ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ เงินเดือน 2.6 หมื่น ไม่ต้องเสียภาษี เกิน5ล้านเสียภาษี35%

People eat their lunch at a restaurant in Bangkok on June 17, 2015. AFP PHOTO / Nicolas ASFOURI

อนุมัติปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินเดือน 2.6 หมื่น ไม่ต้องเสียภาษี รายได้เกิน5ล้านเสียภาษี35% คนโสดยื่นแบบรายได้เกิน6หมื่น

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงโครงการบ้านประชารัฐว่า มีปัญหาอยู่หลายเรื่อง กำลังจัดหาที่ดินโดยกรมธนารักษ์จะเกิดในบางพื้นที่ก่อน พื้นที่ไหนที่มีพื้นที่อยู่จะเป็นการเช่าซื้อในระยะสั้นหรือระยะยาว โครงการบ้านข้าราชการให้เช่าซื้อได้ กำลังคิดอยู่ กำลังพิจารณาดำเนินการ มีการนำร่องอยู่บ้าง สงสารข้าราชการอยู่เหมือนกันเพราะมีรายได้น้อย ถ้าพูดถึงมีรายได้น้อยก็น้อยกันหมด แต่ทุกคนก็มีคนละกิจกรรม ถ้าบอกว่าชาวบ้านมีรายได้น้อย ข้าราชการมีรายได้เยอะกว่าจะคิดอย่างนี้ไม่ได้ ทุกคนมีหน้าที่ ไม่ได้ทำเพื่อตัวของเขาเองต้องเพื่อคนอื่นด้วย

“เรื่องการปรับภาษี วันนี้ต้องมาคลี่กันใหม่หมด ไม่ได้หมายความว่าไปรีดภาษีจากประชาชน เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคน คนจนไม่เดือดร้อน แต่รัฐจะต้องหาหนทางว่าจะมีรายจ่ายเพิ่มมาได้อย่างไรทดแทนรายจ่ายที่สูญเสียไป โดยใช้รูปแบบทางภาษีให้คนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นจะได้ไม่เลี่ยงกฎหมายกัน นี่คือสิ่งที่คิดไว้สองทาง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 20,000 บาท และไม่เคยมีที่อยู่อาศัยมาก่อนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง หรือเป็นการชั่วคราวบนที่ราชพัสดุในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมทั้งให้ผู้ที่ต้องการซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ สามารถซ่อมแซมหรือต่อเติมได้ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ทั้งนี้ ได้ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ให้เงินกู้อัตราผ่อนปรน ทั้งผู้ต้องการมีที่อยู่อาศัย และผู้ประกอบการ รวมกันเป็นวงเงิน 9,000 ล้านบาท แยกเป็นปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ 4,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยผ่อนปรน ไม่เกิน 2 ปี ส่วนอีก 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย 30 ปี โดยเอกชนที่ร่วมโครงการจะยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการเช่าที่ดินราชพัสดุและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนอง ให้ผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ถือว่าเป็นโครงการบ้านประชารัฐรุ่นที่ 2 จากเดิมที่ดำเนินการบนที่ดินของเอกชนจึงทำให้ต้องกำหนดราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แต่ครั้งนี้เป็นการสร้างบนที่ราชพัสดุจึงกำหนดราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท นำร่องในปี 2559 นี้ จำนวน 6 แปลง คือ ที่กรุงเทพฯ 2 แห่ง, อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 1 แห่ง, อ.แม่จัน จ.เชียงราย 1 แห่ง และที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 2 แห่ง รวม 4,000 ยูนิต ส่วนเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดจะเหมือนกับโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐรุ่นที่ 1 คือ ปีแรกไม่เสียดอกเบี้ย ปีที่ 2-3 คิดดอกเบี้ย 2% ปีที่ 4-6 คิดดอกเบี้ย 5% ปีที่ 7-30 คิดดอกเบี้ยลอยตัว

Advertisement

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2560 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ปีละ 32,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยืนยันว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% เนื่องจากขณะนี้งบประมาณยังเพียงพอ รวมถึงต้องดูการใช้จ่ายของประชาชนด้วย ส่วนในอนาคตหากเศรษฐกิจฟื้น หากมีความจำเป็นต้องขึ้นแวตจะต้องพิจารณาอีกครั้ง สำหรับโครงสร้างภาษีใหม่ที่ปรับปรุง คือ ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน สำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร จากเดิมที่ให้หักลดหย่อนคนละ 2,000 บาท กรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

นายอภิศักดิ์กล่าวด้วยว่า ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน ทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง เพียงประเภทเดียว หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผ่าน ครม.จะมีผลทำให้กลุ่มคนรวยที่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดที่ 35% มีภาระภาษีโดยรวมจะลดเหลือ 29% เนื่องจากช่วงเงินได้ใหม่ โดยจากเดิมเงินได้สุทธิมากกว่า 4 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 35% เป็นเงินได้มากกว่า 5 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 35% โดยมีการปรับช่วงเงินได้มากกว่า 2-4 ล้านบาท เดิมจ่ายภาษีอัตรา 30% เป็นมากกว่า 2-5 ล้านบาท จ่ายอัตรา 30% ส่วนขั้นรายได้อื่นๆ ยังคงเดิมคือรายได้สุทธิ 1-3 แสนบาท เสียภาษี 5% มากกว่า 3-5 แสนบาท เสียภาษี 10% มากกว่า 5-7.5 แสนบาท เสียภาษี 15% มากกว่า 7.5 แสนบาท-1 ล้านบาท เสียภาษี 20% มากกว่า 1-2 ล้านบาท เสียภาษี 25%

Advertisement

นายประสงค์กล่าวต่อว่า การปรับช่วงเงินได้ ทั้งสองช่วงดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดมีภาระภาษีลดลงในภาพรวม การคำนวณภาษีเงินได้ทำเป็นช่วงตามขั้นบันได ดังนั้น เมื่อมีการปรับช่วงรายได้ใหม่ ภาระภาษีของคนที่เคยเสียภาษีในอัตรา 35% เหลือเพียง 29% ซึ่งใกล้เคียงกับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่มีภาระภาษีรวมเงินปันผลที่อยู่ในระดับ 28%

นายประสงค์กล่าวว่า โครงสร้างภาษีใหม่ทำให้มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ต่อเดือนตั้งแต่ 2.6 หมื่นบาทเริ่มมีภาระภาษี จากก่อนหน้านี้ที่มีเงินได้ตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป นอกจากนี้ มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลจาก 40% ไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น 50% ไม่เกิน 1 แสนบาท และเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวจาก 3 หมื่นบาท เป็น 6 หมื่นบาท รวมถึงเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรจาก 1.5-1.7 หมื่นบาท เป็น 3 หมื่นบาท และไม่จำกัดจำนวนบุตรจากเดิมจำกัดไว้เพียง 3 คน

“การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ ทำให้คนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ แต่การที่จะพูดว่ากลุ่มใดได้รับประโยชน์มากกว่ากันนั้นเป็นเรื่องที่พูดยาก เนื่องจากภาระภาษีที่ลดลงมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับฐานเงินได้ โครงสร้างภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2561” นายประสงค์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image