มุมมองนักวิชาการวิพากษ์… กกต.ออก’กฎเหล็ก 8 ข้อ’

หมายเหตุ – มุมมองของนักวิชาการกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ออกประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ มีข้อกำหนดสิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ และที่ทำไม่ได้ 8 ข้อ

 

ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

“…ข้อที่มีความน่ากังวลที่สุดคือ การห้ามวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีฐานข้อมูลไม่มีเนื้อหาทางวิชาการที่รองรับ…”

Advertisement

สําหรับกฎเหล็กทั้ง 8 ข้อของ กกต.ที่ออกมานั้น ส่วนตัวมองว่ามีทั้งจุดดีและจุดด้อย ในส่วนของจุดดีนั้นมันทำให้เราเห็นว่าการทำประชามติจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะกฎหมายแรกที่ออกมาค่อนข้างจะเขียนไว้กว้างว่าพฤติการณ์ที่ผิดกฎหมายนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการตีความ การบังคับใช้ การวินิจฉัยที่อาจทำให้เกิดข้อถกเถียง หรือว่าการที่ไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจะทำให้หลายคนกระทำผิดโดยไม่รู้ตัวได้ หาก กกต.มีกฎออกมาที่ชัดแบบนี้ ส่วนตัวก็คิดว่าจะเป็นเเนวทางได้อย่างหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหานั้นคือกฎหมายหลายข้อที่อาจจะทำให้เรื่องของการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์ วิจารณ์ตัวรัฐธรรมนูญมันเกิดขึ้นไม่ได้อย่างกว้างขวางเท่าไรนัก ดังนั้น ในเมื่อการวิพากษ์ วิจารณ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางก็จะส่งผลให้การมีส่วนร่วมลดน้อยถอยลง สิ่งที่ตามมาจากนั้นก็คือ การแสดงความคิดเห็น การมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมของประชาชนกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

ท้ายสุดแล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาในระยะยาว แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติด้วยกลไกเหล่านี้ได้ก็ตาม เพราะส่วนสำคัญที่สุดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านการประชามติ แต่หลักการสำคัญของการทำประชามติคือเรื่องของการมีส่วนร่วมและการศึกษาเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชน

ส่วนตัวเห็นว่ากฎเหล็กที่ทำได้ 6 ข้อ และทำไม่ได้ทั้ง 8 ข้อ ข้อที่มีความน่ากังวลที่สุดคือ การห้ามวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีฐานข้อมูลไม่มีเนื้อหาทางวิชาการที่รองรับ โดยประเด็นนี้ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างวินิจฉัยได้ลำบากเพราะเป็นสิ่งซึ่งค่อนข้างเป็นนามธรรมในการตีความไปได้ว่าอะไรคือหลักทางวิชาการ อะไรไม่ใช่หลักทางวิชาการ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาในการตัดสินตีความได้

หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ การทำประชามติในสังคมประชาธิปไตยนั้นจะค่อนข้างเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นส่วนตัวจึงอยากจะให้เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ในการวิพากษ์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมากกว่านี้ ทั้งฝ่ายสนับสนุนก็ตาม ฝ่ายคัดค้านก็ตาม เพราะรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าเป็นของประชาชนทุกคน และการมีส่วนร่วมนี่แหละที่จะนำมาซึ่งความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมในกติกาที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องใช้ร่วมกัน

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

“…ถามว่าข้อไหนบ้างที่รับไม่ได้ ต้องขอตอบว่ารับไม่ได้ทั้งหมด ตอบแบบนี้ไม่ได้มีอคติใดๆ…”

ข้อกำหนดของ กกต.เริ่มจากกฎ 6 ข้อที่สามารถทำได้ ตามด้วยกฎ 8 ข้อที่ไม่สามารถทำได้ในระหว่างการทำประชามติ ซึ่งกลายเป็นว่ากฎ 8 ข้อหลังได้ไปกลบกฎที่สามารถทำได้ 6 ข้อนั้นทั้งหมดเลย หากลองอ่านเทียบดู จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดสิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และสิ่งที่น่าสังเกตและน่าประหลาดคือ การออกกฎหรือคำสั่งอะไรพวกนี้โดยสภาพแล้วส่วนตัวมองว่ามันเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยตัวของ กกต.เอง เพราะในความเป็นจริงเขาไม่ได้กำหนดว่า กกต.จะต้องไปตัดสินหรือวินิจฉัยก่อนว่าอันไหนทำได้หรือทำไม่ได้ จึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฎทั้ง 8 ข้อนี้เท่าไรนัก

การวินิจฉัยเรื่องต่างๆ มันมี พ.ร.บ.ประชามติอยู่แล้ว ดังนั้นการกระทำต่างๆ ผู้ทำจะต้องรับผิดชอบ แล้วผู้ที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นทำได้ ทำไม่ได้หรือผิดหรือถูกต่างๆ นานาคือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ กระทั่งไปถึงศาลที่จะเป็นผู้วินิจฉัย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กกต.ไปทำประกาศไว้ก่อน ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วย มองว่าตลก และไม่ควรมีประกาศพวกนี้ กกต.จะไปรู้ดีกว่าคนอื่นได้อย่างไร เพราะแม้แต่ กรธ.เองยังไม่ให้ กกต.วินิจฉัยเลยว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดี

ถามว่าข้อไหนบ้างที่รับไม่ได้ ต้องขอตอบว่ารับไม่ได้ทั้งหมด ตอบแบบนี้ไม่ได้มีอคติใดๆ แต่รับไม่ได้ตรงที่ว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องมาทำ กกต.มีหน้าที่ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประชามติ หรือปฏิบัติตามหน้าที่ที่ต้องทำในการจัดทำประชามติ การวินิจฉัยต่างๆ แล้วมามองว่า 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ จะยิ่งเป็นการทำให้ พ.ร.บ.ประชามติไม่มีความชัดเจนเข้าไปใหญ่ เพราะพูดถึงการกดไลค์ การแสดงความเห็น เผยแพร่ ฯลฯ อย่าว่าแต่ข้อกำหนด กกต. ประชามติเลย กฎทั่วไปส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว

ส่วนสถานการณ์การทำประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าลงคะแนนกัน ณ วันนี้ ปัจจุบันนี้ อาจจะผ่านก็เป็นได้ แต่ปัจจุบันพอมันเกิดอะไรขึ้นมามากมาย มีทั้งการจับกุม มีการออกกฎต่างๆ ขึ้นมาทำให้เข้มงวดขึ้น คนก็เริ่มถามว่ามีอะไรกันนักหนา แล้วคนไทยเราชอบมวยรอง เห็นใจคนที่ถูกรังแก คนที่เป็นกลางจะเบี่ยงไปทางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเยอะไป แทนที่จะเป็นผลดีจะกลับกลายเป็นว่าภาพลักษณ์ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่มันเสียอยู่แล้วมันจะยิ่งเสียเข้าไปอีก คนที่เป็นกลางเขาจะเริ่มสงสัยว่าทำไมถึงต้องทำขนาดนี้

(จากซ้าย) ยุทธพร อิสรชัย-ชำนาญ จันทร์เรือง-พนัส ทัศนียานนท์
(จากซ้าย) ยุทธพร อิสรชัย-ชำนาญ จันทร์เรือง-พนัส ทัศนียานนท์

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

…กฎทั้ง 8 ข้อนี้มีความล่อแหลมในทุกข้อ อีกทั้งการชี้แจงของ กกต.เองก็ไม่มีความชัดเจน…

อันดับแรก หากถามว่ากฎเหล็กทั้ง 8 ข้อของ กกต.จะส่งผลต่อบรรยากาศในการทำประชามติอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่แทบไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว เพราะบรรยากาศทั้งก่อนและหลังจากมีกฎหมายข้อห้ามในลักษณะนี้ออกมาก็ไม่ได้มีบรรยากาศที่ส่งเสริมในการทำประชามติสักเท่าไรนัก

อีกทั้งหากมีการกระทำผิดตามกฎทั้ง 8 ข้อนี้ ก็จะนำมาสู่การตีความของ กกต.ซึ่งจะเป็นผู้ตีความในขณะที่ข้อห้ามเหล่านี้ยังคงมีความคลุมเครือและมีช่องโหว่อยู่มาก และอาจจะส่งผลให้สามารถตีความการกระทำต่างๆ ว่าเป็นความผิดได้ทั้งหมดไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

กฎทั้ง 8 ข้อนี้มีความล่อแหลมในทุกข้อ อีกทั้งการชี้แจงของ กกต.เองก็ไม่มีความชัดเจน มีคำว่าอาจจะผิดหรือหมิ่นเหม่ มันเป็นความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น อย่างเช่น หากมีคนไปยืนเฉยๆ ยืนนิ่งๆ คนหนึ่ง ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ขอถามว่ามันถือว่าเป็นความผิดหรือ แต่สุดท้ายหากมีการตีความว่าก่อความรำคาญเดือดร้อน เป็นการยุยงปลุกปั่น การไปยืนนิ่งๆ คนเดียวก็ถือว่าเป็นความผิดเพราะการตีความได้

รวมไปถึงประเด็นเรื่องการห้ามใช้ถ้อยคำปลุกระดม ห้ามใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือไม่เหมาะสม ซึ่งตรงนี้สุดท้ายแล้วก็ไปขึ้นอยู่กับผู้ที่พิจารณาว่าจะเห็นว่าผิดหรือไม่ผิด มันไปขึ้นอยู่ที่ กกต. ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง แม้ว่า กกต.จะบอกว่าตนเองเป็นผู้ตัดสิน แต่ก็เกิดคำถามว่าหากฝ่ายความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร บอกว่ารายนี้การกระทำนี้ผิดตามข้อห้าม 8 ข้อ กกต.จะไม่ทำตาม ไม่เห็นด้วย และปฏิเสธได้หรือไม่ มันก็เป็นคำถามต่อไปว่าแท้จริงแล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินตีความกันแน่

ซึ่งสุดท้ายแล้วทาง กกต.อาจจะบอกว่าต้องไปให้ศาลตีความ แต่ด้วยความสุ่มเสี่ยงจากโทษที่มากถึง 10 ปี และเราจะมีความมั่นใจได้แค่ไหนว่าศาลจะคุ้มครองประชาชน ถ้าหากศาลมีความชัดเจนว่าจะปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มแข็งเด็ดขาด ไม่ว่าอำนาจใดก็ไม่สามารถมาล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น แสดงออกซึ่งความเชื่อของตนเอง นั่นก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง

ดังนั้นกฎเหล็กทั้ง 8 ข้อนี่ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงมาก ไม่ว่าคุณจะทำอะไร เขาก็สามารถตีความว่าทำผิดได้ทั้งหมด เป็นกฎหมายครอบจักรวาลที่ไม่ให้ประชาชนแสดงออกซึ่งความคิดเห็นใดๆ และดูแล้วจะห้ามการรณรงค์ในการสนับสนุนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม อยากจะให้ทุกคนเฝ้าจับตาดูว่าฝ่ายที่ออกมาสนับสนุน ปลุกระดม หรือรณรงค์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญจะถือว่ามีความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง

สุดท้ายแล้วโดยหลักการแล้ว ส่วนตัวคิดว่าการออกเสียงประชามติควรให้เป็นเสรีภาพโดยสมบูรณ์ของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นั่นจึงจะถือว่าเป็นการทำประชามติอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image