เผด็จการที่ไหนๆ ก็แทรกแซงงานสร้างสรรค์มนุษยศาสตร์

มนุษยศาสตร์ต้องการเสรีภาพในห้องเรียนประชาธิปไตย [2 ปี คสช. - ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จัดกิจกรรมครบรอบ 2 ปี คสช. โดยร่วมแสดงสัญลักษณ์เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้มาร่วมงานอย่างคึกคัก เมื่อวันที่ 22 พ.ค. (ภาพและคำบรรยายจาก ข่าวสด ฉบับวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2559 หน้า 1)]

ปรับปรุงจากบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

เรื่อง วิพากษ์มนุษยศาสตร์/มนุษยศาสตร์วิพากษ์ – น้ำยามนุษยศาสตร์ในสังคมไทย

[พิมพ์ในวารสาร ชุมทางอินโดจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์ ฉบับชนบทในนิมิตร (ปีที่ 5 ฉบับที่ 8) มกราคม-มิถุนายน 2559 หน้า 9-20]


เผด็จการที่ไหนๆ ก็แทรกแซงงานสร้างสรรค์ทางมนุษยศาสตร์มากกว่าด้านอื่นๆ

Advertisement

เผด็จการไทยโชคดีที่การเรียนการสอนมนุษยศาสตร์ในประเทศไทย เป็นการสอนให้รักและซาบซึ้งในคุณค่าของวัฒนธรรมหลัก ตลอดมาเท่านั้น เผด็จการไทยจึงไม่เคยมีปัญหากับมนุษยศาสตร์

และมนุษยศาสตร์ก็ไม่เคยมีปัญหากับเผด็จการ

มนุษยศาสตร์ต้องการเสรีภาพ

วัฒนธรรมไม่ใช่ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นกลาง แต่ถูกกำกับด้วยอุดมคติบางอย่างในทุกสังคม อันเป็นอุดมคติที่ให้อำนาจและผลประโยชน์แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น

มนุษยศาสตร์ต้องเรียนรู้อุดมคติเหล่านี้อย่างเท่าทัน ไม่ใช่อย่างชื่นชมซาบซึ้งดังที่ทำกันในเมืองไทย เพราะเท่ากับเปลี่ยนมนุษยศาสตร์ให้กลายเป็นเครื่องมือของการครอบงำเท่านั้น

การเรียนมนุษยศาสตร์ที่ดีคือการเรียนเชิงวิพากษ์ และตั้งคำถามกับสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งยอมรับโดยตรงหรือยอมรับโดยนัยยะ

ดังนั้นมนุษยศาสตร์จึงต้องการเสรีภาพยิ่งกว่าวิธีคิดแบบใด เพราะสิ่งที่นักมนุษยศาสตร์วิพากษ์มักเป็นสิ่งที่ค้ำจุนสังคมหนึ่งๆ ผู้มีอำนาจจึงมักหวาดระแวงวิธีคิดเชิงมนุษยศาสตร์

 

อาจารย์มหาวิทยาลัย

อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อยู่ในกระแสทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยมากที่สุด คืออาจารย์จากสายที่เรียกว่ามนุษยศาสตร์

นอกจากคิดน้อยรู้สึกแคบ กระแสต่อต้านประชาธิปไตยในประเทศไทยในระยะหลัง ยังเป็นการรื้อฟื้นอำนาจของชนชั้นนำตามประเพณีอย่างชัดแจ้ง

ซึ่งเท่ากับรับรองความสำคัญของความรู้ของนักวิชาการสายมนุษยศาสตร์ไทย ซึ่งยิดติดอยู่กับอุดมคติของชนชั้นนำตามประเพณีอยู่แล้วด้วย

 

 

ไทย-ญี่ปุ่น

การปฏิรูปประเทศเข้าสู่ความทันสมัยของญี่ปุ่นแตกต่างจากไทยอย่างยิ่ง

ญี่ปุ่นกระจายและขยายให้วัฒนธรรมของชนชั้นสูงกลายเป็นสมบัติร่วมของพลเมืองทุกคน เช่น อุดมคติและวัตรปฏบัติของซามูไร หรือกฎเกณฑ์มารยาทของ “กุลสตรี” ผู้สูงศักดิ์กลายเป็นกฎเกณฑ์มารยาทของหญิงญี่ปุ่นโดยทั่วไป

ในขณะที่การปฏิรูปในไทยพยายามจะรักษาช่วงชั้นทางสังคมในอดีตไว้อย่างเหนียวแน่น

เฉพาะคนที่จะเป็นข้าราชการหรือคนของพระราชาเท่านั้นที่พึงคุ้นเคยกับมารยาทของชนชั้นสูง ในขณะที่ราษฎรสามัญชนทั่วไปซึ่งไม่มีความจำเป็นจะต้อง “เข้าเจ้าเข้านาย” ไม่ได้ถูกทำให้ “ศรีวิไล” ตามไปด้วย

 

มนุษยศาสตร์ตกต่ำ

ความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยปัจจุบันที่ทำให้มนุษยศาสตร์ตกต่ำลง ก็คือ

เราต่างมีชีวิตอยู่ในโลกที่ได้กำหนดบทบาทการแสดงไว้แก่ทุกคนแล้ว ฉะนั้นการศึกษาจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความสามารถในการแสดง หรือ performativity การศึกษามิได้มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาความรู้อีกต่อไป มนุษยศาสตร์จึงหาที่ยืนในโลกปัจจุบันได้ยาก

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน รวมทั้งในสายมนุษยศาสตร์ด้วย ต่างแสวงหาที่ยืนของตนเองได้สำเร็จด้วย “บทบาท” ที่น่าประทับใจในสังคม

มีคำกล่าวประชดศิลปินในเมืองไทยมานานแล้วว่า ชิ้นงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นไม่ได้นำไปสู่ชื่อเสียงเกียรติยศเท่ากับคำอธิบายชิ้นงานนั้นของศิลปินผู้สร้างเอง

ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะจิตรกรเพียงอย่างเดียว แต่รวมประติมากร, สถาปนิก, นักแต่งเพลง, นักร้อง-นักดนตรี, นักแสดง ฯลฯ ด้วย

และไม่จำกัดเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ศิลปะกลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ทั่วไป

 

ทางออกของมนุษยศาสตร์

1. เงื่อนไขสำคัญที่สุดของการศึกษามนุษยศาสตร์คือความคิดเสรีและความคิดเชิงวิพากษ์ ห้องเรียนมนุษยศาสตร์จึงต้องเป็นห้องเรียนประชาธิปไตย

แม้ว่าบรรยากาศมหาวิทยาลัยในปัจจุบันจะมืดมนลงอย่างไร แต่ห้องเรียนมนุษยศาสตร์ต้องเป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของผู้เรียน

ซึ่งหมายความว่าเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะติดตามการศึกษาเรื่องอะไร และอย่างไรได้อย่างอิสระเสรี แต่ต้องพร้อมจะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น

ยิ่งกว่าการเรียนการสอนก็คือ วิธีคิดทางมนุษยศาสตร์จะได้รับการฟื้นฟูขึ้นในการศึกษาของมนุษย์ได้ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้คน ไม่ใช่ด้วยอำนาจของรัฐในการจัดการศึกษา หรือด้วยอำนาจของนักการเมืองที่ฉวยโอกาสร่วมมือกับคณะรัฐประหารเพื่อจัดการศึกษาตามอุดมคติของตน

ประชาธิปไตยจึงขาดไม่ได้แก่มนุษยศาสตร์ทั้งในเชิงปฏิบัติ คือการเรียนการสอน และการยืนยันคุณค่าของวิธีคิด

2. ต้องไม่ลืมว่า ในสถาบันการศึกษา ผู้เรียนมนุษยศาสตร์ต่างเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ใหม่เพราะอายุยังน้อย แต่ใหม่เพราะเติบโตมาในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ ที่วัยรุ่นในอดีตไม่เคยเผชิญมาก่อน

ดังนั้นถึงยังยืนยันคุณค่าของผลงานที่นักปราชญ์และศิลปินในอดีตได้สร้างสรรค์ไว้ แต่ในสถาบันการศึกษาซึ่งผู้เรียนมีแต่คนรุ่นใหม่ การยัดเยียดงานอมตะเหล่านั้นให้นักศึกษาในปีแรก อาจไม่ใช่ยุทธวิธีที่ดีนัก หากจะทำสำเร็จก็ต้องอาศัยความสามารถพิเศษของผู้สอน ซึ่งไม่ได้มีทั่วไปทุกคน

จะไม่ดีกว่าหรือที่จะเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ผู้เรียนสนใจอยู่แล้วและเห็นว่าสัมพันธ์กับชีวิตของเขาโดยตรง เช่น เพลงเกาหลี, ละครโทรทัศน์, หนังไทยและหนังลิเกประวัติศาสตร์, นวนิยายเรื่องสั้นที่รู้จักกันดี

เพราะจุดมุ่งหมายคือฝึกปรือด้านความรู้สึก และอาจเสริมด้วยว่านักปราชญ์และศิลปินในอดีตได้เคยพูดถึงความรู้สึกที่เขาจับได้เหล่านี้อย่างไร ใช้กลวิธีในการแสดงออกอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น เพื่อปูพื้นฐานไปสู่งานคลาสสิคเช่นนั้นในภายหลัง

3. ในบรรดาความใหม่ของผู้เรียน ยังมีอุดมคติใหม่อยู่ด้วยแม้บางเรื่องอาจเป็นอุดมคติเก่าที่ถูกละลืมไป เช่น ความเสมอภาคซึ่งกลายเป็นหนามที่ทิ่มแทงผู้คนให้เจ็บปวดมากขึ้นในสังคมเสรีนิยมใหม่ แต่มีอุดมคติใหม่อีกมากของคนปัจจุบัน ซึ่งควรทบทวนตรวจสอบและวิพากษ์ เช่น ความมั่งคั่ง (affluence) ความไร้ตัวตนของผู้คน และความไร้ความหมายของชีวิต แฟชั่นและการสมยอมกับสังคม

อุดมคติใหม่เหล่านี้นำไปสู่อะไรได้บ้าง และเราจะรู้ทันมันได้อย่างไร เป็นต้น

นักปราชญ์และศิลปินในอดีตได้เคยเผชิญกับอะไรที่คล้ายอย่างนี้บ้างหรือไม่ และเขามีคำถามหรือคำตอบอะไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้บ้าง

ห้องเรียนมนุษยศาสตร์ที่สร้างความสนใจแก่ผู้เรียน ปลูกฝังบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์ในชีวิตของเขา จะเป็นฐานประชากรที่ให้การสนับสนุนการศึกษามนุษยศาสตร์ในอนาคต

กล่าวโดยสรุปก็คือ อนาคตของมนุษยศาสตร์ไทย อยู่ที่ว่านักมนุษยศาสตร์ในปัจจุบันดื่มด่ำกับคุณค่าของมนุษยศาสตร์เพียงพอหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image