ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 8 ‘ค้นพบจิตรกรรม’

สภาพภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ มีจิตรกรรมฝาผนังวิจิตรพิสดาร

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”

Advertisement

สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

การค้นพบจิตรกรรมไทยครั้งใหม่

โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

หลายเดือนมาแล้ว ข้าพเจ้าได้เขียนคำนำ ลงในหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธรูปสมัยต่างๆของไทย ชื่อ “THAI MONUMENTAL BRONZES” แต่งโดย หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี และนายเขียน ยิ้มศิริ ข้าพเจ้าจึงขอหยิบยกข้อความตอนหนึ่งจากคำนำในหนังือนั้นมากล่าวไว้ ฯ ที่นี้ว่า ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์นั้น อาจเปลี่ยนแปรแก้ไขได้ โดยขึ้นอยู่แก่การค้นคว้าและการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ คำกล่าวนี้ ย่อมจะยืนยันได้ด้วยการค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังและพระพุทธรูปโบราณ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นไว้ เมื่อ ปีพุทธศักราช 1967 (ค.ศ.1424)

Advertisement

การค้นพบครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือมาแต่ก่อนเกี่ยวกับจิตรกรรมไทยสมัยโบราณ และเกี่ยวกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยาอันถือกันว่าเป็น “แบบฉบับแห่งชาติ” (National Style) ที่ได้ทำกันขึ้นในอยุธยานั้น มีอายุถอยหลังไปจากเดิมอีกประมาณ 150 ปี

คำที่เคยกล่าวมาแต่ก่อนว่า จิตรกรรมเขียนฝาผนังของไทยเพิ่งเริ่มต้นและเจริญรุ่งเรืองขึ้นในอยุธยา

ในเวลาที่งานประติมากรรมอยู่ในขั้นเสื่อมแล้วนั้น ย่อมเป็นที่ยืนยันได้จากงานศิลปกรรมที่ได้พบครั้งใหม่นี้ โดยอาศัยวัตถุที่เราค้นพบกัน (ในเวลานั้น) เราจึงกำหนดกันไว้ (แต่ก่อน) ว่าบรรดาภาพเขียนฝาผนังของไทยที่แสดงเรื่องพุทธประวัติและเรื่องชาดกต่างๆ นั้น เพิ่งมีอายุเริ่มแรกเพียงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 (กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16) เท่านั้น

จิตรกรรมในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

ครั้นเมื่อได้พบหลักฐานใหม่เป็นการตรงกันข้ามกับที่เราได้เชื่อถือกันมาแต่ก่อน ด้วยว่าการเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น ได้กระทำกันมาแล้วแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ดังนั้น จึงจำต้องกำหนดอายุเริ่มต้นงานจิตรกรรมของไทย ที่มีองค์ประกอบเป็นภาพรูปคนถอยหลังไปอีกจากเวลาที่เรากำหนดกันไว้แต่เดิมประมาณ 120 ปี

ภาพเขีนนฝาผนังที่น่าชมภายในกรุของพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ เขียนขึ้นเพื่อตกแต่งตัวกรุ 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก กว้าง 1.40 เมตร และสูง 2.75 เมตร อยู่ต่ำลงไปจากห้องภายในขององค์พระปรางค์ 3.40 เมตร เหนือพื้นดิน 1.50 เมตร

ส่วนล่างสุดของผนังกรุมีซุ้มคูหาทั้ง 4 ด้าน ในซุ้มคูหานี้ สันนิษฐานว่าสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์
พื้นผนังและซุ้มคูหาตลอดจนพื้นผนงด้านข้างของคูหา มีภาพเขียนรูปคน รูปสัตว์ และลวดลายดอกไม้เต็มไปหมด
เพดานกรุตกแต่งด้วยลายเขียนรูปวงกลมใหญ่ประดับประดาด้วยลายดอกไม้รูปทรงกลมคล้ายดอกมะลิบาน ล้อมรอบด้วยรูปวงกลมปิดทองซึ่งบางวงมีพระพุทธรูปนั่งองค์เล็กๆ เขียนด้วยเส้นสีแดงอยู่ภายในวงกลมปิดทองนั้น

ลวดลายซึ่งช่วยเสริมรูปวงกลมปิดทองให้เด่นนั้น คล้ายเป็นแบบจีนหรือเปอร์เซีย แต่ก็อาจเป็นการบังเอิญมาพ้องกันเข้าก็ได้ เพราะลวดลายแบบนี้เนศิลปะที่นิยมทำกันทั่วไปสำหรับชาวตะวันออก
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สภาพภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งมีคนร้ายลักลอบขุดกรุได้สมบัติมหาศาล เมื่อ พ.ศ. 2499
สภาพภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งมีคนร้ายลักลอบขุดกรุได้สมบัติมหาศาล เมื่อ พ.ศ. 2499

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image