สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประชาคมอาเซียน ในพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพีอาเซียน

แผนที่แสดงฉากและบ้านเมืองต่างๆ ในพระอภัยมณีอยู่ทางทะเลอันดามัน ปรับปรุงใหม่จากข้อเสนอของ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) เป็นท่านแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2490

สุนทรภู่ เป็นมหากวีกระฎุมพีอาเซียน เพราะแต่งพระอภัยมณีโดยใช้ฉากทะเลสองมหาสมุทร คือ แปซิฟิกกับอินเดีย เชื่อมโยงบ้านเมืองในประชาคมอาเซียนทั้งอุษาคเนย์ แถมยังกว้างไกลไปถึงบ้านเมืองทางจีน, อินเดีย, ตะวันออกกลางและยุโรป

แผนที่แสดงฉากและบ้านเมืองต่างๆ ในพระอภัยมณีอยู่ทางทะเลอันดามัน ปรับปรุงใหม่จากข้อเสนอของ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) เป็นท่านแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2490
แผนที่แสดงฉากและบ้านเมืองต่างๆ ในพระอภัยมณีอยู่ทางทะเลอันดามัน ปรับปรุงใหม่จากข้อเสนอของ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) เป็นท่านแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2490

“ภูมิศาสตร์สุนทรภู่” ของ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2490) เป็นหนังสือค้นคว้าเล่มสำคัญเกี่ยวกับลักษณะภูมิศาสตร์ที่มีในพระอภัยมณี อธิบายว่า

พระอภัยมณีเรือแตก แล้วพบนางสุวรรณมาลี จนถึงไปครองเมืองผลึก บรรดาเจ้าเมืองที่เป็นเครือข่ายบริวารต่างพากันกลับบ้านเมืองของตน มีกลอนพรรณนาว่า

พอลมตีคลี่ใบขึ้นใส่รอก               ต่างแล่นออกอ่าวมหาชลาไหล
ด้วยเจนทางกลางคงคาเคยมาไป                ต่างใช้ใบแยกย้ายไปรายเรียง
พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก                    ออกเส้นนอกแหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง
ไปกึงตั๋งกังจิ๋วจุนติ๋วเซียง                เข้าลัดเลี่ยงอ้ายมุ้ยแล่นฉุยมา
ข้างพวกแขกแยกเยื้องเข้าเมืองเทศ                    อรุมเขตคุ้งสุหรัดปัตหนา
ไปปะหังปังกะเราะเกาะชวา                           มะละกากะเลหวังตะรังกะนู
วิลันดามาแหลมโล้บ้านข้าม                    เข้าคุ้งฉลามแหลมเงาะเกาะราหู
อัดแจจามข้ามหน้ามลายู                     พวกญวณอยู่เวียดนามก็ข้ามไป
ข้างพวกพราหมณ์ข้ามไปเมืองสาวถี                 เวสาลีวาหุโลมโรมวิสัย
กบิลพัสดุ์โรมพัสดุ์ถัดถัดไป                       เมืองอภัยสาลีเป็นที่พราหมณ์
ข้างพวกไทยได้ลมก็แล่นรี่                    เข้ากรุงศรีอยุธยาภาษาสยาม
พม่ามอญย้อนเข้าอ่าวพุกาม                     ฝรั่งข้ามฟากเข้าอ่าวเยียระมัน
ที่บางเหล่าก็เข้าอ่าววิลาศ                   เมืองมะงาดมะงาดามะงาสวรรค์
ข้ามเกาะเขามาลีกะปิตัน              หาพงศ์พันธุ์พวกพ้องพี่น้องตัว

Advertisement

กลอนพระอภัยมณีที่ยกมา มีชื่อเมืองต่างๆ ทั้งในประชาคมอาเซียนและที่อื่นๆ หลายเมือง เมื่อกาญจนาคพันธุ์ตรวจสอบเทียบเคียงปัจจุบันแล้วจะมีดังนี้
แหลมเรียว (แหลมมลายูตรงสิงคโปร์), กึงตั๋ง (กวางตุ้ง), กังจิ๋ว (กุยจิ๋ว), จุนติ๋วเซียง (?), อ้ายมุ้ย (อ้ายมุ้ย),
เมืองเทศ (เมืองแขกอินเดีย, ตะวันออกกลาง), อรุม (ตุรกี), สุหรัด (สุรัฐ อินเดีย ร.6 ยกมาเรียกสุราษฎร์ธานี), ปัตหนา (ปาตลีบุตร อินเดีย),
ปะหัง (รัฐปะหัง มาเลเซีย), ปังกะเราะ (เกาะในช่องแคบมะละกา), เกาะชวา (เกาะชวา), มะละกา (มะละกา มาเลเซีย), กะเลหวัง (มีในลายพระหัตถ์ ร.5 แต่ไม่รู้อะไร), ตะรังกะนู (ตรังกานู มาเลเซีย)
วิลันดา (ฮอลันดา เนเธอร์แลนด์ น่าจะหมายถึงบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซีย เมืองขึ้นฮอลันดา), แหลมโล้บ้านข้าม (?), คุ้งฉลาม (?), แหลมเงาะ (?), เกาะราหู (?), อัดแจ (อาเจะห์ เกาะสุมาตรา)
จาม (จาม เวียดนาม), มลายู (มาเลเซีย), เวียดนาม, สาวถี (สาวัตถี อินเดีย), เวสาลี(ไพศาลี อินเดีย), วาหุโลม (อินเดีย), โรมวิสัย (อินเดีย), กบิลพัสดุ์ (อินเดีย), โรมพัสดุ์(อินเดีย), อภัยสาลี (ไพศาลี อินเดีย), พม่า, มอญ, พุกาม (พม่า),
เยียระมัน (เยอรมัน), วิลาศ (อังกฤษ),
มะงาด (?), มะงาดา (มีชื่อในอิเหนา), มะงาสวรรค์ (?), เกาะเขามาลี (เกาะชวา, เกาะบาหลี), กะปิตัน (เกาะบินตัง อยู่ใกล้ชวา-บาหลี)

ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก มีกลอนพรรณนากองทัพช่วยรบจากเมืองต่างๆ ดังนี้
เมืองมะหุ่งกรุงเตนกุเวนลวาด เมืองวิลาศวิลยาชวาฉวี
ถึงเมืองเงาะเกาะวลำสำปะลี จะชิงตีเมืองผลึกเป็นศึกรุม
——————-
ล้วนมีธงลงหนังสือชื่อประเทศ เมืองละเมดมลิกันสำปันหนา
กรุงกวินจีนตั๋งอังคุลา ที่ยกมาทางบกอีกหกทัพ
กาญจนาคพันธุ์ เทียบเคียงปัจจุบันได้ชื่อดังนี้
เมืองมะหุ่ง, กรุงเตน, เมืองกุเวน, เมืองลวาด เป็นชื่อโน้มไปคล้ายเมืองเครือข่ายบริวารในตำนานเมืองถลาง (ภูเก็ต) สมัยโบราณ
เมืองวิลยา (?), เมืองชวา (เกาะชวา อินโดนีเซีย), ฉวี (ชื่อเดิมเกาะชวา), เกาะวลำ(เกาะอลัง ใกล้ภูเก็ต), สำปะลี (เมืองสะมารัง เกาะชวา, และเกาะสุมาตรา ไทยเรียกสำปะหลัง เป็นชื่อมันสำปะหลัง)
เมืองละเมด (ราเมศวรัม อินเดียใต้ ปลายแหลมสุดใกล้ถนนพระรามไปลังกา), มลิกัน (อเมริกัน?), สำปันหนา (อยู่ปากน้ำบนเกาะลังกา), กรุงกวิน (เกาะกาวิน? เกาะลังกาวี?), อังคุลา (อินเดียใต้ แถบอ่าวเบงกอลเรียกพวกกุลา, คุลา มีคุลาตีไม้ ในอยุธยา)
พระอภัยมณีทั้งสองตอนที่ยกมา สุนทรภู่ใช้ฉากเชื่อมโยงบ้านเมืองในประชาคมอาเซียนได้กว้างขวางทั้งสองมหาสมุทร แต่เน้นทางมหาสมุทรอินเดียเพราะเป็นเขตสำคัญ ที่ยุโรปยกมาล่าเมืองขึ้นสมัยสุนทรภู่

พระอภัยมณี ใช้ฉากทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล

พระอภัยมณี มีฉากหลักอยู่ทะเลอันดามัน หรือ “ทะเลหน้านอก” อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ ของ กาญจนาคพันธุ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2490)
ฉากพระอภัยมณี ไม่ใช่อ่าวไทยหรือ “ทะเลหน้าใน” ฝั่งทะเลตะวันออกแถบ จ. ระยอง ตามที่เคยเชื่อถือกันมานาน
สุนทรภู่เขียนบอกไว้ในพระอภัยมณี ว่าศูนย์กลางของเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นบริเวณชื่อ “นาควารินทร์” ในทะเลอันดามัน
แต่ตอนต้นเรื่องสุนทรภู่ก็บอกเบาะแสซ่อนไว้ด้วย

Advertisement

พระอภัยมณีเปิดเรื่องด้วยกล่าวถึงท้าวสุทัศน์ครองกรุงรัตนา มีโอรส 2 องค์ คือ อภัยมณี กับ ศรีสุวรรณ มีกลอนบทแรกดังนี้

๏ แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์
สมมุติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์    ผ่านสมบัติรัตนานามธานี

สุทัศน์ แปลว่า พระอินทร์, รัตนา แปลว่า แก้ว ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองสวรรค์ของพระอินทร์ มีแก้วสีเขียว
เมื่อท้าวสุทัศน์ขับไล่พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณออกจากเมือง เพราะโกรธที่ไปเรียนวิชาเป่าปี่และกระบี่กระบองสองพี่น้อง เลยพากันเดินทางจากกรุงรัตนานานราว เดือนเศษไปทางช่องสิงขร (จ. ประจวบคีรีขันธ์) ออกไปทางทะเลอันดามัน มีร่องรอยอยู่ในกลอน ดังนี้

แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ     ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร
ถึงเนินทรายชายทะเลชโลทร    ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง

สิงขร หมายถึงช่องสิงขร เป็นช่องระหว่างขุนเขาตะนาวศรีที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาได้ ระหว่างเขตแดนไทยกับพม่า
เขตไทย เป็น จ. ประจวบคีรีขันธ์ ริมฝั่งอ่าวไทย ทะเลจีนมหาสมุทรแปซิฟิก
เขตพม่า เป็นเมืองมะริด (Mergui) อ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

ช่องสิงขร

ช่องสิงขร ในแผนที่แสดงเส้นทางระหว่างอ่าวเบง กอล เมืองมะริด (Mergui) ผ่านช่องสิงขร ถึงอ่าวไทย เมืองประจวบคีรีขันธ์ มีเส้นทางรถไฟแล้ว (ภาพจาก Siam White โดย Maurice Collis, 1935 (2478))
ช่องสิงขร ในแผนที่แสดงเส้นทางระหว่างอ่าวเบง กอล เมืองมะริด (Mergui) ผ่านช่องสิงขร ถึงอ่าวไทย เมืองประจวบคีรีขันธ์ มีเส้นทางรถไฟแล้ว (ภาพจาก Siam White โดย Maurice Collis, 1935 (2478))

 

บรรพชน “คนไทย” ใช้ช่องสิงขรเป็นเส้นทางคมนาคมจากอ่าวไทยไปอ่าวเบงกอล อย่างน้อยราว 2,000 ปีมาแล้ว มีพยานหลักฐานโบราณคดียืนยันกระจัดกระจายอยู่บริเวณตั้งแต่หัวหิน, ปราณบุรี, สามร้อยยอด, กุยบุรี ฯลฯ

ช่องสิงขร นอกจากเป็นเส้นทางพระอภัยมณีเดินดงแล้ว ยังพบนางผีเสื้อ (สมุทร) ที่ชายทะเล ยังเป็นเส้นทางม้าสีหมอกของขุนแผนด้วย
กลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่งให้ม้าสีหมอกเป็นม้าเทศ (อาหรับ) ลงเรือจากเมืองเทศมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด แล้วต้อนฝูงม้าเทศผ่านช่องสิงขรไปกุย, ปราณ, ชะอำ เลี้ยงไว้ที่เมืองเพชรบุรี มีกลอนเสภา ว่า

มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด    ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า
กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา     ผ่านชะอำถึงท่าเพชรบุรี

ช่องสิงขรอยู่ในทิวเขาตะนาวศรีที่พาดผ่านจากทางทิศเหนือลงไปทางทิศใต้ถึงพื้นที่ทิศตะวันตกของ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ตรงที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออกของ จ. ประจวบคีรีขันธ์ เว้าลึกเข้ามา ทำให้แผ่นดินระหว่างชายฝั่งทะเลอ่าวไทยกับทิวเขาตะนาวศรีช่วงตรงนั้นคับแคบคอดกิ่ว หรือเป็น “คอคอด” จนได้ชื่อว่าเป็นบริเวณแคบที่สุดของประเทศไทย กว้างเพียง 10.96 กม. (อยู่ ต. ห้วยทราย อ. เมือง จ. ประจวบคีรีขันธ์)

หลักฐานยืนยันว่า พระอภัยมณีมีฉากหลังอยู่ทะเลอันดามันในอ่าวเบงกอล ยังมีตอน “สานุศิษย์” พระอภัยมณีที่มาช่วยรบป้องกันเมืองผลึก

สุนทรภู่กำหนดให้เกาะแก้วพิสดารเป็นสถานชุมนุมพวกเรือแตก เมื่อพระอภัยมณีมีอันเป็นไปต้องอาศัยอยู่เกาะเมื่อเรือแตก จึงมี “สานุศิษย์” เป็นชาวหลายภาษานานาชาติ

ครั้นหมดเคราะห์ได้ครองเมืองผลึก พระอภัยมณีก็ต้องปูนบำเหน็จศิษย์สำนักเกาะแก้วพิสดารมาด้วยกัน

เสร็จแล้วพวก “สานุศิษย์” ก็แยกย้ายกันไปบ้านเมืองของตน (ดังกล่าวถึงในตอนต้นแล้ว)

ทั้งหมดนี้สะท้อน “ความรู้” ของสุนทรภู่ว่ามีกว้างไกลไปถึงนานาชาติจริง
การพิจารณาเรื่องฉากใน “นิยาย” เรื่องพระอภัยมณี ไม่อาจจับตัววางตายแน่นอนให้ตรงใจสุนทรภู่ได้ทั้งหมด เพราะ “นิยาย” ก็คือ “นิยาย” ที่ใช้ทั้งสถานที่จริง เป็นฉากก็ได้ และใช้จินตนาการที่สร้างขึ้นเองโดยไม่จำเป็นต้องมีอยู่จริงในโลกเป็นฉากก็ได้

สุนทรภู่มีความรู้ภูมิศาสตร์ทะเลอันดามัน, อ่าวเบงกอล, ฯลฯ อย่างแท้จริง มีหลักฐานตรงๆ อยู่ในรำพันพิลาป (แต่งเมื่อ พ.ศ. 2385 ขณะเป็นภิกษุอยู่ในวัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ) กล่าวถึงตัวเอง “ฝัน” ว่า “จริงจริงนะจะไปอุ้มเนื้อนุ่มน่วม ลงนั่งร่วมเรือกล พยนต์ผยอง” ไปเที่ยวไกลถึงท้องทะเล และบ้านเมืองแถบอ่าวเบงกอลในมหาสมุทรอินเดีย ที่ศึกษาหา “ความรู้” ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในยุคนั้น เช่น หนังสือเก่า และชาวต่างชาติ ฯลฯ ดังมี “รำพันพิลาป” ถึงสถานที่อันมีจริงในยุคนั้นไว้ดังนี้

1. ไปเกาะชวา (ในอินโดนีเซีย) ไปเมืองมะละกา (ในมาเลเซีย) ที่เพิ่งตกเป็นของฝรั่งอย่างฮอลันดาและอังกฤษ แต่ไม่เคยไปจริง จึงเข้าใจว่าเป็นเกาะ

แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม    ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา
ไปเกาะที่อิเหนาชาวชวา    วงศ์อสัญแดหวาน่าหัวเราะ
จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว      ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ     ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม
ไม่แงงอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน    ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม     จะพาข้ามเขาละเมาะเกาะมาลากา
เดิมของแขกแตกฝรั่งไปตั้งตึก     แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวียะดา      ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาคร

2. ท่องทะเลแถบมะละกา

แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่      จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน     ร้องละครอิเหนาเข้ามาลากา
แล้วจะใช้ใบปากออกจากฝั่ง    ไปชมละเมาะเกาะวังกัลปังหา
เกิดในน้ำดำนิลดังศิลา    เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน

3. ไปอินเดียแถบ “เมืองสุหรัด” หมายถึงเมืองสุราษฎร์ ปากแม่น้ำตาปี (Tapi) อยู่เมืองบอมเบย์ (จ. สุราษฎร์ธานีและแม่น้ำตาปี เอาชื่อมาจากเมืองนี้) ที่อังกฤษยึดครองเป็นเมืองท่ามีตึกรามแบบยุโรป
แล้วจะใช้ใบไปดูเมืองสุหรัด ท่าคลื่นซัดซึ้งวนชลสาย
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์
พื้นม่วงตองทองซ้ำย่ำมะหวาด ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา

4.ไป “มังกล่า” หมายถึงเบงกอล (Bengal) ในอินเดียตะวันออก ชาวสยามเรียก “แขกบังคล่า” คือบังกลาเทศ แต่ในที่นี้น่าจะหมายถึงกัลกัตตา?

จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร       ชมประเภทพราหมณ์แขกแปลกภาษา
ได้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา     ไปมังกล่าฝาหรั่งระวังตระเวน
กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว    ตลบเลี้ยวแลวิ่งดั่งจิ้งเหลน
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผัดพวกหัศเกน     เวียนตระเวนไปมาทั้งตาปี
เมืองมังกล่าฝาหรั่งอยู่ทั้งแขก    พวกเจ๊กแทรกแปลกหน้าทำภาษี
แลพิลึกตึกรามงามงามดี    ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา
ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง    ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา    วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย
แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ     คนซื้อร้องเรียกหาจึ่งมาขาย
ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขมาย     ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ
…..

บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตะล่ง ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย
ไปชมเล่นเช่นฉันว่าประสาสบาย บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์

5. ไปลังกาของชาวสิงหล

จะพาไปให้สร้างทางกุศล ขึ้นสิงหลเห็นจะได้ไปสวรรค์
ไหว้เจดีย์ที่ทำเลเวฬุวัน พระรากขวัญอันเป็นยิ่งเขาสิงคุตร์

6. ไป “สะดือสมุทร” เป็นสถานที่สำคัญที่สุนทรภู่ “ฝัน” จะพาเดินทางไปท่อง เที่ยว ซึ่งน่าจะอยู่กลางทะเลอันดามัน แถบหมู่เกาะนิโคบาร์หรือใต้ลงไป

ออกลึกซึ้งถึงชื่อสะดือสมุทร     เห็นน้ำสุดสูงฟูมดังภูมิผา
ดูพลุ่งพลุ่งวุ้งวงหว่างคงคา    สูดนาวาเวียนวนไม่พ้นไป
เรือลูกค้าวาณิชไม่ชิดเฉียด      แล่นก้าวเสียดหลีดลำตามน้ำไหล
แลชะเลเภตราบ้างมาไป      เห็นไรไรริ้วริ้วเท่านิ้วมือ
แม้พรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป      สว่างวูบวงแดงดังแสงกระสือ
ต้องสุมไฟใส่ประโคมให้โหมฮือ      พัดกระพือเผาหนังแก้รังควาน
แต่ตัวพี่มีอุบายแก้พรายผุด      เสกเพลิงชุดเช่นกับไฟประลัยผลาญ
ทั้งพรายน้ำทำลายวอดวายปราณ      มิให้พานพักตร์น้องอย่าหมองมัว

“ความรู้” เหล่านี้สุนทรภู่น่าจะได้จาก “ประสบการณ์” นอกระบบ คือสนทนาหาความรู้จากบรรดาประชาชาติพันธุ์ต่างๆ และกะลาสีเรือที่เข้ามาค้าขายกับกรุงสยาม ในสมัย ร.2 และ ร.3 รวมทั้งจากเอกสารต่างๆ
ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีลักษณะเศรษฐกิจเพื่อ “ตลาด” ทำให้สุนทรภู่เป็น “กระฎุมพี” ที่มีโลกกว้างขวางกว่ายุคก่อนๆ (ดังอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือ ปากไก่และใบเรือ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527)

บรรยากาศของการแสวงหา “ความรู้” ที่กว้างขวางย่อมมีอยู่จริง เพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีหนังสืออีก 2 เล่ม ที่แสดงให้เห็นโลกทรรศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนๆ คือเรื่อง “นางนพมาศ” พระราชนิพนธ์ของ ร.3 และ “แสดงกิจจานุกิจ” ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image