โลกสองวัย : 70 ปีครองราชย์

วันที่ 9 มิถุนายน 2559 เป็นวันครบรอบ 70 ปีที่รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9

หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์เป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน”

ต่อมาประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์มีในพระราชหฤทัยขณะนั้นว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร”

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 และเสด็จนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

วันที่ 28 เมษายน 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม

ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

Advertisement

วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศ รามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ในโอกาสเดียวกันนั้น พระองค์มีพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ” เสด็จฯไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร

ระหว่างผนวช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ระหว่างทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถ ทรงทำวัตรเช้า-เย็น ทรงสดับพระธรรมและพระวินัย และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระราชกรณียกิจอื่น เช่นเสด็จฯไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม เพื่อทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 28 ตุลาคม ไปทรงรับบิณฑบาตจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

หลังทรงลาผนวช เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 70 ปี ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอให้พระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน   

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image