานจำนวนมาก โดยโรงเรียนบ้านคลองหว้าได้ดำเนินการจัดโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแบบยั่งยืน โดยเน้นเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ให้นักเรียนได้รับประทานอาหารครบทุกคนมากว่า 2 ปีแล้ว โดยมีการบริหารจัดการด้านเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จำนวน 7 ไร่ มีการปลูกพืชสวนครัว ทุกชนิด รวมทั้งไผ่หวาน ไผ่ตง ไม้ผล มีกล้วย มะละกอ มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม ขนุน นอกจากนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากนายมงคล ตั้งพงษ์ทอง สร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ให้ฟรี พร้อมมอบพันธุ์ไก่ไข่จำนวน 150 ตัว กับอาหารเลี้ยงไก่ไข่ ฟรีเป็นเวลา 1 ปี และยังเลี้ยงปลา จำนวน 8 บ่อ แต่ละบ่อจะมีปลาพันธุ์ชนิดต่างๆ บ่อละ 2,000-4,000 ตัว มีปลาดุก ปลานิล ปลาสวาย ปลาตะเพียน โดยพันธุ์ปลาเหล่านี้ได้รับความอนุเคราะห์จากประมงจังหวัดสระแก้ว และเครือข่ายของกลุ่มอาคเนย์ ทำให้เด็กในโรงเรียนมีอาหารกลางวันกินได้อย่างเพียงพอ

“ในปีการศึกษา 2561 โรงเรียนบ้านคลองหว้า ได้มีโครงการน้องอิ่มท้องสมองใส โดยนักเรียนที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามาจากบ้าน มีประมาณวันละ 7-8 คน เนื่องจากผู้ปกครองติดภารกิจ ทางโรงเรียนจะจัดเตรียมอาหารเช้าไว้ทุกวัน สำหรับอาหารกลางวัน วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี จะมีกับข้าว 2 อย่างให้นักเรียน ส่วนวันศุกร์จะเป็นก๋วยเตี๋ยวไข่ พร้อมนมกล่องและผลไม้ 1 อย่าง โดยนักเรียนจะได้รับประทานไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ฟอง หากกับข้าวเหลือจากอาหารกลางวัน จะให้นักเรียนที่ขาดแคลนนำกลับบ้านเพื่อรับประทานในมื้อเย็น สำหรับกิจกรรมที่นักเรียนและครูช่วยกันทำในพื้นที่ของโรงเรียน มีเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 150 ตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายของสถานศึกษาและภาคเอกชน ปลูกผักสวนครัวปลอดสาร ปลูกกล้วยน้ำว้า 150 ต้น เลี้ยงปลา 8 บ่อ ปลูกไม้ผลมีมะพร้าวน้ำหอม ฝรั่ง ขนุน พร้อมทั้งเพาะมะพร้าวน้ำหอมเพื่อจำหน่าย นำเงินที่ได้จัดซื้ออาหารกลางวันอีกด้วย”

Advertisement

“การบริหารจัดการตามโครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอครบถ้วน ไม่ใช่เรื่องง่าย ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียนในโรงเรียน ต้องอุทิศตน เสียสละเวลา หลายครั้งครูต้องควักเงินกระเป๋าไปซื้ออาหารให้เด็กได้กิน ด้วยรักและห่วงใยที่ครูมีต่อนักเรียน ดังนั้น ความเสียสละทำให้โครงการอาหารกลางวันได้รับความสำเร็จอย่างยั่งยืน”

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image