‘วิษณุ’ฟุ้งร่างรธน.ฉบับ’มีชัย’ ใช้ได้-ไม่เลวอย่างที่พูดกัน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 25 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ได้อ่านเนื้อหาครบแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ยังร่างไม่เสร็จ เนื้อหาที่รับจากกรธ.ยังไม่มีบทเฉพาะกาล แต่ละมาตราก็มีหมายเหตุไว้ตลอดว่ามาตรานั้นมาตรานี้ยังไม่เรียบร้อย หรือบางมาตรายังต้องรอความเรียบร้อยของมาตราโน้นก่อน จึงยังไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ตนกลับไป เอาไว้พูดคุยกับกรธ.อีกที ส่วนที่พรรคการเมืองออกมาขู่ว่าจะรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นในตอนนี้ แต่ขู่มานานแล้ว ตั้งแต่ร่างไปได้ 20 มาตรา ก็ไม่เป็นไรตนไม่ได้ว่าอะไร จะพูดอะไรก็พูดไป ซึ่งทุกประเด็นที่มีการพูดกันในสังคม ตนเชื่อว่ากรธ.คงรับรู้ทั้งหมด ส่วนอะไรที่เป็นหลักการสำคัญที่ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นตั้งแต่ต้นก็คงมีการแก้ไข อะไรที่กรธ.ไม่แน่ใจเหมือนโยนหินถามทาง อาจมีการแก้ไขก็ได้ บางส่วนก็มีอาสาเอาไปทำโพลสำรวจให้ก็ได้คำตอบว่าที่ได้ทำไปนั้นดูจะถูกใจ เช่น เรื่องให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ 3 คน จึงทำให้กรธ.มีความมั่นใจ แต่โพลบางอย่างออกมาไม่ค่อยเห็นด้วย ก็เชื่อว่ากรธ.จะนำไปประกอบการพิจารณา ส่วนประเด็นอื่นก็ค่อยๆ รับฟังกันไป

นายวิษณุกล่าวว่า กรณีพรรคการเมืองเสนอให้มีการโต้วาทีจุดดีจุดด้อยของร่างฯ ระหว่างกรธ.กับนักการเมืองนั้น ยังไม่ค่อยแน่ใจ แต่เอาเป็นว่าให้โอกาสให้แสดงความเห็นอย่างนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถึงขั้นจะมาโต้วาทีกันหรือขึ้นอยู่กับกรธ.ว่าพร้อมหรือไม่ บางทีไม่ถึงขั้นต้องโต้วาทีเอาเป็นเอาตาย พูดกันคนละประเด็น คนละเวทีก็ได้ แต่ให้รู้ว่าเป็นการพูดเรื่องเดียวกันคนจะได้ฟัง ไม่เช่นนั้นคนจะต้องมาตัดสินใจว่าใครโต้วาทีเก่งกว่ากัน เหตุผลช่างมัน ใครมันส์กว่าซึ่งเราไม่อยากให้เกิดความรู้สึกแบบนั้น เหนืออื่นใดประชาชนควรได้มีโอกาสอ่านเสียก่อนจะได้รู้ว่าถ้อยคำจริงๆ เป็นอย่างที่พูดๆ กันหรือไม่ บางทีที่ตนได้อ่านก็ไม่เหมือนถ้อยคำที่สื่อนำเสนอ เนื่องจากสื่ออาจจะได้ร่างฯแรกๆไป หรือบางทีถ้อยคำของกรธ.ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เช่นเรื่องคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของคนที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่บอกไว้ชัดเจนว่าประเภทใดสมัครได้หรือไม่ กรณีที่โดนเหมาเข่งหรือลงโทษย้อนหลัง ไม่เป็นไรสามารถสมัครได้ ถ้าอ่านในตัวบทอาจไม่เข้าใจจะต้องไปอ่านตรงหมายเหตุดูลึกๆ ดีๆ ถึงจะเข้าใจ แต่ปัญหาคือส่วนของหมายเหตุเวลาจัดพิมพ์จะไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไรให้หมายเหตุเหล่านั้นไปปรากฏในรัฐธรรมนูญ

“บางทีเราพูดรวมๆ ไม่ค่อยรู้สึก แต่พอดูคำแล้วเราจะเห็นชัด เช่น คำว่าต้องคำพิพากษาว่ากระทำการทุจริตหมายความว่าบุคคลนั้นต้องทุจริตเอง ดังนั้นพวกถูกเหมาเข่งพอถูกศาลตัดสินก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้กระทำการทุจริต แต่ซวยเพราะไปร่วมเป็นกรรมการอยู่กับเขาก็ไม่ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจากที่ดูตัวบทแล้วไม่ถือว่ากำกวม แต่ถ้าออกมาพูดๆกันเองมันกำกวมเพราะพูดกันไม่เต็ม” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนประเด็นให้พรรคการเมืองเสนอนายกฯ 3 คนนั้น เรื่องนี้ตนมองว่ายุติธรรมสำหรับคนไทยที่จะได้รู้ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ แต่พรรคใดจะไม่เสนอก็ได้ถ้าไม่รู้จะเสนอชื่อใคร แต่วันหลังพอนึกออกว่าจะเสนอชื่อใครก็ทำไม่ได้แล้ว จะเลือกได้ก็แต่รายชื่อของพรรคอื่นๆ ที่เสนอมา ก็ต้องผสมโรงเอาใครก็ตามที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ

Advertisement

เมื่อถามว่าภาพรวมเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ได้เห็นถือว่าดีขึ้นหรือไม่ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา นายวิษณุกล่าวว่า “ผมก็ถือว่าใช้ได้นะ ใช้ได้ทีเดียวล่ะ จะบอกว่าเลวอย่างที่พูดทั้งหมดมันคงไม่ใช่อย่างนั้น ความถูกใจไม่ถูกใจมีได้บางประเด็น คนที่ไม่ถูกใจประเด็นนี้ก็อาจถูกใจประเด็นโน้นแต่ไม่พูด เหมือนสื่อเวลาติใครติได้ แต่เวลาชมจะไม่ชม ไม่พูดถึงเสียก็บุญเท่าไหร่แล้ว นั่นแหละแปลว่าเขาชมแล้ว วันนี้เวลาอบรมนักการเมืองผมก็ต้องแนะอย่างนี้ คุณทำใจไว้เถอะ ประเภทที่ว่าพูดบ่อยให้สัมภาษณ์ทำดี ทำไมไม่มีใครพูดถึง บุญเท่าไหร่แล้วสื่อเขาไม่พูดถึงเพราะถ้าพูดถึงสื่อจะว่าเอา ถือเป็นเรื่องธรรมดา เราก็เข้าใจอะไรที่ท่านชอบใจก็เงียบเสีย ถ้าได้ก็ไม่ต้องพูด แต่ถ้ารู้สึกว่าเสียก็ต้องพูดเพราะอยากให้แก้ ประเด็นที่ไม่พูดใครอย่าอุตริไปแก้ เพราะไม่พูดก็ถือว่าดีแล้ว สังเกตว่ามีเรื่องที่ไม่พูดมากกว่าเรื่องที่พูด”

นายวิษณุกล่าวว่า นักการเมืองติดตามการร่างรัฐธรรมนูญมาตลอดอาจจะรู้ประเด็นชัด จนออกมาแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วย แต่ประชาชนยังไม่มีโอกาสจับทุกเม็ด ฟังทุกประโยค จึงอาจถูกชักนำให้คล้อยตามได้ แต่ในที่สุดเมื่อจะลงประชามติจริงก็ต้องพูดกันให้หมด ต้องจัดพิมพ์ร่างฯ ฉบับย่อหรือชี้แจงให้คนเข้าใจทุกมาตรา ส่วนที่กรธ.บัญญัติให้องค์กรอิสระมีหน้าที่เพิ่มเติมจากเดิมนั้นเราเรียกเสียว่าเป็นการตรวจสอบรัฐบาล อย่าไปเรียกว่าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเลย เพราะคำนี้สงวนไว้กับรัฐสภา ส่วนปัญหาในการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระจนเกิดความไม่น่าเชื่อถือว่าก็ยังเป็นปัญหา จึงต้องให้วิธีการคัดคนเข้ามามีความรัดกุมน่าเชื่อถือ เป็นกลาง เป็นธรรม ได้คนดีเข้ามาในทางปฏิบัติ ซึ่งยาก แต่ก็ไม่มีวิธีอื่นที่คิดได้แล้ว จึงต้องสร้างระบบและคนให้ดี ตนคิดว่าคนสำคัญกว่าระบบด้วยซ้ำ เพราะหากคนดีระบบแย่ก็ยังพอไปได้ อย่างไรก็ตามกรณีที่หลายฝ่ายไม่พอใจบุคลากรในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าวางตัวไม่เหมาะสมนั้นตนเห็นว่าต้องปรับปรุงตัวบุคคล

เมื่อถามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแนวโน้มจะผ่านประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ผมยังเชื่อว่าผ่าน ส่วนเหตุผลนั้นอยากพูดแต่ไม่ดีเลยไม่อยากพูด เพราะจะมีคนค้านว่าไม่จริงแล้วสุดท้ายจะทำลายเหตุผลนั้นทั้งหมด สิ่งที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ได้ร่างเพราะคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นทางออกให้กับประเทศ บางอย่างที่เสนอกันก็เข้าท่า อย่างการขยายเวลาการลงคะแนนจาก 08.00 – 15.00 น.เป็น 08.00 – 17.00 น.นั้น เมื่อขยายออกไปประชาชนเมื่อเลิกงานก็มีโอกาสไปใช้สิทธิทันเวลา”

Advertisement

เมื่อถามย้ำว่าในช่วงก่อนทำประชามตินักการเมืองสามารถรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ณ วันนี้อาจจะทำยาก แต่ว่าเมื่อไปถึงจุดหนึ่งก็ต้องผ่อนคลายลง โดยให้คนมีโอกาสรณรงค์ทั้งสองอย่าง เราไม่ต้องการให้คนมีโอกาสที่จะฟังอย่างเดียวว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีเลิศประเสริฐศรี แก้การโกง วิเศษมาก ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกแบบนั้นเพราะวันหนึ่งความจริงคือความจริงหนีไม่พ้น พบว่ามันไม่ใช่ก็จะลำบากจึงต้องพูดทั้งสองทาง แล้วไปชั่งน้ำหนักเอาระหว่างมาตราที่ดีกับที่ไม่ดีไม่ชอบ บวกกับเดิมพันที่การเลือกตั้งที่เป็นไปตามโรดแมปก็ชั่งน้ำหนักกันว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งตนไม่ได้พูดว่ารับร่างฯไว้ก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง แต่เท่าที่ศึกษาร่างฯ นี้ถือว่าดีเกินครึ่ง แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการแก้ไขการทุจริตเท่าไหร่นัก เพราะสุดท้ายก็ทำไม่ได้เพราะอยู่ที่คนมากกว่า

นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังคิดกันอยู่ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หากประชามติไม่ผ่านหากมีความเคลื่อนไหวจะแจ้งให้ทราบ ทั้งนี้หากประชามติไม่ผ่านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ เพราะโรดแมปมันตรึงเงื่อนเวลาของมันไว้อยู่แล้ว ซึ่งหากประชามติไม่ผ่านการเลือกตั้งก็จะอยู่ที่เดือนกรกฎาคม 2560 หรือไม่นั้นนายกฯ เคยพูดไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงเวลานั้น แต่ตนไม่เคยพูด แต่เมื่อนายกฯ พูดเรื่องนี้ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องพูด แต่ที่อุตส่าห์พูดกับทูตอินโดนีเซียที่มาเข้าพบ ซึ่งใครจะบีบไม่สำคัญแต่นายกฯตั้งใจแบบนั้นแล้ว เราจะมาลังเลสงสัยทำไม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image