รู้ทัน! สถานการณ์ขอทาน ปี2559 เท่าทัน ‘ต่างด้าว’ หากินบนความใจดีคนไทย

(ภาพประกอบ)

ไทยกำลังปรับปรุงกฎหมายควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 ล่าสุดอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา สาระสำคัญกฎหมายนี้อยู่ที่การแยกคนขอทานกับวณิพกออกจากกัน วณิพกไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลฟื้นฟู ตาม พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 รวมถึงการแยกกลุ่มศิลปินพิการแต่มีความสามารถทางด้านดนตรี แสดงเปิดหมวกในที่สาธารณะต่างๆ ไม่ผิดกฎหมาย เพียงต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นนั้น ที่เหลือในกฎหมายขอทานใหม่เป็นการปรับปรุงข้อกฎหมายให้ทันยุคสมัย เช่น อัตราค่าปรับ จำคุกทั้งตัวขอทานและนายหน้าบังคับขอทาน

ระหว่างที่กฎหมายใหม่รอประกาศใช้ สถานการณ์คนขอทานกลับไม่รอ นับวันยิ่งพัฒนารุดหน้าไป ตามหลักอุปสงค์อุปทาน ตราบใดที่คนไทยยังชอบทำบุญ สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร

นางเสาวนีย์ โขมพัตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะโฆษก พม.กล่าวว่า จากการจัดระเบียบขอทานทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาคมาแล้ว 6 ครั้ง โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) พบขอทานรวมทั้งสิ้น 4,021 คน แบ่งเป็นขอทานไทย 2,558 คน ขอทานต่างด้าว 1,463 คน โดยขอทานต่างด้าวที่พบมากสุดคือ กัมพูชา 1,267 คน เมียนมา 98 คน และ สปป.ลาว 6 คน ทั้งนี้ พม.กำลังเดินหน้าจัดระเบียบครั้งที่ 7 ควบคู่ไปกับการทำวิจัยเชิงปฏิบัติจากประชาชนในกรุงเทพฯที่ต้องเจอขอทานมากที่สุด เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำเป็นฐานข้อมูล ในการวางแผนกลยุทธ์การรณรงค์ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน

จากสถิติจะเห็นว่าขอทานส่วนใหญ่มาจากประเทศกัมพูชา จริงๆ เรื่องนี้รัฐรู้มานานแล้ว แต่ทำไมรัฐถึงยังจัดการไม่ได้

Advertisement

นางขวัญวงศ์ พิกุลทอง รองอธิบดี พส.เล่าว่า จากการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.สระแก้วถึงสถานการณ์ขอทานกัมพูชาเมื่อเร็วๆ นี้ พบเส้นทางการเข้ามาขอทานในไทยที่เข้ามาในลักษณะครอบครัว พ่อเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายมาทำงาน แม่และลูกเข้ามาผิดกฎหมายเพื่อมาขอทานเลี้ยงครอบครัว การผ่านแดนมีทั้งทำบัตรผ่านแดนรายวันแล้วหลบหนีมาขอทาน และเข้าทางด่านธรรมชาติ ซึ่งเป็นพรมแดนยาวตั้งแต่ จ.สระแก้ว สุรินทร์ ตราด เป็นเส้นทางที่คนกัมพูชาเข้ามารับจ้างรายวัน ทั้งนี้ แม้ช่องทางธรรมชาติจะมีทหารควบคุมเป็นจุดๆ แต่กลุ่มขอทานได้แฝงตัวเข้ามากับแรงงานรายวัน แล้วหลบหนีเข้า

เมืองมาขอทาน เมื่อถูกจับส่งกลับก็จะหาเช่าบ้านบริเวณชายแดนกัมพูชาเดือนละ 500-600 บาท เพื่อหาช่องทางกลับเข้ามาขอทานใหม่ โดยมีนายหน้ากัมพูชาติดต่อและพาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และติดต่อรถรับจ้างรับไปส่งจุดหมาย สำหรับจังหวัดในกัมพูชาที่มีคนเข้ามาขอทานมากคือ ไปรเวง สวายเรียง พระตะบอง และกัมปงจาม

“เดี๋ยวนี้มีขบวนการไปซื้อตัวคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือคนยากจน โดยตกลงให้มาขอทานในเมืองไทย แต่จะมีเงินให้ครอบครัวขอทานเป็นรายเดือน ส่วนตัวขอทานที่ทำงานในไทยก็ตกลงกันว่าจะถูกหักรายได้อย่างไร แต่บางรายกลับไม่ได้รับเงินทั้งยังถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มหิ้วแขก ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพาคนกัมพูชาหลบหนีเข้ามาขอทานในไทย โดยจะมีการนัดแนะตามด่านผ่านแดนและมีรถมารับไปยังจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้ยังพบปัญหาแทรกซ้อนโดยเริ่มมีนายหน้าชาวเวียดนามนำคนกัมพูชาเข้ามาขอทานในไทย” นางขวัญวงศ์กล่าว

Advertisement

ขณะที่ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดี พส.กล่าวถึงการแก้ปัญหาขอทานชาวกัมพูชาว่า พส.กำลังทำข้อตกลงความร่วมมือการแก้ปัญหากับองค์กร Friend International ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอที่ดูแลแก้ปัญหาผู้ด้อยโอกาสที่กัมพูชา โดยจะเป็นการแก้ปัญหาขอทานอย่างเป็นระบบ เมื่อทางไทยจับกุมและผลักดันกลับประเทศต้นทางคือกัมพูชาแล้ว องค์กร Friend ก็จะมีหน่วยงานที่คอยดูแลหรือเตรียมครอบครัวที่จะรองรับ รวมทั้งการให้ความรู้ให้การศึกษาเพื่อบล็อกไม่ให้คนเหล่านี้กลับเข้ามาขอทานซ้ำในประเทศไทย

“ที่เรากังวลคือเด็กที่โตขึ้นเรื่อยๆ ที่เดิมมาขอทานกับพ่อแม่ วันนี้จะขอทานเดี่ยว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรีบแก้ปัญหาตรงนี้ ขณะเดียวกันทางกัมพูชาก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชาวกัมพูชาได้รับรู้ว่าการเข้ามาขอทานที่เมืองไทยนั้นผิดกฎหมาย” นายพุฒิพัฒน์กล่าว และทิ้งท้ายว่า

สิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาขอทานคือการไม่ให้เงินขอทาน เรื่องนี้อาจไม่ใช่การทำบุญทำทาน แต่เป็นการสนับสนุนให้ขอทานเหล่านั้นเป็นอาชญากร เพราะเขาจะขอไปตลอด ถ้าคนเลิกให้ก็ไม่มีคนเหล่านี้ ฉะนั้นเราต้องตัดความสงสารออกไป แต่ไปให้หรือช่วยเหลือผ่านช่องทางอื่นจะดีกว่า

 

lad01280459p3

เสาวนีย์ โขมพัตร-ขวัญวงศ์ พิกุลทอง-พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์

IMG_4932

เงินจากขันขอทาน จากมาตรการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image