บริหารทรัพยากรมนุษย์ ความรู้จำเป็นก่อนทำงานกับเพื่อนบ้าน “CLMV”

หลังกระแสการโหมโปรโมตการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเริ่มซาลง ความตื่นเต้นของผู้คนก็หายไปเมื่อพบว่า ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก การให้ความรู้กับนักเรียนและประชาชนก็ไม่ได้ก้าวไปไกลเกินกว่าเรื่องธงและดอกไม้ประจำชาติมากนัก

ขณะที่มีเสียงสะท้อนจากผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนว่าข้อมูลด้านการลงทุนธุรกิจในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) นั้น ยังไม่ได้รับการรวบรวมเป็นฐานข้อมูลที่เอื้อความสะดวกเพียงพอ

ในความเป็นจริงธุรกิจระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้นมายาวนาน บริษัทใหญ่ๆ หลายเจ้าก้าวเข้าไปลงทุนใน CLMV ด้วยตัวเอง ความรู้ด้านหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการจัดระบบคือเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์ใน CLMV ซึ่งแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างทั้งด้านกฎหมายและวัฒนธรรม

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการนานาชาติ หัวข้อ Managing HR in CLMV: Trends, Challenge and Lessons LearnedŽ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ CLMV มาให้ความรู้และประสบการณ์ จากนั้นจึงได้แปลการบรรยายจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับนักบริหารคน ใน CLMVŽ โดยมี ผศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นบรรณาธิการ

Advertisement

หนังสือได้ให้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดแรงงาน ลักษณะเฉพาะของแรงงาน และกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารแรงงานในประเทศ CLMV รายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0-2613-3302-6

ทรัพยากรมนุษย์02

ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้สรุปประเด็นเด่นในหนังสือเล่มนี้ว่า ได้รวบรวมกฎหมายแรงงานของประเทศในอาเซียนไว้ รวมถึงอนุสัญญาที่แต่ละประเทศให้ไว้ และพูดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแรงงานในประเทศต่างๆ ที่มีไม่เท่ากัน

Advertisement

ข้อมูลจากหนังสือเมื่อมองประเด็นเด่นในแต่ละประเทศ CLMV เริ่มที่ กัมพูชา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กัมพูชามีอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 15 จีดีพีต่อหัว 1,255 เหรียญสหรัฐ ทำให้เลื่อนขั้นจากประเทศรายได้ต่ำเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ ประชากรกัมพูชาราว 15 ล้านคน เป็นกำลังแรงงาน 7.5 ล้านคน มาอยู่ไทยทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย 8 แสนคน เนื่องจากไทยมีอัตราค่าจ้างสูงกว่า ขณะที่การบริหารจัดการแรงงานของเขากำลังค่อยๆ พัฒนา โดยเริ่มกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานเฉพาะในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จุดแข็งแรงงานกัมพูชา คือ กำลังแรงงานอยู่ในวัยหนุ่มสาว ค่าจ้างต่ำ แต่ไม่มีทักษะฝีมือ

ประเทศ ลาว เศรษฐกิจลาวพัฒนาอย่างรวดเร็วช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 1,725 เหรียญสหรัฐ อัตราความยากจนลดจากร้อยละ 46 ในปี 1992 เหลือร้อยละ 23 ในปี 2013 แต่ตัวเลขเศรษฐกิจลาวที่เพิ่มสูงเป็นเพราะมีฐานขนาดเล็ก โดยกฎหมายแรงงานเพิ่งออกมาในปี 2013 ปัญหาของลาวขณะนี้กำลังขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ

ด้านทาง เมียนมา หลังเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลพลเรือนกึ่งประชาธิปไตย เกิดกระแสการปฏิรูปที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากมาย เมียนมาขาดแคลนข้อมูลด้านแรงงานการสำรวจกำลังแรงงานทำขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน กฎหมายแรงงานเก่ามาก คงต้องรอรัฐบาลพลเรือนเข้าไปทำ

เวียดนาม ประชากร 90 ล้านคน ค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 6,500 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำแยกตามประเภทบริษัทตามพื้นที่ แรงงานที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจจะได้ค่าตอบแทนสูงที่สุด แรงงานเวียดนามในไทยส่วนใหญ่เข้ามาโดยพาสปอร์ตท่องเที่ยวซึ่งผิดกฎหมาย

เศรษฐกิจใน CLMV กำลังโต มีการลงทุนพัฒนาเยอะ จะเห็นเศรษฐีเกิดใหม่มาก อย่างในลาวที่เป็นแลนด์ลิงก์ให้เราขยายเศรษฐกิจไปอินเดียและจีนได้ มีธุรกิจให้ทำได้หลายรูปแบบ เคล็ดลับหนึ่งในการลงทุนคือต้องให้มีผู้บริหารท้องถิ่นร่วม ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ละเอียด แต่ไม่ควรรีบร้อน ต้องศึกษาตลาดก่อน ขณะที่ตอนนี้ลาวมีการเปลี่ยนแปลงมาก ต้องเตรียมคนให้พร้อมก่อนการลงทุน เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศนั้น ขณะที่ควรระวังความอ่อนไหวเรื่องการเมืองการเลือกตั้งในกัมพูชาและลาวŽ ดร.สราวุธกล่าว

ทรัพยากรมนุษย์03
สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์-กิตติ ประเสริฐสุข-นิธินาถ สินธุเดชะ เตลาน

ด้าน ดร.นิธินาถ สินธุเดชะ เตลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท NABLE PLUS เล่าประสบการณ์ในหน้าที่ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ว่า ที่ผ่านมามีลูกค้าขยายธุรกิจใน CLMV จำนวนมาก ข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ที่น่าสนใจที่สุด คือ การทำให้เข้าใจข้อกฎหมาย มีการเปรียบเทียบ จนถึงที่มาวิธีคิดของกฎหมายต่างๆ ในแต่ละประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลแต่ละประเทศ

วันนี้เรามี The New USA ที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่สหรัฐหรือยุโรปแต่เป็น The United State of Asia หมายรวมถึงจีน อินเดีย และอาเซียน เราต้องอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โอกาสทางธุรกิจขององค์กรในประเทศกลุ่มนี้มีโอกาสอยู่ทุกที่ ผู้บริหารทรัพยากรบุคคลต้องเก็บเกี่ยวความรู้ ที่ผ่านมาบริษัทไทยที่ลงทุนใน CLMV จะพูดคุยกันผ่านธนาคารไทยและผู้ตรวจสอบบัญชีในประเทศนั้นๆ มีการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคกัน ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบเช่นที่มีในหนังสือเล่มนี้

ไม่ว่าเราจะไปทำธุรกิจใน CLMV หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เราต้องมีคือความเคารพซึ่งกันและกัน ความซื่อสัตย์ในการทำธุรกิจและทัศนคติที่ถูกต้อง มีความจริงใจเป็นจุดเริ่มต้น เป็นส่วนหนึ่งในสังคมเขาอย่างถูกต้องและมีจรรยาบรรณ จะเป็นจุดพิสูจน์ตนเองอย่างยั่งยืน เป็นหลักการที่สามารถนำไปใช้ได้ทุกที่ทั่วโลก ที่สำคัญคือการแสดงความจริงใจและเห็นคุณค่าของคนในองค์กรŽ

ดร.นิธินาถ ชี้ให้เห็นจุดสำคัญที่น่าสนใจจากภาพรวมเศรษฐกิจ CLMV ว่า ทุกประเทศจะพูดถึงเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ไทยมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา น่าคิดต่อว่าหากประเทศเขากำลังเติบโตเช่นนี้ เขาจะกลับสู่บ้านเกิดไหม แล้วเราจะนำแรงงานทดแทนมาจากไหน

จะเห็นว่าตอนนี้ทุกประเทศมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ค่าจ้างสูงขึ้น เรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญมาก คนวางทิศทางธุรกิจจึงต้องสนใจเรื่องนี้เช่นกันŽ ดร.นิธินาถกล่าว

อีกความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียน

รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ต่างจากหนังสืออาเซียนที่มีอยู่ดาษดื่น เพราะมีข้อมูลที่สำคัญ ขณะที่คนไทยมองอาเซียนแต่เรื่องข้อตกลงของรัฐหลังการเปิดอาเซียน แต่หนังสือเล่มนี้พูดถึงอาเซียนตามกลไกตลาด ที่ผ่านมาผู้ไปลงทุนในอาเซียนส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยข้อตกลงอะไรแต่อาศัยกลไกตลาด นี่เป็นหนังสือที่สะท้อนอาเซียนตามความเป็นจริง การลงทุนที่เกิดจริง

เนื้อหามีทั้งภาพใหญ่เริ่มจากนักวิชาการตัวแทนประเทศ CLMV แต่ละท่านมาพร้อมโครงสร้างข้อมูลเศรษฐกิจทั่วไป ตลาดแรงงาน ประชากรวัยแรงงาน แล้วยังได้เห็นกฎระเบียบ ผู้ที่มาพูดเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจากประเทศนั้นๆ มีนโยบายด้านแรงงาน เป็นข้อกำหนดกฎหมายที่ต้องรู้เมื่อไปลงทุน รวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแรงงานแต่ละที่ จนถึงข้อเสนอแนะเมื่อไปลงทุนŽ

รศ.ดร.กิตติกล่าว และว่า อาเซียนเกิดขึ้นมาพร้อมหลักกลไกตลาด การจะพัฒนาไปด้วยกันที่ขาดไม่ได้คือ การพัฒนาทักษะแรงงานŽ

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเมื่อมีการรวบรวมข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ จำเป็นทั้งกับผู้ที่ไปลงทุนใน CLMV และผู้ที่ต้องบริหารคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

9 เคล็ด(ไม่)ลับ

การบริหารคนใน CLMV

3 ต้องรู้ 1.เศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเติบโตสูงที่สุดในอาเซียน 2.ประเทศไทยได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เพราะเป็นศูนย์กลางอาเซียนและอยู่ติดกับ CLMV 3.CLMVมีแรงงานหนุ่มสาวจำนวนมากที่มีศักยภาพในการพัฒนาทักษะฝีมือ

3 ต้องเตรียม 1.ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานของ CLMV 2.ความพร้อมของคนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ 3.พัฒนาผู้บริหารและพนักงานท้องถิ่น

3 ต้องตระหนัก 1.ความสำคัญของซีเอสอาร์ 2.ความแตกต่างทางวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ 3.การบริหารคนแบบมีกลยุทธ์ เน้นสอนงานให้ปฏิบัติได้จริงและมีความรักต่อองค์กร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image