รพ.สต.ร้องผู้บริหารปรับค่าตอบแทนใหม่ โอดปัญหาเพียบ! สธ.หวั่นกระทบรพ.ขาดทุน

ตามที่เจ้าพนักงานกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข และสหสาขาวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งกลุ่มหมออนามัย ออกมาเรียกร้องผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความเป็นธรรมในเรื่องค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพไม่ให้เหลื่อมล้ำนั้น ยิ่งล่าสุด นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. มีคำสั่งเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน แนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2559 โดยเป็นค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา

โดยให้อัตราค่าตอบแทนแพทย์และทันตแพทย์ 10,000 บาทต่อเดือน เภสัชกรอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน และพยาบาลวิชาชีพอัตรา 1,000 บาทต่อเดือน ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวไม่พอใจว่า แม้คำสั่งดังกล่าวจะมีแต่เดิม แต่ก็มุ่งไม่เคยปรับอัตรา หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ยังคงให้ความสำคัญแพทย์เป็นหลัก แต่วิชาชีพอื่นๆ ยังได้น้อยอยู่ และอีกหลายวิชาชีพที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยกลับไม่ได้ค่าตอบแทนก้อนนี้ และเตรียมเรียกร้องผู้บริหาร สธ.ให้แก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายต่างๆ กว่า 40 คน อาทิ ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ชายแดนใต้ ชมรมเจ้าพนักงานปริญญาตรี หรือชมรม จพ.ป.ตรีชายแดนใต้ ชมรมพยาบาล รพ.สต.จังหวัดยะลา และตัวแทนพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านนาตีน จ.กระบี่ และตัวแทนเจ้าพนักงานเวชสถิติ เดินทางเข้าเรียกร้อง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่อกรณีค่าตอบแทน และการบรรจุตำแหน่งข้าราชการที่หลายวิชาชีพยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม โดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับเรื่องดังกล่าว

นายริซกีกล่าวว่า สหวิชาชีพและชมรมต่างๆ ได้มายื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมองว่าในเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย (ฉบับที่ 10) แม้จะเป็นของเดิมที่มีทุกปีก็ตาม แต่ไม่มีการปรับปรุงให้กับวิชาชีพอื่นๆ ทั้งที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยไม่แพ้ 4 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จึงเสนอขอขยายให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอื่น ด้วย แบ่งเป็น 1.แพทย์/ทันตแพทย์ 2.เภสัชกร 3.สหสาขาวิชาชีพที่มีวุฒิปริญญาตรี 4.สหสาขาวิชาชีพที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี 5.สายงานสนับสนุนต่างๆ อาทิ ธุรการการเงิน เจ้าหน้าที่บริหาร ฯลฯ เพราะบุคคลเหล่านี้ล้วนปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย และมีภาระงานมากเช่นกัน

Advertisement

นายริซกีกล่าวอีกว่า 2.การจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ชายแดนใต้จากเงินบำรุง ควรให้ในอัตราที่เป็นธรรม โดยกำหนดว่า 1.แพทย์และทันตแพทย์อัตราที่ควรได้เริ่มตั้งแต่ 8,000-10,000 บาทต่อเดือน 2.เภสัชกรอัตราที่ควรได้รับ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน 3.สหสาขาวิชาชีพที่มีวุฒิปริญญาตรีอัตราเดือนละ 3,000-3,500 บาท 4.สหสาขาวิชาชีพที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีอัตราเดือนละ 2,000-2,500 บาท และ 5.สายงานสนับสนุนอัตราละ 1,000-1,500 บาทต่อเดือน และ 3.ขอให้ปรับค่าตอบแทนวิชาชีพฐานล่างให้สูงขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระหว่างวิชาชีพไม่ให้สุดโต่งเกินไป

น.ส.สาวิตรี มามาตย์  พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ  รพ.สต. บ้านนาตีน จ.กระบี่ กล่าวว่า นอกจากเรื่องค่าตอบแทนแล้ว ยังมีเรื่องความก้าวหน้าในสายงาน เดิมทีเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุข(จพ.สธ.) และไปศึกษาต่อด้านพยาบาลวิชาชีพ 2 ปี แต่เมื่อกลับมาทำงานกลายเป็นว่าความก้าวหน้าในสายงาน หรือการเลื่อนขั้นยากกว่าเดิม กล่าวคือ จะขึ้นเป็นพยาบาลชำนาญการต้องนับอายุงานใหม่ทั้งหมด ไม่สามารถเอาอายุราชการเดิมมาเกื้อหนุนกันได้ ยกเว้น พยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว เมื่อได้บรรจุจะสามารถขึ้นตำแหน่งซีสูงทันที จึงอยากขอความเป็นธรรมตรงนี้ด้วย

นางสุหรรษา ดีเมืองปัก เจ้าพนักงานเวชสถิติ กล่าวว่า มาเรียกร้องเรื่องการบรรจุตำแหน่งเจ้าพนักงาน(จพ.) เวชสถิติ เนื่องจากยังมีจพ.เวชสถิติที่ตกค้างและรอการบรรจุอีก 152 คน จากทั้งหมด 556 คน โดยอัตราบรรจุเดิมที่สธ. เคยให้ไว้เมื่อครั้งขอคณะรัฐมนตรี(ครม.) 3 ปี จำนวน 22,641 ตำแหน่ง  ตกปีละ 7,547 ตำแหน่ง โดยทุกวิชาชีพจะต้องมาเกลี่ยกันในสัดส่วนร้อยละ 66 แต่ จพ.เวชสถิติได้เพียงร้อยละ 39.4 เท่นั้น โดยตัวเลขที่ตกหล่นไปขอให้ผู้บริหาร สธ.อย่าละทิ้ง ให้ความช่วยเหลือจพ.เวชสถิติด้วย เนื่องจากแม้จะทำงานที่ไม่ใช่การรักษา แต่ก็เกี่ยวเนื่องกับคนไข้ เพราะทำเรื่องเวชระเบียน ทำเรื่องประวัติคนไข้ ซึ่งเป็นด่านแรกที่คนไข้ต้องเข้ามารพ.ด้วยซ้ำไป

Advertisement

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ค่าตอบแทนฉบับเดิมคือ 8 และ 9 โดยหลักการจะมีการปรับปรุงฉบับใหม่ ด้วยการที่บุคลากรไหนมีจำนวนมาก จะไม่ไปลด แต่กลุ่มไหนยังขาดก็ต้องไปเพิ่ม เพื่อลดช่องว่างดังกล่าว แต่ใช้วงเงินเท่าเดิม หลายคนมองว่าจะนำเงินจากส่วนไหน เพราะเงินไม่ได้เพิ่มขึ้น จากสำนักงบประมาณ 3,000 ล้านบาท และเงินบำรุงจากโรงพยาบาลเองอีก 6,000 ล้านบาท หนำซ้ำสำนักงบประมาณอาจปรับลดเหลือเพียง 1,000 ล้านบาท ตรงนี้จะหาแหล่งเงินอย่างไร ก็ต้องเป็นเงินบำรุงของ รพ. ซึ่งจะปรับเกลี่ยอย่างไรให้เพียงพอ

นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า กรณีนี้ทำได้แม้งบฯจะไม่มากขึ้น โดยต้องปรับพื้นที่ทุรกันดารให้สอดคล้องกับบริบทที่แท้จริง โดยพื้นที่ไหนทุรกันดารระดับ 2 จะเหลือเป็นทุรกันดารระดับ 1 และทุรกันดารระดับ 1 จะเหลือเป็นพื้นที่ปกติ เพราะจากเดิมเราให้ค่าตอบแทนพื้นที่ทุรกันดารมากกว่าพื้นที่ปกติ ดังนั้น หากปรับพื้นที่นี้ลง ก็จะลดเงินโดยอัตโนมัติ โดยไม่ไปลดที่คนแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้ทั้งหมอทั้งวิชาชีพที่เคยได้มากก็ต้องลดลง เพราะปัจจุบันพื้นที่ไม่ได้ทุรกันดารเหมือนอดีต โดยคำนวณแล้วว่าพื้นที่ที่ลดลงน่าจะประมาณ 100 อำเภอ ที่จะมีการปรับตรงนี้ ซึ่งเงินที่เหลือจากตรงนี้จะไปเพิ่มค่าตอบแทนให้กับกลุ่มที่ได้น้อย โดยตรงนี้แต่ละวิชาชีพค่อนข้างตกลงกันได้

“มีเพียงข้อเสนอหนึ่งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ คือ หลายชมรมฯ เสนอขอตัดเงินค่าตอบแทนของบุคลากรที่มีอายุงานเกิน 20 ปี ซึ่งได้ค่าตอบแทนสูงให้ลดลง แน่นอนว่าจะกระทบกับแพทย์บ้าง ก็ต้องมาเจรจาหารือให้ได้ข้อยุติที่พอใจทั้งหมด คาดว่าจะสรุปได้ในสัปดาห์นี้ แต่ต้องย้ำว่าทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ยังไม่ใช่มติชี้ขาด เนื่องจากทางคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอการปรับค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขต้องเสนอต่อคณะกรรมการค่าตอบแทนที่มีรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงบประมาณ ฯลฯ เป็นกรรมการ ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่าจะเห็นด้วยตามข้อเสนอหรือไม่” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากข้อเสนอค่าตอบแทนต่างๆ จะมีงบเพียงพอหรือไม่ นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า จากการคำนวณเบื้องต้นจากร่างค่าตอบแทน คาดว่าจะใช้เงินเพิ่ม 700-800 ล้านบาท ซึ่งปี 2559 สำนักงบฯให้มา 3,000 ล้านบาท เป็นเงินบำรุง 6,000 ล้านบาท รวมแล้ว 9,000 ล้านบาท แต่หากปี 2560 สำนักงบประมาณให้เงิน 1,000 ล้านบาท เงินบำรุงก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านบาท หากเรายังใช้งบเดิม ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องมาคำนวณให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกระทบเงินบำรุงและส่งผลต่อภาวะขาดสภาพคล่องของ รพ.ได้ ดังนั้นต้องคำนึงหลักๆ 3 อย่าง คือ 1.ประชาชนสุขภาพดี 2.เจ้าหน้าที่มีความสุข 3.ระบบสุขภาพยั่งยืน แต่ตอนนี้ทุกคนเรียกร้องเจ้าหน้าที่มีความสุข ก็ต้องถามกลับไปว่า ประชาชนสุขภาพดีหรือไม่ และระบบยั่งยืนหรือไม่ เพราะหาก รพ.ขาดทุน ระบบสุขภาพจะยั่งยืนหรือไม่  จึงขอให้คำนึงทั้งสามข้อด้วย

S__9199773

S__9199774

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image