“10 วันที่กวางจู” เกิดอะไรที่เกาหลี เมื่อปี 2523

เหตุการณ์ที่กวางจูปรากฏเป็นข่าวเมืองไทยอีกครั้งเมื่อปรากฏการร่อนจดหมายทักท้วงพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ที่นำผลงานศิลปินไทยซึ่งร่วมกับ กปปส. ไปแสดงภายในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นรำลึกเหตุการณ์วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980 หรือ พ.ศ.2523

เหตุการณ์ที่กวางจูในปีนั้นเป็นเช่นไร คงต้องย้อนเวลากลับไปรำลึกเพื่อความเข้าใจ

แม้ปัจจุบัน เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีระบอบการเมืองการปกครองมีเสถียรภาพมากที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เกาหลีใต้ก็เป็นเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ต้องผ่านยุคมืด วันเวลาแห่งเผด็จการ และเหตุรุนแรงนานัปการ

เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่จากอำนาจเบ็ดเสร็จกับความรุนแรงทางการเมืองสำหรับเกาหลีใต้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 วันระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม 2523 เรื่อยไปจนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 วัน ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า เหตุการณ์ “การลุกฮือของประชาชนกวางจู”

Advertisement

เป็น 10 วันที่กวางจู ที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการทหารหลังสงครามคาบสมุทรเกาหลี มาสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบในที่สุด

ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ เริ่มก่อรูปและมีกิจกรรมชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายยุคเผด็จการยาวนานของ ปาร์ก จุงฮี (บิดาของประธานาธิบดี ปาร์ก กึนเฮ ผู้นำคนปัจจุบัน) นายพลทหารที่ได้อำนาจปกครองประเทศจากการรัฐประหาร และครองอำนาจเบ็ดเสร็จถึง 18 ปีจนกระทั่งถูกลอบสังหารเมื่อ 26 ตุลาคม 2522

ผู้นำใหม่เกาหลีใต้ คือ ชอย คยู ฮาห์ ดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็ถูก พล.ต.ชุน ดูฮวาน (ยศในเวลานั้น) ผู้บัญชาการกองบัญชาการความมั่นคงด้านกลาโหม รัฐประหารขึ้นครองอำนาจแทนเมื่อ 12 ธันวาคม 2522

Advertisement

ศูนย์กลางของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอยู่ที่ โจลลาใต้ จังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ที่ถูกทอดทิ้งต่อเนื่องเพราะไม่ได้เป็นบ้านเกิดของปาร์ก จุงฮี อย่าง จังหวัดเกียงซางทางตะวันออกเฉียงใต้ และกวางจู (หรือ กวังจู หรือ ควังจู ตามวิธีถอดอักขระเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษแบบเดิม Kwangju) คือเมืองหลวงหรือเมืองเอกของ จังหวัดโจลลาใต้

หลังมรณกรรมของปาร์ก จุงฮี บรรยากาศกำราบปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยผ่อนคลายลงชั่วขณะ บรรดาอาจารย์ นักศึกษา ที่ถูกไล่ออกเพราะการเคลื่อนไหว เริ่มกลับคืนสู่มหาวิทยาลัยที่เริ่มภาคเรียนใหม่ในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้น มีการจัดตั้งศูนย์นิสิตนักศึกษาขึ้นในหลายๆ มหาวิทยาลัย จนกลายเป็นหัวขบวนในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติกฎอัยการศึก ที่ประกาศใช้หลังการลอบสังหารปาร์ก, เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย, เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ และเสรีภาพในการแสดงออก

ขบวนการเหล่านี้ก่อหวอดชุมนุมต่อต้านกฎอัยการศึกครั้งใหญ่ขึ้นที่สถานีรถไฟโซล เมื่อ 15 พฤษภาคม 2523 มีนักศึกษา-ประชาชนเข้าร่วมเป็นเรือนแสน

ชุน ดูฮวาน ตอบโต้ด้วยการขยายขอบเขตบังคับใช้กฎอัยการศึกออกไปทั่วประเทศ ในวันที่ 17 พฤษภาคม และอาศัยข้ออ้างทางความมั่นคงบุกที่ประชุมของแกนนำนักศึกษาจาก 55 มหาวิทยาลัยและนักการเมืองในพื้นที่โจลลาใต้จำนวนหนึ่ง จับกุมนักการเมือง 27 คนรวมทั้ง คิม แดจุง ไว้ในข้อหายุยงให้เกิดการชุมนุมประท้วง

ขบวนการนักศึกษาตอบโต้ด้วยการรวมตัวกันบริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยแห่งชาติชนนัมเริ่มตั้งแต่ 09.30 น.ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2523 ผ่านไปครึ่งชั่วโมงเท่านั้นการปะทะครั้งแรกก็เกิดขึ้น

เดิมที ผู้รับผิดชอบในการรับมือกับการชุมนุมประท้วง คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่พอถึงเวลา 16.00 น. ประธานาธิบดีชุนก็ออกคำสั่งให้ กองบัญชาการการรบพิเศษแห่งเกาหลีใต้ (เอสดับเบิลยูซี) ส่งกำลังเข้ามารับผิดชอบแทน กำลังทหารพลร่มจากกองพันยุทธการทางอากาศที่ 33 และ 35 ของกองพลน้อยที่ 7 จำนวน 686 นาย เดินทางมาถึงกวางจู

ซึ่งกลายเป็นการยกระดับความรุนแรงขึ้นสู่การนองเลือดที่แทบจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา

ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ทหารใช้กระบองทุบตีต่อผู้ประท้วงและผู้คนที่ผ่านไปมา ข้อมูลจากหลายแหล่งยืนยันว่ามีการใช้ดาบปลายปืนในปฏิบัติการครั้งนี้ ผู้เสียชีวิตรายแรก เป็น คิม เกียง เชิล ชายหูหนวกวัย 29 ปีที่บังเอิญผ่านไปในพื้นที่เท่านั้น

เหตุการณ์รุนแรงเกินกว่าเหตุส่งผลให้จำนวนผู้ประท้วงเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10,000 คนในวันที่ 20 พฤษภาคม

กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ในเมืองกวางจู เลิกขับรถรับจ้าง หันมาเคลื่อนเป็นขบวนมุ่งหน้าไปประท้วงยังสำนักงานกลางของจังหวัด ถึงการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เพราะมีผู้ขับแท็กซี่หลายรายถูกทุบตีขณะพยายามช่วยเหลือคนที่ได้รับบาดเจ็บ และช่วยนำส่งโรงพยาบาล อีกหลายรายถูกยิงใส่ เพราะพยายามใช้รถเป็นเกราะกำบังให้กับผู้ประท้วง

การปะทะระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในตอนบ่ายวันถัดมา เมื่อผู้ประท้วงใช้อาวุธซึ่งส่วนหนึ่งยึดได้จากรถเจ้าหน้าที่ทหาร อีกบางส่วนได้จากการบุกสถานีตำรวจหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นปืนไรเฟิลเอ็ม-1 และคาร์ไบน์ เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

17.30 น. วันเดียวกัน ผู้ประท้วงได้ปืนกลเบา 2 กระบอกมาใช้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจต้องล่าถอยออกจากเมือง

กวางจูเหมือนเป็นเขตปลดปล่อย แต่ก็เหมือนเป็นเขตปิดล้อมของทหารไปพร้อมๆ กันในตัว การสู้รบยุติลงชั่วคราว ภายในตัวเมือง ชาวเมืองนำอาหารทั้งหมดมาแบ่งปันกัน แยกย้ายกันรับผิดชอบภาระหน้าที่ด้านต่างๆ รถยนต์ส่วนตัวถูก “บริจาค” ให้ใช้เป็นแนวป้องกันเมือง ในวันที่ 25 พฤษภาคม ประชาชน 15,000 คนชุมนุมกันในพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา

25 พฤษภาคม ชาวกวางจูชุมนุมใหญ่กว่า 50,000 คนเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและปล่อยตัว คิม แดจุง แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตย โดยคาดหวังว่าจะได้รับความเห็นใจและช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

แต่ พล.อ.จอห์น เอ. วิคแฮม จูเนียร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการร่วมสหรัฐ-เกาหลีใต้ กลับให้ความเห็นชอบต่อประธานาธิบดีชุน เคลื่อนกำลังทหารเกาหลีจำนวนมากจากเขตปลอดทหารตามแนวชายแดนเกาหลีเหนือ-ใต้ มาใช้ในปฏิบัติการยึดคืนเมืองกวางจู

ปฏิบัติการดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อเวลา 03.30 น.ของวันที่ 27 พฤษภาคม ใช้เวลาเพียง 90 นาที ก็ยึดกวางจูทั้งเมืองได้ จับกุมผู้ก่อความไม่สงบ 1,740 ราย ในจำนวนนี้มี 730 รายถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวน

เหตุการณ์ตลอด 10 วันดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติเกาหลี ระบุเอาไว้ว่า มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 200 คน รวมทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 26 นาย โดยมีพลเรือนเพียง 17 คนเท่านั้นที่เสียชีวิตในวันที่ 27 พฤษภาคม

คิม แดจุง ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดี พร้อมกับคนอื่นๆ อีกหลายคน ถูกตัดสินว่าผิดจริงและพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตหลังการกดดันของนานาชาติ ในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมที่กวางจู มี 427 คนถูกพิพากษาว่ากระทำผิด 7 คนถูกตัดสินประหาร 12 คนถูกจำคุกตลอดชีวิต ที่เหลือได้รับโทษจำแตกต่างกันออกไป

เหตุการณ์ที่กวางจู ไม่เพียงก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดีชุนอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมาเท่านั้น แต่ยังเปิดทางให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 1980 จนนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศในที่สุด

ปี 2530 การเลือกตั้งประธานาธิบดีกลับมามีขึ้นอีกครั้ง และในปี 2531 รัฐสภาก็เปิดเวทีไต่สวนสาธารณะในเหตุการณ์ที่กวางจูขึ้นเป็นครั้งแรก

ปี 2538 รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านกฎหมายพิเศษว่าด้วยขบวนการประชาธิปไตย 18 พฤษภาคม เพื่อให้อำนาจศาลพิจารณาคดีทั้งเหตุการณ์รัฐประหาร 12 ธันวาคม 2522 และกวางจู 2523 แม้จะหมดอายุความไปแล้วก็ตาม

ปี 2539 นักการเมือง 8 คนรวมทั้ง ชุน ดูฮวาน และ โรห์ แตวู (ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งต่อจากชุน ดูฮวาน มีส่วนร่วมในการรัฐประหาร 12 ธันวาคม) ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐาน ก่อกบฏต่อแผ่นดินและสังหารหมู่ บทลงโทษที่เดิมให้ประหารชีวิต ถูกลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต

ปี 2540 คิม ยังซัม ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่กำลังพ้นตำแหน่งประกาศอภัยโทษต่อผู้ก่อเหตุรัฐประหาร 22 ธันวาคมทุกคน ด้วยเหตุผลเพื่อความปรองดองในชาติ

ภายใต้คำแนะนำของผู้ได้รับเลือกตั้ง และกำลังจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปคือ คิม แดจุง

นับแต่ปี 2540 วันที่ 18 พฤษภาคม กลายเป็นวันรำลึกเหตุการณ์ที่กวางจูอย่างเป็นทางการเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image