ตึกสูงรุกคืบ ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ เหตุเมิน ‘ภูมิทัศน์’ หรือความผิดพลาดของ ‘ผังเมือง’?

ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่คาดฝัน สำหรับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกย่านบางรัก สถานที่จัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงในยุคเก่าก่อน ที่อยู่ดีๆ ก็จะมีตึกสูง 8 ชั้นมาตั้งอยู่ข้างๆ ร้อนถึง รศ.วราพร สุรวดี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอินสาท-สอาง ซึ่งสนับสนุนกิจการของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวในทุกด้าน ต้องร่อนจดหมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอความร่วมมือสนับสนุนการขยายเขตภูมิทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ หรือสรุปอย่างสั้นๆ ว่าขอให้ช่วยซื้อที่ดินดังกล่าวก่อนจะมีการลงมือปลูกสร้างตึก ซึ่งเจ้าตัวมองว่าจะส่งผลกระทบในแง่ลบหลายประการ แต่ปัจจุบันยังไร้คำตอบ

เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร มีที่มาที่ไป และแนวโน้มไปในทิศทางไหน ลองพิจารณา

หวัง 40 ล้าน ซื้อ “ภูมิทัศน์” คืนบางกอก

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซึ่งประกอบด้วยที่ดินตามโฉนด 2 แปลง รวม 1-0-6 ไร่ เป็นของตกทอดตั้งแต่บรรพบุรุษมาจนถึงมารดาของ รศ.วราพร คือ นางสอาง สุรวดี (ตันบุญเต็ก) เมื่อท่านถึงแก่กรรม ตัวบ้านจึงถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยความสนใจส่วนตัวในด้านศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งต้องการรักษาสถาปัตยกรรมและข้าวของเครื่องใช้อันล้ำค่าของชาวบางกอกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกจึงถือกำเนิดขึ้น และอยู่คู่กับชาวบางรักตลอดมา กระทั่งไม่กี่เดือนมานี้ มีข่าวว่าเจ้าของที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดิมให้โรงงานรีไซเคิลกระดาษเช่าพื้นที่มีความประสงค์จะขายที่ดิน ไม่นานโรงงานดังกล่าวก็ย้ายออกไป พร้อมๆ กับเจ้าของรายใหม่ที่ได้ยื่นเอกสารขออนุญาตกรุงเทพมหานครในการสร้างอาคารสูง 8 ชั้น โดยจะลงมือก่อสร้างเร็วๆ นี้ สร้างความตกใจให้แก่ รศ.วราพรอย่างมาก เพราะตึกดังกล่าวจะบดบังภูมิทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของอาคารอนุรักษ์อีกด้วย จึงอยากให้ กทม. ซื้อที่ดินดังกล่าวไว้เอง

Advertisement

“หนักใจมาก เพราะถ้าตึกสร้างเสร็จจะเป็นอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ที่บดบังภูมิทัศน์ของพิพิธภัณฑ์แทบจะสิ้นเชิง จากเดิมที่มีความสง่างาม โปร่งโล่งและร่มรื่นด้วยตนไม้ เข้ามาแล้วจะรู้สึกได้เลยว่าเย็นสบายกว่าข้างนอก ซึ่งในกรุงเทพฯน่าจะต้องมีปอด มีพื้นที่สีเขียวแบบนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ห่วงคือผลกระทบต่ออาคารต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ เลยอยากขอให้กรุงเทพมหานครช่วยซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ คิดว่าต้องใช้เงินราว 30-40 ล้านบาท ซึ่งคงไม่กระทบต่องบประมาณมากนัก พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ก็จะขยายออกไปถึงหัวมุมแยก ที่ดินและบริเวณของพิพิธภัณฑ์จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนด้านหน้าจะไร้การบดบังตลอดไป”

รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง ในวัย 80 ปี
รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง ในวัย 80 ปี

เขต “พาณิชยกรรม” คำตอบของคำถามที่ยังคาใจ

ความคลางแคลงใจของผู้รับรู้ข่าวสารส่วนหนึ่งที่มีต่อการวอนขอให้ กทม.ซื้อที่ดินก็คือ วิธีนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ เนื่องจากมองว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวคือบ้านของ รศ.วราพร แม้จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าชมก็ตาม

ประเด็นนี้ รศ.วราพร อธิบายว่า ตนได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คืออาคารพิพิธภัณฑ์ทั้ง 4 หลัง อีกทั้งข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายใน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2547 กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก มีผู้เยี่ยมชมเดือนละกว่า 700 คน ดังนั้น การเรียกร้องให้ กทม.ช่วยซื้อที่ดิน จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นของภาครัฐ และถือเป็นของคนไทยทุกคน เพราะตนไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้ว

Advertisement

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ รศ.วราพรตั้งคำถามคือ ในย่านเก่าอย่างเจริญกรุงนั้น อนุญาตให้สร้างตึกสูงถึง 8 ชั้นเชียวหรือ? จึงลงมือร่างหนังสือส่งถึงสำนักงานเขตบางรัก ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า สามารถสร้างได้ถึง 9 ชั้นด้วยซ้ำไป เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ไม่ใช่เขตอนุรักษ์

ที่ดินหลังรั้วสังกะสีพื้นที่ 105 ตารางวา ซึ่งจะมีการสร้างตึก 8 ชั้น อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกในซอยเจริญกรุง 43 หรือตรอกสะพานยาว
ที่ดินหลังรั้วสังกะสีพื้นที่ 105 ตารางวา ซึ่งจะมีการสร้างตึก 8 ชั้น อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกในซอยเจริญกรุง 43 หรือตรอกสะพานยาว

ผลักดันกฎหมาย แก้ไขที่ต้นเหตุ

มาดูมุมมองของนักวิชาการกันบ้าง ว่ามีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร มองว่า กฎหมายเมืองไทยค่อนข้างเอื้อให้กับธุรกิจ จึงทำให้มีการสร้างตึกสูงเกินไป ส่งผลให้ที่ดินบางแห่งกลายเป็นพื้นที่อับ ดังนั้นหากจะเรียกร้องในกรณีแบบนี้สามารถทำได้ ซึ่งควรเป็นไปในลักษณะของการรณรงค์ผลักดันกฎหมาย เพื่อแก้ไขในระดับภาพรวม

“กรณีแบบนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วยว่ากฎหมายบ้านเราเอื้อให้กับธุรกิจ เดี๋ยวนี้สร้างตึกสูงเกินจนทำให้ที่ดินบางผืนกลายเป็นพื้นที่อับ อยู่อาศัยไม่ได้ แต่ควรแก้ระดับใหญ่ แบบภาพรวม หากมองว่าเขตพาณิชยกรรม ไม่ควรมีตึกสูงขนาดนั้น ควรผลักดันตัวกฎหมายใหญ่ให้เป็นมาตรฐาน การแก้ที่ต้นเหตุคือ ถ้าเห็นว่าผังเมืองไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัย เพราะอนุญาตให้สร้างตึกสูงเกินไป ถ้าเห็นว่าเป็นปัญหา ควรรณรงค์ในทางกฎหมายว่าน่าจะเหลือกี่ชั้น ให้เป็นมาตรฐานเดียว หรือถ้ามองว่าบริบทของพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์กายภาพ ไม่สมควรกำหนดพื้นที่นี้ให้เป็นเขตพาณิชยกรรม ก็ควรผลักดันให้ปรับแก้ไขแบบบังคับใช้ทั้งพื้นที่”

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกถูกโอนให้ กทม.เมื่อ 12 ปีก่อน เป็น "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กทม. เขตบางรัก"
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกถูกโอนให้ กทม.เมื่อ 12 ปีก่อน เป็น “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กทม. เขตบางรัก”

ถึงเวลาพิจารณา”ผังเมืองย่อย”?

ผังเมืองและการใช้พื้นที่ ดูจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่สะสมมานานของมหานครแห่งนี้ ชาตรีบอกว่า ผังเมืองของไทยเป็นการระบายสีแบบ “เหมารวม” ซึ่งในความเป็นจริงควรมีการสำรวจในรายละเอียด เช่น พื้นที่นั้นๆ ประกอบด้วยอาคารที่มีคุณค่ากี่หลัง หากมีโบราณสถานอยู่ ต้องกำหนดว่าในรัศมีกี่ร้อยเมตร สร้างตึกสูงได้ไม่เกินกี่ชั้น เป็นต้น

“ผังเมืองบ้านเราระบายสีแบบเหมารวม ซึ่งไม่เวิร์ก ไม่ควรมีโซนระบายเหมารวมว่าเขตพาณิชยกรรม กินอาณาเขตเท่านี้เท่านั้น แต่ควรเป็นผังเมืองแบบลงระดับรายละเอียดมาตั้งนานแล้ว เป็นผังเมืองย่อย ตัวอย่างเช่น ในเขตบางรักมีตึกแถวเก่า แล้วจะเปลี่ยนทั้งโซนไปเป็นแบบอื่นเลย ก็จะเป็นการแก้ปัญหาสุดโต่งไปอีกแบบ เพราะฉะนั้นจะต้องมาจากข้อมูลจริง ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ทางวิชาการว่า ถ้ามีโบราณสถานอยู่บริเวณนี้ รัศมีออกไปกี่ร้อยเมตร ควรสร้างอาคารสูงไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ ตอนนี้เราเจอปัญหาของการเป็นโซนพาณิชยกรรมทั้งหมด ซึ่งจะเปลี่ยนให้เป็นอาคารต่ำหมดก็ไม่ได้อีก เพราะบางพื้นที่ต้องการการพัฒนา”

บรรยากาศร่มรื่นที่พิพิธภัณฑ์อยากเก็บไว้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ จึงห่วงการสร้างอาคารสูงในย่านเก่าอย่างเจริญกรุง-บางรัก
บรรยากาศร่มรื่นที่พิพิธภัณฑ์อยากเก็บไว้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ จึงห่วงการสร้างอาคารสูงในย่านเก่าอย่างเจริญกรุง-บางรัก

มุ่งเจรจา อย่าแยกตัวเองออกจาก “สาธารณะ”

ย้อนกลับมาที่ปัญหาเฉพาะหน้าของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งชาตรีบอกว่าในทางกฎหมายไม่มีใครผิด เจ้าของมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะก่อสร้างตึก สิ่งที่จะทำได้คือ ทางพิพิธภัณฑ์ต้องทำรายการให้ชัดเจน ว่าตึกนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แล้วเจรจากัน หากจะสร้างจริงๆ อาจขอให้มีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน

“กรณีแบบนี้น่าเห็นใจ แต่ในเชิงกฎหมาย เจ้าของที่ดินไม่ผิด อย่างไรก็ตาม ถ้าการสร้างตึก 8 ชั้นจะส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์เยอะ ก็ต้องลิสต์ปัญหาให้ชัดเจน เป็นข้อๆ พูดคุยกับเจ้าของว่าจะทำอย่างไรดี ซึ่งผมเชื่อว่าการออกแบบทางสถาปัตยกรรมช่วยได้ เช่น เปิดให้แสงเข้า ลมเข้า ปลูกต้นไม้ แต่ก็จะนำมาซึ่งการเสียประโยชน์ของเจ้าของที่ดิน เช่น พื้นที่ใช้สอยลดลง เพราะต้องเว้นพื้นที่ด้านข้าง เพื่อปรับแบบให้เอื้อกับพิพิธภัณฑ์ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการออกแบบ ฉะนั้นต้องเจรจาต่อรอง ว่าจะช่วยอะไรกันได้บ้างไหม” ชาตรีกล่าว

วิถีชีวิตชาวบางกอกในอดีต ถูกบอกเล่าผ่านข้าวของเครื่องใช้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดิมเป็นบ้านของครอบครัว รศ.วราพร สุรวดี
วิถีชีวิตชาวบางกอกในอดีต ถูกบอกเล่าผ่านข้าวของเครื่องใช้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดิมเป็นบ้านของครอบครัว รศ.วราพร สุรวดี

ปิดท้ายด้วยความเห็นของภัณฑารักษ์

วิภาช ภูริชานนท์ ภัณฑารักษ์อิสระ นักศึกษาปริญญาเอกด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ สถาบันโกลด์สมิธ ม.ลอนดอน มองว่า ในเบื้องต้นรู้สึกเป็นห่วงว่าการซื้อที่ดินจะเพิ่มระยะห่างระหว่างพิพิธภัณฑ์กับสาธารณะหรือไม่ แต่หาก กทม. จะซื้อจริง ควรมีแผนว่าจะใช้พื้นที่ทำอะไร เพราะการใช้จ่ายของภาครัฐ ต้องมีแผนงานพัฒนา

“ถ้าจะซื้อจริง น่าจะมีแผนว่าที่ข้างๆ จะทำอะไร ถ้าซื้อแล้วทำเป็นส่วนขยายสำนักงานหรืออะไรบางอย่างก็มีเหตุผล จะใช้เงินรัฐต้องมีแผนงานพัฒนา แต่การซื้อที่จะไปเพิ่มระยะห่างระหว่างพิพิธภัณฑ์กับสาธารณะหรือเปล่า ซึ่งระยะห่างตรงนี้มันมีอยู่แล้วในพิพิธภัณฑ์ไทยส่วนใหญ่ ที่มักแยกตัวเองออกจากสถาปัตยกรรมรอบข้าง” ภัณฑารักษ์หนุ่มให้ความเห็น

นี่คงไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามต่อผังเมืองและการจัดการวัฒนธรรม ที่ตอกย้ำปัญหาซ้ำๆ อันควรได้รับการพิจารณาแก้ไขอย่างรอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image