‘ศอตช.’รอ สตง.ส่งข้อมูล’จีที200’ เผย’ส.นิติวิทย์-ป.ป.ส.’จัดซื้อด้วย

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้ ศอตช.ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด รุ่นจีที 200 ว่า ขณะนี้ ศอตช.อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คาดว่าทาง สตง.จะส่งข้อมูลมาให้ ศอตช.ในสัปดาห์หน้า ส่วนประเด็นการตรวจสอบนั้น คาดว่าเป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างว่ามีความผิดปกติส่วนใดบ้าง และการตรวจสอบประเด็นการเรียกร้องการเยียวยาจากบริษัทผู้แทนจำหน่าย ทั้งนี้ หากได้ข้อมูลแล้วจะเสนอต่อที่ประชุม ศอตช.อีกครั้ง โดยมีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. เป็นประธาน

ด้าน พล.อ.ไพยูลย์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบการจัดซื้อ และมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปตรวจสอบในประเด็นข้อกฎหมายในการขอรับค่าชดเชยในฐานะผู้เสียหาย ส่วนตัวเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีสองประเด็น จึงต้องแยกแยะให้ชัดเจน ทั้งเรื่องการขอรับค่าชดเชย และขั้นตอนการตรวจสอบการจัดซื้อ อย่างไรก็ตาม ต้องรอข้อมูลจาก สตง. ที่จะส่งมายังนายประยงค์ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นผู้เสียหาย ควรมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา เห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ต่างจากกรณีการหลอกลวงแชร์ลูกโซ่ ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เป็นคนละประเด็นกันกับการตรวจสอบในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับข้อมูลการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด รุ่นจีที 200 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวนั้น ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมมี 2 หน่วยงาน คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) สมัย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็น ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดทั้งหมด 4 ครั้ง ด้วยระบบวิธีพิเศษ 3 ครั้ง และวิธีสอบราคา 1 ครั้ง โดยวิธีการจัดซื้อวิธีพิเศษ 3 ครั้ง จะจัดซื้อกับบริษัทเอวิเอฯ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 และวันที่ 24 กันยายน 2551 โดยจัดซื้อเครื่องจีที 200 ครั้งละ 1 เครื่อง ราคาเครื่องละ 1,120,000 บาท และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 จัดซื้อจีที 200 อีก 4 เครื่อง ราคา 4,480,000 บาท ตกราคาเครื่องละ 1,120,000 บาท ส่วนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ใช้วิธีสอบราคา โดยจัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 2 เครื่อง มีบริษัท เอ เอส แอล เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัทแจ๊คสันฯ ร่วมเสนอราคา โดยบริษัท เอเอสแอลเอ็มฯ เสนอราคา 894,000 บาท ราคาเครื่องละ 447,000 บาท ต่ำกว่าบริษัทแจ๊คสันฯที่เสนอราคา 1,360,000 บาท ราคาเครื่องละ 680,000 บาท ดังนั้น บริษัทเอเอสแอลเอ็มฯจึงได้รับการคัดเลือก

Advertisement

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับ ป.ป.ส.ได้จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ด้วยวิธีการอีออคชั่น โดยจัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 10 เครื่อง มีบริษัทแจ๊คสันฯ และบริษัทเอวิเอฯร่วมเสนอราคา โดยบริษัทแจ๊คสันฯเสนอราคา 4,248,000 บาท ตกราคาเครื่องละ 424,800 บาท ส่วนบริษัทเอวิเอฯเสนอราคา 4,250,000 บาท ตกราคาเครื่องละ 425,000 บาท ดังนั้น บริษัทแจ๊คสันฯจึงได้รับการคัดเลือก ส่วนครั้งที่ 2 จัดซื้อเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ด้วยวิธีพิเศษ โดยจัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 5 เครื่อง เป็นการจัดซื้อกับบริษัทแจ๊คสันฯ ในราคา 2,124,000 บาท ตกราคาเครื่องละ 424,800 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image