สุจิตต์ วงษ์เทศ :เปิดกุฏิสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม 2504 ขรรค์ชัย, เรืองชัย, สุจิตต์ เล่นผีถ้วยแก้วแข่งกลอนกับสุนทรภู่

อธิบดีกรมศิลปากร นำชมศิลปวัตถุและวัตถุสถาน ภายในบริเวณวัดเทพธิดาราม ในงานกวีวรรณนา ครบรอบ 175 ปี แห่งวันเกิดของท่านสุนทรภู่ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2504

สุนทรภู่ เคยบวชและจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม แต่ในวัดเทพธิดาราม ก่อน พ.ศ. 2504 ไม่มีใครรู้ทั้งพระสงฆ์ในวัดและคนรอบวัด กระทั่งกรมศิลปากรจัดงานเปิดกุฏิสุนทรภู่ เมื่อ พ.ศ. 2504 จึงเป็นที่รู้กัน
ขณะนั้นผมเป็นเด็กวัด กำลังเรียนชั้นมัธยมปีที่ 7 เห็นคนจำนวนมากมางาน แต่ไม่รู้ว่างานอะไร? แม้จะรู้จักชื่อสุนทรภู่จากหนังสือเรียน แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร? สำคัญยังไง? แล้วเกี่ยวข้องอะไรกับวัดเทพธิดาราม? ฯลฯ เนื่องจากยังเด็กและยังโง่เกินไป จึงไม่ใฝ่รู้อยู่ในงานนั้น

เด็กวัดยาวนาน ตั้งแต่บ้านนอกถึงกรุงเทพฯ

เมื่อเรียนชั้นประถม 1-4 ในโรงเรียนวัดต้นโพธิ์ ผมเป็นเด็กวัดปรนนิบัติหลวงพี่อยู่วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ (ตอนนั้นเป็น อ. ศรีมหาโพธิ ปัจจุบันเป็น อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี)
เรียนจบชั้น ป.4 พ.ศ. 2498 หลวงพี่ก็พาเข้ากรุงเทพฯ เป็นเด็กวัดอยู่คณะ 5 วัดเทพธิดาราม (ประตูผี) เขตสำราญราษฎร์ ตอนนั้นไม่มีใครพูดถึงสุนทรภู่บวชอยู่วัดเทพธิดาราม ผมยิ่งไม่รู้จัก
หลวงพี่พาไปสมัครเรียนเข้าชั้นมัธยมปีที่ 1 โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ (ริมคลองผดุงกรุงเกษม เชิงสะพานมัฆวาน หลังศาลาสันติธรรม ยูเอ็น)
มีเด็กสมัครเรียนมาก ครูต้องสอน 2 ผลัด รอบเช้ากับรอบบ่าย ห้องละมากกว่า 50 คน ตั้งแต่ ก ข ค ฯลฯ ผมถูกจัดให้อยู่ลำดับสุดท้ายห้อง ช ต้องเรียนรอบบ่าย เข้าเรียนบ่ายโมง เลิกเรียน 4 โมงเย็น
ห้องเรียนไม่อยู่บนตึกหน้าวัดซึ่งมีหลังเดียว แต่ต้องไปเรียนเรือนไม้ หลังคามุงจากผสมสังกะสี อยู่หลังวัด ติดกับฮวงซุ้ยฝังศพ แล้วติดกำแพงหอพักนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ยุคนั้นโรงเรียนนายร้อยฯ อยู่เชิงสะพานมัฆวาน) บางวันมีนักเรียนนายร้อยมุดรั้วหนีเที่ยว ออกทางห้องที่ผมเรียน
นึกเท่าไรก็ไม่ออกว่าตอนนั้นผมได้ยินชื่อสุนทรภู่หรือยัง? เพราะไม่คุ้นเหมือนชื่ออื่นๆ

เรียนวัดนวลนรดิศ กับขรรค์ชัย, เรืองชัย

เรียนจบชั้นมัธยมต้น ม.6 จากโรงเรียนวัดมกุฏฯ พ.ศ. 2503 ไม่มีสอนชั้นมัธยมปลายต้องหาที่เรียนต่อชั้นมัธยมปลาย ม.7-8
ผมไม่ฉลาด ไม่มีญาติมิตรแนะนำ เลยหาที่เรียนต่อไม่ได้ ไม่รู้จะไปไหนก็ไปเล่นที่ ร.ร.วัดมกุฏฯ ทุกวัน จนครูสง่า เป็นครูสอนพลศึกษาเห็นเข้า ก็ฝากไปเรียนต่อชั้น ม.7 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ (ตลาดพลู) ริมคลองบางกอกใหญ่ (แต่คนมักเรียกคลองบางหลวง)
เข้าเรียน พ.ศ. 2504 ห้องเดียวกับ ขรรค์ชัย บุนปาน แต่คนละห้องติดกันกับ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์
เกือบเรียกได้ว่าผมไม่รู้จักสุนทรภู่ ถ้ารู้บ้างก็จากหนังสือเรียนที่ต้องท่องอาขยาน แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร? สำคัญยังไง? เพราะผมไม่เคยสนใจอ่านหนังสือ
ที่อ่านคือการ์ตูนหนูเล็กลุงโกร่ง, ซูเปอร์แมน, ตุ๊กตา, ปี่วิเศษ, ขวานฟ้าหน้าดำ ฯลฯ ส่วนประเภทวรรณกรรมไม่เคยใส่ใจ เพราะไม่รู้จัก
เพื่อนเรียนวัดมกุฏฯ ม.1-6 ด้วยกันชื่อ ประเสริฐ สว่างโคกกรวด (ตอนหลังเปลี่ยนนามสกุล เป็น สว่างเกษม) เคยชวนไปซื้อหนังสือเล่มละ 1 บาท ที่แผงหนังสือสนามหลวง หลังแม่พระธรณีบีบมวยผม แต่ก็ไปเป็นเพื่อนเดินเล่นเพลินๆ สนุกๆ ไม่ได้อ่านเหมือนเขา จึงไม่รู้จักหนังสือ

เปิดกุฏิสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2504

26 มิถุนายน 2504 มีงานเปิดกุฏิสุนทรภู่ ผมรู้ว่ามีงานอะไรสักอย่างที่คณะ 7 วัดเทพธิดาราม เห็นคนมาเยอะแยะ แต่ไม่รู้ว่างานอะไร? และไม่เคยไต่ถามใคร เพราะไม่รู้จะรู้ไปทำไม?
ขรรค์ชัย ริเริ่มสร้างสรรค์ออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน ด้วยวิธีคัดลายมือลงกระดาษฟุลสแก๊ป (ไม่ได้พิมพ์) แล้วเกณฑ์ให้ผมเป็นคนคัดลายมือ เพราะลายมือดี แต่สมองเลว
ผมคัดลายมือตามกำหนดของขรรค์ชัย แล้วรับถ่ายทอดความคิดวิทยาวิชาอ่านวรรณกรรมจากขรรค์ชัย เพราะเขาอ่านและเขียนกลอนมาก่อนแล้ว รู้จักหมดตั้งแต่พุทธทาส จนถึงสุนทรภู่ และ ’รงค์ วงษ์สวรรค์
แต่ผมไม่รู้จักสักคน และไม่เคยอ่านสักเล่ม โง่และงี่เง่าปานนั้น
นับแต่นั้นขรรค์ชัยชักลากผมไปตามงานต่างๆ ของชมรมนักกลอน (ปัจจุบันคือสมาคมนักกลอน) เพราะเขารู้จักนักกลอนและนักเขียนมากหน้าหลายตา และหนีเรียนไปวัดโพธิ์ ฯลฯ ในที่สุดก็สั่งสมความรู้เกี่ยวกับกวีนิพนธ์ ทั้งของโบราณและของร่วมสมัยยุคนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญให้หาอ่านงานและประวัติสุนทรภู่ (ในช่วงเวลาต่อไป)
นั่นแหละถึงเพิ่งรู้ว่าผมเป็นเด็กวัดที่สุนทรภู่เคยจำพรรษาอยู่กุฏิที่คณะ 7 (จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้)
คราวหนึ่งขรรค์ชัย, เรืองชัย ไปนอนค้างคืนด้วยกันในกุฏิท่านพระครูที่ผมอาศัยข้าวก้นบาตร กับที่ซุกหัวนอน แล้วกลางดึกก็เล่นผีถ้วยแก้ว จุดธูปเชิญวิญญาณสุนทรภู่มาแต่งกลอนแข่งกัน
ผลคือสุนทรภู่ในผีถ้วยแก้ว แพ้กลอน
อีกนานหลายปีผมถึงอ่านงานของสุนทรภู่อย่างจริงจัง อันเนื่องจากขรรค์ชัยกับผมกลายเป็นศิษย์วงสุราของ ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี (นามปากกา พ. ณ ประมวญมารค) ได้ฟังเล็คเชอร์นอกระบบเกือบทุกวัน หรือเป็นส่วนมาก จากโต๊ะเหล้าร้านเนี้ยว, ร้านมิ่งหลี ละแวกหน้าพระลาน
จนหาได้หนังสือรำพันพิลาป แล้วมีรูปประกอบเกี่ยวกับงานเปิดกุฏิสุนทรภู่ จึงเก็บไว้ จะขอยกมาแบ่งปันทั่วๆ กัน ดังนี้

Advertisement

กรมศิลปากร ฉลองกุฏิสุนทรภู่ ครั้งแรกที่วัดเทพธิดาราม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2504

ประมวลภาพประวัติศาสตร์

จากหนังสือ รำพันพิลาป ของสุนทรภู่

กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2504

กุฏิสุนทรภู่01

Advertisement
ภายในพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ผู้สนใจ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ร่วมกันบำเพ็ญกุศล อุทิศแก่ท่านสุนทรภู่ งานกวีวรรณกรรมเนื่องในอภิลักขิตสมัย คล้ายวันเกิดครบ 175 ปี ของท่านสุนทรภู่ คือวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2504
ภายในพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ผู้สนใจ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ร่วมกันบำเพ็ญกุศล อุทิศแก่ท่านสุนทรภู่ งานกวีวรรณกรรมเนื่องในอภิลักขิตสมัย คล้ายวันเกิดครบ 175 ปี ของท่านสุนทรภู่ คือวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2504
อธิบดีกรมศิลปากร นำชมศิลปวัตถุและวัตถุสถาน ภายในบริเวณวัดเทพธิดาราม ในงานกวีวรรณนา ครบรอบ 175 ปี แห่งวันเกิดของท่านสุนทรภู่ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2504
อธิบดีกรมศิลปากร นำชมศิลปวัตถุและวัตถุสถาน ภายในบริเวณวัดเทพธิดาราม ในงานกวีวรรณนา ครบรอบ 175 ปี แห่งวันเกิดของท่านสุนทรภู่ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2504
นักศึกษา ประชาชน และผู้สนใจกำลังฟังคำบรรยายในงานกวีวรรณนา
นักศึกษา ประชาชน และผู้สนใจกำลังฟังคำบรรยายในงานกวีวรรณนา

กุฏิสุนทรภู่05

นักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร กำลังสวดโอ้เอ้วิหารราย กาพย์พระไชยสุริยาของท่านสุนทรภู่ ที่ศาลาสองหน้า วัดเทพธิดาราม ในงานกวีวรรณนา
นักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร กำลังสวดโอ้เอ้วิหารราย กาพย์พระไชยสุริยาของท่านสุนทรภู่ ที่ศาลาสองหน้า วัดเทพธิดาราม ในงานกวีวรรณนา
นักเรียนที่มาร่วมงานกวีวรรณนากำลังชมสมุดไทยภายในกุฎีสุนทรภู่
นักเรียนที่มาร่วมงานกวีวรรณนากำลังชมสมุดไทยภายในกุฎีสุนทรภู่
วัดเทพธิดาราม ถ่ายจากเครื่องบิน เมื่อ พ.ศ. 2489 (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539. กรมศิลปากร, 2539)
วัดเทพธิดาราม ถ่ายจากเครื่องบิน เมื่อ พ.ศ. 2489 (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539. กรมศิลปากร, 2539)

 

คำนำ ของ อธิบดีกรมศิลปากร

(เมื่อพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2504)

ในหนังสือ ประวัติสุนทรภู่ พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้พิมพ์ได้อ่านเป็นที่ทราบกันแพร่หลายแล้วนั้น ทรงนิพนธ์ไว้ในเบื้องต้นว่า พระสุนทรโวหาร (ภู่) ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันเป็นสามัญว่า “สุนทรภู่” นั้น เกิดในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) มีผู้รู้โหราศาสตร์ได้ผูกดวงชาตาไว้ดังนี้

 

ดวงชะตาสุนทรภู่

 

โดยเหตุที่ท่านสุนทรภู่ เป็นมหากวีผู้ยิ่งใหญ่ของไทย ผู้สร้างวรรณกรรมอันไพเราะไว้มากมาย มีชีวิตการประพันธ์เป็นมหัศจรรย์ในวงวรรณกรรม นับได้ว่าบทกลอนของท่านได้กล่อมประชาชนชาวไทยให้สดชื่นรื่นรมย์มาตลอดเวลากว่าศตวรรษครึ่ง ซึ่งวันเกิดของท่านสุนทรภู่จะเวียนมาบรรจบครบ 175 ปีบริบูรณ์ในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2504 นี้ จึงได้กำหนดมีงาน กวีวรรณนา ขึ้นเป็นอนุสรณ์ในวันคล้ายวันเกิดของท่าน ณ วัดเทพธิดาราม พระนคร และได้เลือกหนังสือ “รำพันพิลาป” ของท่านมาพิมพ์ให้ท่านผู้สนใจได้อ่านได้ฟังกันโดยแพร่หลายในโอกาสนี้ด้วย

เหตุที่จัดงาน กวีวรรณนา ขึ้นในวัดเทพธิดา ก็เพราะปรากฏชัดว่าท่านสุนทรภู่เคยอยู่ในวัดนี้ ด้วยหลักฐานตามที่ทราบ ปรากฏว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 3 ได้ทรงสร้างวัดเทพธิดา เริ่มมาตั้งแตปี พ.ศ. 2379 และคงจะสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2382 เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาในปีนั้น

ขณะนั้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีพระชนมายุ 28 พรรษา คงจะได้โปรดให้นิมนต์ท่านสุนทรภู่ ซึ่งยังอยู่ในสมณเพศ ให้มาจำพรรษาในวัดเทพธิดาตั้งแต่ในปีเริ่มแรกมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาในปีผูกพัทธสีมา หรือถัดมาอีกปีหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ใน “รำพันพิลาป” ว่า “โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา” ปีขาลที่ว่านี้ ตรงกับ พ.ศ. 2385

และในขณะที่ท่านสุนทรภู่อยู่ในวัดเทพธิดา ก็ได้แต่งหนังสือไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องรำพันพิลาป กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา โคลงนิราศสุพรรณ และเล่ากันมา (ในประวัติสุนทรภู่ พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีรับสั่งให้แต่งเรื่องพระอภัยมณี ถวายเดือนละ 1 เล่มสมุดไทย

การที่เลือกหนังสือ “รำพันพิลาป” มาตีพิมพ์ขึ้นในงานนี้ ก็เพราะทราบได้แน่นอนว่าบทกลอนเรื่องนี้ท่านสุนทรภู่ได้แต่งขึ้นตามความฝันของท่านเมื่อ พ.ศ. 2385 อันเป็นระยะเวลาที่ท่านอยู่ในวัดเทพธิดา ทั้งรำพันถึงเรื่องราว เหตุการณ์ และสถานที่ ในวัดเทพธิดาเกือบตลอดเรื่อง จึงสมควรที่จะจัดพิมพ์ขึ้นให้ได้อ่านได้ฟังกันโดยแพร่หลาย

ท่านสุนทรภู่บอกวันเดือนปีที่ฝันไว้ใน “รำพันพิลาป” ว่า “เดือนแปดวันจันทวาเวลานอน” และว่า “โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน” จึงเป็นอันรู้ได้ว่า ท่านฝันเมื่อคืนวันจันทร์ เดือน 8 ปีขาล (พ.ศ. 2385) จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมไม่อาจรู้ได้ แต่มีกล่าวไว้แห่งหนึ่งว่า “เมื่อยามฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง เดือนหงายส่องแสงสว่างดั่งกลางวัน” ถ้านอนฝันแล้วตื่นขึ้นดึกๆ เห็นดวงจันทร์ส่องแสงสว่างจ้าก็คงจะเป็นเวลาข้างขึ้นแก่ๆ หรือข้างแรมอ่อนๆ กระมัง แต่ในปีขาล พ.ศ. 2385 นั้นก็ปรากฏว่ามีเดือน 8 สอง 8 เสียด้วย จึงยากที่จะทราบได้ ขอฝากไว้เป็นข้อพิจารณาของท่านผู้อ่าน

มูลเหตุที่ท่านสุนทรภู่จะฝัน ท่านบอกของท่านไว้ว่า เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 พ.ศ. 2385 เวลานั้นท่านบวชเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ในวัดเทพธิดา ท่านจุดธูปเทียนสวดมนต์ก่อนจำวัด แม้จะเป็นราตรีที่เงียบสงัด แต่ก็นอนไม่หลับ หูได้ยินเสียงอะไรต่ออะไร เช่น เสียงจิ้งหรีด เสียงนกแสก เสียงแมลงมุมตีอก เป็นต้น ตามวิสัยของคนที่มีจิตฟุ้งสร้าน เลยนึกเรื่อยเปื่อยไปถึงเรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของท่านที่ผ่านมา มีการผจญภัยนานาประการ นึกไปจนเหนื่อย จึงอ้างเอาอานิสงส์แห่งศีลและสัจจะที่ท่านได้บวชเรียนเพียรบำเพ็ญมา พลางอธิษฐานจิตขอความฝันแล้วก็หลับไป เกิดนิมิตฝันว่าตัวท่านเองกำลังว่ายน้ำอยู่ในท้องทะเลคนเดียว ก็มีสาวน้อยผู้หนึ่งเหาะมาแล้วพาไปให้อยู่ที่วัด (เทพธิดาราม) ท่านได้เห็นพระพุทธรูปศิลาขาวและพระพุทธรูปทองทรงเครื่อง ซึ่งก็เห็นจะเป็นพระพุทธรูปในพระอุโบสถวัดเทพธิดานั่นเอง แล้วพรรณนาถึงความฝันที่เห็นในเวลาหลับ ครั้นตื่นขึ้นนึกถึงความฝันแล้วก็รำพันไปถึงความหลัง

ข้อความรำพันช่วยให้เราได้ทราบถึงความเป็นไปในชีวิตของท่าน ได้ทราบถึงสิ่งก่อสร้างและพืชพรรณไม้ที่มีอยู่ในวัดเทพธิดาในครั้งนั้น ตลอดจนพรรณนาถึงเครื่อง ปัจจัยไทยทาน ซึ่งนิยมจัดทำถวายพระกันในสมัยนั้น

ครั้นแล้วท่านก็พรรณนาเป็นฝันตื่นของท่านต่อไป มีการพานางในฝันลงเรือพยนต์ไปชมทะเลและชมบ้านเมืองตามทางที่ผ่านไป ในตอนท้ายเป็นคำขอหรือ วิงวอนและบอกว่า บทกลอนที่ท่านแต่งนี้ “ชื่อรำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน” พิจารณาดูคล้ายกับว่าท่านสุนทรภู่มุ่งหมายแต่งเพื่อให้ใครอ่านสักท่านหนึ่ง แต่จะได้ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงหรือเปล่า ถึงบัดนี้เวลาก็ล่วงเลยมาเสียนานแล้ว จึงเป็นการยากที่จะทราบ

ต้นฉบับ “รำพันพิลาป” ที่นำมาเป็นฉบับพิมพ์มีอยู่ 1 เล่มสมุดไทย พระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) ได้นำมามอบให้ไว้แก่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 นอกจากจะบรรยายถึงรายละเอียดให้เราได้ทราบประวัติของท่านสุนทรภู่เพิ่มเติมแล้ว เรื่องรำพันพิลาปยังช่วยให้เราได้มองเห็นจินตนาการอันลี้ลับของท่านที่น่าสนใจ แม้จะได้ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยมีท่านผู้ใดศึกษาวิจัยเฟ้นหาข้อเท็จจริงกันมาแต่ก่อน ข้าพเจ้าจึงลองศึกษาค้นคว้าและสร้างจินตนาการไปตามบทกลอน ก็รู้สึกเพลิดเพลินไปตามท้องเรื่องที่ท่านสุนทรภู่รำพันไว้ แล้วคิดใคร่จะให้ท่านผู้สนใจได้รับความเพลิดเพลินเช่นนั้นบ้าง จึงพยายามบันทึกหมายเหตุเป็นเชิงอรรถไว้ในหน้านั้นๆ พอเป็นแนวทางเพื่อท่านผู้อ่านจะได้ลองสร้างจินตนาการไปตามท้องเรื่องดูบ้าง แต่ถ้าเห็นว่าบันทึกที่ทำเป็นเชิงอรรถไว้นั้นไร้สาระ ก็ขอได้โปรดให้อภัยและอย่าได้ถือสาเอาเป็นสาระ โปรดถือเสียว่าเป็นแต่เพียงความเห็นและความรู้สึกของผู้อ่านคนหนึ่งที่สนใจ

ณ อภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดของท่านสุนทรภู่ เวียนมาบรรจบครบ 175 ปี ในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2504 นี้ ข้าพเจ้าขอเชิญชวนท่านที่เคารพทั้งหลาย ได้โปรดร่วมใจน้อมคารวะจิตรำลึก ด้วยสำนึกในกิตติคุณอันสูงส่งของท่านมหากวีผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งได้สร้างสมบัติวรรณกรรมอันไพเราะเพราะพริ้งและหาค่ามิได้ ไว้เป็นอลังการอันเจิดจ้าของชาติไทย และเป็นอาภรณ์ประดับดวงใจของปวงชนชาวไทยให้พริ้งเพริดเฉิดฉายชั่วนิตยนิรันดร์

ธนิต อยู่โพธิ์

กรมศิลปากร

23 มิถุนายน 2504

 

 

 

รูปปั้นสุนทรภู่ ที่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ
รูปปั้นสุนทรภู่ ที่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ และ กุฎีที่สุนทรภู่ (ภาพเก่าจากหนังสือรำพันพิลาป กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2504)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image