‘วิษณุ’เผยรอกฤษฎีกาพิจารณาพ.ร.บ.อุ้มหาย แก้ปัญหาทับซ้อนกฎหมายอื่น

“วิษณุ” ระบุรอกฤษฎีกาพิจารณา พ.ร.บ.อุ้มหาย แก้ปัญหาทับซ้อนกฎหมายอื่น ชี้ใช้ ม.44 ได้เพราะใหญ่กว่า พ.ร.บ. แจงไม่ยกเลิกแม้ประกาศใช้กฎ “อัยการศึก-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 25 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (พ.ร.บ.อุ้มหาย) ว่า รัฐบาลได้มีการลงนามอนุสัญญาเมื่อ 7-8 ปีมาแล้ว จำนวน 2 ฉบับ คืออนุสัญญาป้องกันการทรมาน และอนุสัญญาป้องกันการบังคับให้สูญหาย จึงต้องมีการทำสัตยาบันในฉบับที่ 2 โดยเมื่อทำแล้วจะต้องมี พ.ร.บ. หรือกฎหมายลูกออกมาเพื่อรองรับ เพราะถ้าเป็นเพียงอนุสัญญาเมื่อเจ้าหน้าที่ทำผิดก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับเราไม่ต้องการให้ฟ้องในศาลโลก แต่ต้องการฟ้องในศาลไทย ซึ่งขณะนี้ได้ให้กฤษฎีกาตรวจสอบความเรียบร้อย พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากมีหลายกระทรวงทักท้วงใน พ.ร.บ.ดังกล่าวหลายมาตรา เนื่องจากไม่มีความรัดกุม และซ้ำซ้อนความผิด พ.ร.บ.ฉบับอื่น

“กฎหมายในลักษณะดังกล่าวมีที่ใช้กันเพราะในเวลาที่อุ้มก็จะมีเรื่องของการกักขัง หน่วงเหนี่ยว การพรากผู้เยาว์ พรากผู้ใหญ่ ก็เป็นอีกความผิดหนึ่ง การอุ้มหายก็เป็นอีกข้อหาหนึ่ง ฉะนั้นจะต้องทำให้ชัดเจน ว่าเจตนาจะอุ้มอย่างเดียวถ้าโดนไปหลายกระทงนับไปนับมาอาจจะโดนประหารชีวิตเอา” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะครอบคลุมใน 3 เรื่อง ทั้งการอุ้ม การทรมาน และการจำกัดสิทธิ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เขามีเจตนาอย่างนั้น กฤษฎีกาก็ต้องไปตรวจสอบ เพราะมันมีความผิดตาม พ.ร.บ.อื่นอยู่ แล้วจะต้องนำมาใช้หรือไม่ ถ้าไม่นำมาใช้ก็ต้องเขียนว่าผิดพ.ร.บ.นี้แล้วก็ต้องไม่ผิด พ.ร.บ.อื่น เพราะการอุ้มหายจะต้องมีพฤติกรรมอื่นมาประกอบด้วยเสมอ โดย พ.ร.บ.นี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าข่ายพฤติกรรมทั้ง 3 อย่าง รวมถึงต้องดูถึงคำสั่ง หรือประกาศ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับการควบคุมตัว ที่มีความทับซ้อนกันอยู่ว่าจะต้องมีการแก้ไข หรือต้องมีการยกเลิกอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

Advertisement

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติโจมตี ว่าเจ้าหน้าที่พาตัวบุคคลไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ถ้าไม่หายก็ไม่เป็นไร มันมีอุ้มหาย และก็ไม่หาย อุ้มเอามาคืน” เมื่อถามว่า แสดงว่าการใช้ ม.44 เพื่อให้อำนาจพนักงานสอบสวนก็ไม่ผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว นายวิษณุ กล่าวว่า อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ใหญ่กว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้

เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ปัญหาในภาคใต้ที่มีการอุ้มหาย ว่าถ้ามีกฎหมายออกมาแล้วการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยกเว้น พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เว้น ยังสามารถบังคับใช้ได้ ขณะเดียวกันจะไม่ย้อนถึงคดีที่มีบุคคลสูญหายก่อนหน้า เพราะกฎหมายที่มีโทษอาญาไม่มีผลย้อนหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image