จับตาการเปลี่ยนแปลง สนามแม่เหล็กโลก ขนลุก ‘อาจมีสลับขั้ว’

จากภาพ ฝูงดาวเทียมสวอร์มขององค์การอีซา ประกอบด้วยดาวเทียมสามดวง คอยตรวจวัดความเข้มและความเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกด้วยความละเอียดแม่นยำสูง
(จาก ESA/ATG Medialab)

โลกเรามีสนามแม่เหล็กห่อหุ้มทั่วทั้งดวง สนามแม่เหล็กโลกมีบทบาทสำคัญในการเป็นเกราะปกป้องบรรยากาศของโลกจากลมสุริยะ
แต่สนามแม่เหล็กของโลกมิใช่สิ่งที่คงที่ถาวร บางครั้งอาจมีการสลับขั้วขึ้น จากขั้วเหนือเป็นขั้วใต้ จากขั้วใต้เป็นขั้วเหนือ นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานการสลับขั้วแม่เหล็กโลกในอดีตมาแล้วหลายครั้ง

องค์การอวกาศยุโรปหรือองค์การอีซามีดาวเทียมชุดหนึ่งชื่อว่า สวอร์ม ฝูงบินนี้ขึ้นสู่อวกาศเมื่อปลายปี 2556 ประกอบด้วยดาวเทียมสามดวงปฏิบัติภารกิจร่วมกันในการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกทั้งจากแกนโลก เนื้อโลก เปลือกโลก มหาสมุทร รวมถึงบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์และแมกนีโทสเฟียร์

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากสวอร์มที่แสดงถึงความเข้มสนามแม่เหล็ก ณ บริเวณต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงทั้งเข้มขึ้นและอ่อนลงรวมถึงอัตราการเปลี่ยนแปลงด้วย

Advertisement

news-384-Mzg0ID1

แผนที่แสดงความเข้มสนามแม่เหล็กโลก พื้นที่สีแดงคือบริเวณความเข้มสูง พื้นที่สีน้ำเงินคือบริเวณความเข้มต่ำ
(จาก ESA/DTU Space)

ข้อมูลจากสวอร์มแสดงว่า สนามแม่เหล็กแถบตอนบนของทวีปอเมริกาเหนืออ่อนกำลังลงประมาณ 3.5% ส่วนในเอเชียกับเข้มขึ้นประมาณ 2% ส่วนบริเวณที่เรียกว่า เขตผิดปกติแอตแลนติกใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่สนามแม่เหล็กอ่อนที่สุดกำลังขยับไปทางตะวันตกอย่างต่อเนื่องพร้อมกับอ่อนกำลังลงไปอีก 2% นอกจากนี้ ตำแหน่งของขั้วแม่เหล็กก็กำลังเปลี่ยนตำแหน่งเช่นกัน พบว่าขั้วเหนือแม่เหล็กโลกกำลังเคลื่อนที่ไปทางตะวันออกกำลังจะขึ้นบกที่ทวีปเอเชีย

เขตผิดปกติแอตแลนติกใต้ หมายถึงบริเวณหนึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติก อยู่ห่างจากฝั่งของบราซิลประมาณ 200-300 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นจุดที่แถบรังสีแวนอัลเลนอยู่ใกล้ผิวโลกมากโดยอยู่เหนือผิวโลกขึ้นไปเพียง 200-800 กิโลเมตรเท่านั้น ดาวเทียมที่เคลื่อนผ่านบริเวณนี้จะได้รับรังสีจากอนุภาคพลังงานสูงมากกว่าบริเวณอื่น

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสนามแม่เหล็กโลกเกิดขึ้นจากกระแสวนของเหล็กและนิกเกิลหลอมเหลวที่อยู่ในแก่นโลกชั้นนอกลึกลงไปใต้ผิวโลกราว 3,000 กิโลเมตร เมื่อเหล็กหลอมเหลวไหลวนตามการหมุนรอบตัวเองของโลกจะเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้า เป็นปรากฏการณ์คล้ายกับที่เกิดขึ้นในไดนาโม เมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าสนามแม่เหล็กก็เกิดขึ้นตามมา และเมื่อใดที่ทิศทางหรือความเร็วในการไหลของโลหะเหลวที่แกนโลกชั้นนอกเปลี่ยน ก็จะทำให้สนามแม่เหล็กเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

“ข้อมูลที่ได้จากสวอร์มทำให้เราทราบว่าความเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กดูเหมือนจะเกิดจากการที่โลหะเหลวที่แกนโลกไหลเร็วขึ้น” คริส ฟินเลย์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอวกาศแห่งชาติในเดนมาร์กกล่าว

การที่โลหะหลอมเหลวที่แกนโลกไหลเร็วขึ้นจะหมายถึงใกล้ถึงเวลาสลับขั้วแล้วหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ แม้จะยังไม่ยืนยันแน่ชัด
เนื่องด้วยนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจสาเหตุของการอ่อนกำลังของสนามแม่เหล็กในบางพื้นที่ดีนัก

ด้านนายวิมุติ วสะหลาย กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ให้ข้อมูลว่า หากแม่เหล็กโลกจะสลับขั้ว ขึ้นมาจริงๆ คงไม่ได้สลับแบบปุบปับฉับพลัน แบบเช้าตื่นมาเห็นเข็มทิศชี้กลับด้าน แต่มันจะค่อยๆ เปลี่ยนใช้เวลาหลายปี ซึ่งไม่น่าจะส่งผลร้ายแรงถึงขั้นคอขาดบาดตายหรือจะสูญสิ้นอารยธรรมอย่างที่หลายคนกลัว จากบันทึกการสลับขั้วในอดีต ซึ่งมีมาหลายครั้ง พบว่า มันไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาของการเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งใดเลย

ดังนั้น สนามแม่เหล็กโลกจึงต้องเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image