ชาวบ้านเล่านาทีระทึก! เครนเกี่ยวศาลาวัดซางตาครู้สพัง อธิบดีกรมศิลป์สั่งตรวจสอบด่วน

คืบหน้ากรณีศาลาท่าน้ำวัดซางตาครู้ส แขวงวัดกัลยา เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ในย่านกุฎีจีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ในสภาพเสียหายทั้งส่วนหลังคาและโครงสร้างที่ทรุดเอียงจากเครนขนาดใหญ่ของบริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะอยู่ระหว่างเทปูนซีเมนต์เพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ในจุดเกิดเหตุ พบว่ามีการนำแผงกั้นระบุชื่อบริษัทอิตาเลียน ไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) วางไว้หน้าศาลา รวมถึงมีการขึงเชือกพร้อมกระดาษมีข้อความว่า “อยู่ระหว่างบูรณะ ห้ามใช้งาน” ส่วนพื้นที่รอบๆ มีการก่อสร้างโดยใช้เครนที่มีสะลิงและตะขอสำหรับเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งยังดำเนินไปตามปกติ

ศาลาวัดซางตาครู้สพัง01


นางนุศรา โกนานนท์ เจ้าของร้านเฮโลนมสด ซึ่งตั้งอยู่ติดกับศาลา เล่าว่า ขณะเกิดเหตุกำลังล้างจาน สังเกตเห็นเครนซึ่งมีสายสะลิงและตะขอขนาดใหญ่เกี่ยวค้างบนยอดศาลา จึงเริ่มรู้สึกไม่ดีว่าอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น สุดท้ายแผ่นไม้บนหลังคาค่อยๆ เปิดแล้วดึงหลังคาลงมา เกิดเสียงดังมาก คนที่อยู่บริเวณนั้นวิ่งหนี ตนจึงรีบวิ่งตาม เพราะเกรงจะเกิดอันตราย ส่วนตัวเสียดายศาลามาก แต่เข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุ คนบังคับเครนพยายามที่สุดแล้ว

Advertisement


“เหตุ เกิดช่วงที่เครนกำลังไปเกี่ยวถังปูนเพื่อนำไปเทบริเวณเขื่อนป้องกันน้ำท่วม บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับศาลาท่าน้ำ แต่กลับไปเกี่ยวค้างอยู่บนยอดศาลา ช่างที่บังคับเครนพยายามดึงเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น จนไม้ค่อยๆ เปิด ตอนแรกเปิดทีละแผ่น แป๊บเดียวดึงทั้งหลังคาพังครืนลงมา ตกใจมาก ทำอะไรไม่ถูก กลัวจะล้มลงมา คนที่อยู่แถวนั้นวิ่งหนี ดิฉันก็วิ่งตาม เสียดายมาก เป็นที่พักผ่อน นั่งเล่นชมวิว เสียดาย ลายไม้เก่าแก่ หาดูยาก ควรอนุรักษ์ไว้” นางนุศรากล่าว

ศาลาวัดซางตาครู้สพัง02


ด้านนางตี้ บุญเต็ม อายุ 74 ปี ชาวชุมชนกุฎีจีนกล่าวว่า ผูกพันกับศาลาหลังนี้มาก เพราะเกิดมาก็เห็นศาลาแล้ว บรรพบุรุษของตนเป็นชาวโปรตุเกสที่ตั้งรกรากอยู่ที่นี่มานาน โดยมีวัดซางตาครู้สเป็นศูนย์รวมจิตใจ จึงรู้สึกใจหายแม้เป็นเพียงศาลาท่าน้ำขนาดเล็ก ห่วงว่าบูรณะแล้วจะไม่เหมือนเดิม

Advertisement


“เห็นมาตั้งแต่เด็ก เกิดมาก็เห็นแล้ว อายุศาลาคงเป็น 100 ปี ใจหายและตกใจมาก ลายฉลุสวยมาก กลัวว่าซ่อมแล้วจะไม่เหมือนเดิม ตอนนั้นเสียงดังจนคนหลังวัดยังวิ่งมาดู มีคนโทรแจ้งความ ตำรวจ สน.บุปผารามก็มาดูเรียบร้อยแล้ว” นางตี้กล่าว


คนงานรายหนึ่งของบริษัทก่อสร้าง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากสะลิงขาด ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ตนไม่สามารถพูดอะไรได้มาก เพราะเป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น


ด้าน นายปติสร เพ็ญสุต อาจารย์ประจำสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะกล่าวว่า ศาลาดังกล่าวแม้มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากในอดีตใช้เป็นที่ขึ้น-ลงเรือของชาวกุฎีจีนและผู้เดินทางผ่านไปมา นอกจากนี้ ใน พ.ศ.2405 สมัยรัชกาลที่ 4 วัดซางตาครู้สเกิดไฟไหม้ คุณพ่อดือกาต์ออกไปสืบหาตัวคนร้าย ก็ถูกผลักตกน้ำเสียชีวิตบริเวณดังกล่าว ทั้งยังมีความสวยงามอย่างมากด้วยทรงวิคตอเรียน

“ศาลาเก่าหลังนี้อยู่บริเวณท่าน้ำหลักของวัดซึ่งสมัยก่อนคนจะมาวัดก็ต้องขึ้น-ลงทางนี้ เเละยังอยู่ตรงกับประตูโบสถ์พอดี คาดว่ามีอายุ 100 ปีขึ้นไป โดยสร้างขึ้นในยุคเดียวกับตัวโบสถ์ ซึ่งสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณปี 2453 ตัวศาลาเป็นทรงวิคตอเรียนเเบบขนมปังขิง มีมุข 4 ด้าน ซึ่งตอนนี้ได้รับความเสียหายคือพังไป 2 ด้านข้าง เเนวทางการซ่อมเเซมเบื้องต้นจะต้องเทียบเคียงกับรูปถ่ายเก่า เเละผมก็เเนะนำให้ชาวบ้านเก็บชิ้นส่วนของไม้แกะสลัก ไม้ฉลุเเบบขนมปังขิงไว้ อย่าเพิ่งทิ้ง เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับตรวจสอบ สำหรับไม้ของเดิมเป็นไม้สัก หากซ่อมต้องใช้ไม้ที่เหมือนกันมาแทนเท่านั้น” นายปติสรกล่าว และว่า ครั้งนี้ถือเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ของชุมชนกุฎีจีน แต่ทางชุมชนค่อนข้างเข้มแข็ง อีกทั้งทราบว่าทางผู้รับเหมาเองก็จะรับผิดชอบ จึงคาดว่าจะมีการบูรณะศาลาดังกล่าวต่อไป โดยไม่ถูกทิ้งไว้ในลักษณะนี้
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เพิ่งทราบเรื่อง เพราะอยู่ในขณะเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัด แต่จะโทรสั่งการให้กลุ่มโบราณสถานเร่งเข้าไปลงพื้นที่โดยด่วน สำหรับโบสถ์วัดซางตาครู้สนั้น เป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรอย่างแน่นอน แต่ไม่แน่ใจว่าครอบคลุมถึงศาลาท่าน้ำหรือไม่ ต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image