ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เมื่ออังกฤษโหวตออกจากอียู

รูปนักวิชาการ

หมายเหตุ –  ความเห็นของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มองผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ภายหลังชาวอังกฤษลงมติ 51.9 ต่อ 48.1 เปอร์เซ็นต์ แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท

 

สมประวิณ มันประเสริฐ

Advertisement

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

 

Advertisement

ผลกระทบเศรษฐกิจไทยจะมี 2 ช่องทางคือ 1.ความผันผวนทางการเงิน ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์จะผันผวนรุนแรง แต่เมื่อมองเสถียรภาพการเงินระหว่างประเทศของไทยแล้วถือว่าอยู่ในระดับเข้มแข็ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เชื่อว่ามีความเพียงพอในการรับมือความผันผวนในระยะสั้นได้ 2.ประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาว มีผลวิจัยระบุว่า การที่อังกฤษออกจากอียูจะเป็นผลลบให้เศรษฐกิจอังกฤษในปี 2559 เติบโตลดลงประมาณ 1-2% ส่วนนี้จะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าลดลง ซึ่งประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรลดลงต่อเนื่องจากปี 2548 อยู่ที่ 2.5% มาอยู่ที่ 1.8% ในปี 2558 ส่วนนี้หากวัดกลับมาเป็นผลกระทบการส่งออกสินค้าในประเทศไทย หากอังกฤษเติบโตลดลง 1-2% จริง และลดปริมาณนำเข้าสินค้า จะทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงอีกประมาณ 0.45% ส่วนตัวประเมินว่า ปี 2559 การส่งออกจะติดลบ 1% หลังจากนี้จึงต้องปรับเป้าหมายอีกครั้ง

การออกจากอียูของอังกฤษยังต้องใช้เวลากว่า 2 ปี เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายของอังกฤษ รวมทั้งต้องเจรจากับทางอียูด้วย เบื้องต้นประเทศไทยจะกระทบในด้านจิตวิทยา และกระแสเงินทุนระยะสั้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจอียู และเศรษฐกิจของอังกฤษเช่นกัน กระทบต่อการดำเนินนโยบายธนาคารกลางต่างๆ ของโลก ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ ธปท.ได้ระบุถึงปัจจัยอังกฤษในบทวิเคราะห์เศรษฐกิจแล้ว สำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการค้าขายระหว่างประเทศ

แนะนำว่าหลังจากนี้ไปจะเจอกับความเสี่ยงและความผันผวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

นณริฏ พิศลยบุตร

นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)

 

ในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อภาคการเงินเป็นหลัก เนื่องจากนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจว่า ทิศทางของอังกฤษต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร นโยบายต่างๆ โดยเฉพาะด้านการลงทุนจะไปเป็นไปในทิศทางไหน ประกอบกับพื้นฐานของข้อตกลงและความร่วมมือทางการค้าระหว่างอังกฤษที่เคยได้รับสมัยเข้าร่วมกับอียูที่อาจหมดไป จึงทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่นักลงทุนทั่วโลก ส่งผลให้นักลงทุนต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ หันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยลง อาทิ ทองคำ และค่าเงินเยน จึงทำให้ในช่วงนี้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น

ระยะต่อมาจะเป็นขั้นต่อของกฎหมายที่อังกฤษจะประสานงานไปยังอียู เพื่อขอลาออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งคาดว่าในกระบวนการนี้จะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะแล้วเสร็จ ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้จะมีลักษณะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่น่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากนัก ซึ่งถ้าหากเกิดผลกระทบขึ้นจริง น่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดจากการค้า และการส่งออกไปยังอียู และอังกฤษมากกว่า ที่อาจมีการปรับตัวลดลง แต่ไม่น่าจะมีทิศทางที่ลดลงรุนแรงมากนัก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่น่าจะได้รับผลกระทบตรงนี้ แต่คาดว่าจะไม่กระทบมากนัก เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปอังกฤษไม่สูงนัก

ส่วนระยะยาว โดยจะเป็นช่วงที่อังกฤษออกจากอียูแล้วนั้น ก็คงจะต้องมีการสร้างกฎระเบียบใหม่ และความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งรูปแบบจะออกมาเป็นแบบใดนั้น ถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างคาดเดาได้ยาก จึงทำให้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน เช่นเดียวกับอนาคตของอียูจะเป็นรูปแบบใดนั้น จะมีประเทศสมาชิกออกเพิ่มหรือไม่ ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูเช่นกัน

 

อุสรา วิไลพิชญ์

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

 

จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) อังกฤษ ให้เติบโตลดลงเหลือ 1.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.9% ในปีนี้ ขณะที่จีดีพีของอียู คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 1.2% เช่นกัน จากเดิมที่คาดขยายตัวได้ 1.4% ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงไปอีกในระยะต่อไปเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าได้ถึง 1.2300 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินยูโรจะอ่อนตามไปด้วยอยู่ที่ 1.0300 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ด้านผลกระทบต่อสถาบันการเงินไม่น่ามีผลกระทบมาก ธนาคารกลางต่างๆ ในยุโรปมีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว เพราะมีข่าวล่วงหน้าไว้หลายเดือน ในส่วนสภาพคล่อง ธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษมีอัดฉีดสภาพคล่องอยู่แล้ว ทั้งนี้ ต้องจับตาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของอังกฤษ เพราะประเทศที่ไปลงทุนในอังกฤษเป็นประเทศยุโรป อาจจะกระทบการลงทุนในอังกฤษหรือไม่

ในส่วนผลกระทบต่อค่าเงินบาทคาดว่าจะมีผลไม่มากนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในเอเชีย เนื่องจากปริมาณการค้าระหว่างไทยและอังกฤษมีน้อยราว 1% เมื่อเทียบกับปริมาณการค้าทั้งหมด แต่อาจจะมีการอ่อนค่าในช่วงสั้นๆ ในช่วงนี้ โดยกรอบอยู่ที่ราว 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดว่าช่วงก่อนปลายปีค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ที่คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสกุลเงินที่มีความอ่อนไหวและค่าเงินจะได้รับผลกระทบมากคือ ริงกิตของมาเลเซีย รูเปียของอินโดนีเซีย และวอนของเกาหลีใต้ ทั้งนี้จะส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นได้ถึง 95 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี กรณีที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น ก็เป็นผลดีต่อค่าบาท ทำให้ช่วยลดทอนผลกระทบค่าบาทลงลงได้

“เมื่อตลาดการเงินโลกเกิดความตื่นตัวและปิดความเสี่ยง (ริสออฟ) ริงกิต รูเปีย และวอน จะเป็นสกุลเงินหลักในเอเชียที่ได้รับผลกระทบและอ่อนค่าลง ส่วนผลกระทบกับค่าบาทไม่มากนัก ท้ายที่สุดแล้วยังต้องติดตามช่วงระยะ 2 ปี ที่อังกฤษจะออกจากอียู ส่วนกรณีการลาออกของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มองว่าไม่ได้มีผลกระทบเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังต้องติดตามท่าทีของประเทศในอียู อาทิ ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฮังการี เดนมาร์ก ว่าจะมีทิศทางกับกรณีเบร็กซิทอย่างไร”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักยังขยายตัวได้ต่ำ แต่เศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวได้ดี โดยเศรษฐกิจสหรัฐคาดว่าจะขยายตัวได้ 1% มองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรืออาจจะขึ้นได้แค่ครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งความเป็นไปได้มีมากขึ้น หลังจากที่ประชามติอังกฤษออกจากอียู ดังนั้น จึงต้องจับตาการประชุมเฟดในครั้งต่อไปเดือนกรกฎาคมว่าเฟดจะส่งสัญญาณอย่างไร

“หลังจากที่อังกฤษออกจากอียู ทำให้แนวโน้มการขึ้นดอก เบี้ยของเฟดเป็นไปได้น้อย มองว่าเฟดอาจจะลดดอกเบี้ยมาที่เดิมหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากขณะนี้ เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวตามลำดับ และกำลังเข้าสู่วัฏจักรการชะลอตัว จากรอบเดิมมีอัตราการเติบโต 59 เดือน แล้วจะชะลอตัว แต่รอบนี้วัฏจักรการขยายตัว 84 เดือนแล้ว ดังนั้น เชื่อว่ากำลังจะชะลอตัวลงตามลำดับ นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีการแข็งค่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้นโยบายการเงินตึงตัว ไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวในอนาคต และทำให้ต้นทุนการเงินแพงขึ้น และเรื่องโครงสร้างการผลิตด้านพลังงานที่ลดลง ขณะที่เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะโตได้ 6.7-6.8% เพราะการปรับสมดุลเศรษฐกิจเริ่มส่งผลชัดเจน สัดส่วนภาคบริการมีบทบาทมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมลดบทบาทลง

 

กรณีการเบร็กซิท ธปท.จะลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น มองนโยบายการเงินผ่อนคลาย และในตลาดการเงินมีสภาพคล่อง 1.7 ล้านล้านบาทต่อวัน ไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย ที่ผ่านมา ธปท.มองความเสี่ยงเบร็กซิทอยู่แล้ว เพราะผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงน้อย ธปท.น่าจะเก็บกระสุนไว้ก่อน คาดว่า ธปท.จะคงไว้ที่ 1.50% ในช่วงตลอดทั้งปี ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 3%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image