เรื่องของอังกฤษที่แยกตัว จากสหภาพยุโรปไปหยกๆ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2518 (41 ปีมาแล้ว) สหราชอาณาจักรหรือที่เราเรียกกันตามภาษาปากว่าอังกฤษ ได้จัดให้มีการลงประชามติทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษในเรื่องที่ว่าอังกฤษจะแยกตัวออกจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community : EEC) ที่อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกเมื่อ พ.ศ.2516 แบบว่าอังกฤษสมัครเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปได้เพียง 2 ปี ก็เกิดอาการอยากจะออกจากการเป็นสมาชิกภาพขององค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะทำให้เกิดบูรณาการทางเศรษฐกิจ ในบรรดาสมาชิกดั้งเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์

พูดง่ายๆ ก็คือการรวมตลาดทั้ง 7 ประเทศเป็นตลาดเดียวกัน จึงเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าตลาดร่วมยุโรป โดยสินค้าจากอังกฤษสามารถส่งมาขายในเยอรมนีอย่างสะดวกและเสรีไม่ต้องเสียภาษีหลายซับหลายซ้อนนั่นเอง เหมือนอย่างประเทศไทยที่สามารถขนส่งกะหล่ำปลีจากจังหวัดเชียงรายไปขายที่ตลาดในจังหวัดนราธิวาสได้โดยสะดวกและเสรี

ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปจัดตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาโรม พ.ศ.2500 ร่วมกับประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป (ECSC) และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (EURATOM) ความจริงอังกฤษได้สมัครเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปใน พ.ศ.2504 แต่ถูกนายพลเดอ โกล ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในเวลานั้นวีโตไม่ยอมให้อังกฤษเข้ามาเป็นสมาชิก คงเห็นว่าอังกฤษเรื่องมากอย่างว่า

จนกระทั่งนายจอร์จ ปอมปิดู ขึ้นเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสแทนนายพลเดอ โกล อังกฤษจึงยื่นใบสมัครอีกครั้งหนึ่งโดยนายเอ็ดวาร์ด ฮีธ นายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยม (พรรคเดียวกันกับนายเดวิด คาเมรอน ที่ทำเรื่อง Brexit นี่แหละ) จนอังกฤษได้เป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2516

Advertisement

ครับ ! เมื่อพรรคแรงงานได้เข้ามาเป็นรัฐบาลของอังกฤษแทนพรรคอนุรักษนิยมในเดือนมีนาคม พ.ศ.2518 โดยหาเสียงว่าจะไปเจรจากับทางประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเพื่อให้อังกฤษได้รับประโยชน์และได้รับข้อยกเว้นมากกว่าเดิมแล้วจึงจะทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสินว่าจะยังคงอยู่เป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อไปหรือไม่ (นายเดวิด

คาเมรอน ก็หาเสียงในการเลือกตั้งแบบนี้เหมือนกัน) เนื่องจากอังกฤษแต่ไหนแต่ไรมาแล้วถือว่าตนเองไม่ใช่ชาวภาคพื้นทวีปยุโรปและไม่ชอบทำอะไรเหมือนชาวภาคพื้นทวีปยุโรปอยู่แล้ว

การจัดการลงประชามติของรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้วนั้น เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักวิชาการทางรัฐศาสตร์เป็นยิ่งนัก เนื่องจากเป็นการลงประชามติเป็นครั้งแรกของอังกฤษที่มีรูปแบบการปกครองที่รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศมานานนักหนาแล้ว ดังนั้น การที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองครั้งนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการรัฐศาสตร์เลยทีเดียว

ผลของการลงประชามติเมื่อ 40 กว่าปีก่อนนั้น ปรากฏว่าชาวอังกฤษได้ลงคะแนนเสียงยังคงอยู่เป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อไปด้วยคะแนนเสียง 17,378,581 หรือ 67.2% ส่วนที่ลงคะแนนเสียงให้ออกจากการเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปมีเพียง 8,470,073 คะแนน หรือ 32.8% แบบว่าชนะกันแบบขาดลอยไปเลย

เมื่อประชาคมเศรษฐกิจยุโรปได้พัฒนาขึ้นเป็นสหภาพยุโรป (European Union: EU) ด้วยสนธิสัญญามาสทริชท์ สถาปนาสหภาพยุโรปภายใต้ชื่อปัจจุบันใน พ.ศ.2536 เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 28 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป การแก้ไขหลักพื้นฐานรัฐธรรมนูญล่าสุดของสหภาพยุโรปล่าสุด สนธิสัญญาลิสบอน มีผลใช้บังคับใน พ.ศ.2552 สหภาพยุโรปดำเนินการผ่านระบบองค์การอิสระเหนือชาติและการตัดสินใจที่เจรจาระหว่างรัฐบาลโดยรัฐสมาชิก สถาบันสำคัญของสหภาพยุโรปมีคณะกรรมาธิการยุโรป คณะมนตรีสหภาพยุโรป สภายุโรป ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรป พลเมืองสหภาพยุโรปเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปทุกห้าปี สหภาพยุโรปได้พัฒนาตลาดเดี่ยวผ่านระบบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานซึ่งใช้บังคับในรัฐสมาชิกทุกรัฐ

ในพื้นที่เชงเกิน (รวม 22 รัฐสหภาพยุโรป และ 4 รัฐนอกสหภาพยุโรป) มีการยกเลิกการควบคุมหนังสือเดินทาง นโยบายสหภาพยุโรปมุ่งประกันการเคลื่อนย้ายบุคคล สินค้า บริการและทุนอย่างเสรี ตรากฎหมายในกิจการยุติธรรมและมหาดไทย และคงไว้ซึ่งนโยบายการค้า เกษตรกรรม การประมงและการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน ยูโรโซน ซึ่งเป็นสหภาพการเงิน ได้รับการจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ.2542 และประกอบด้วยรัฐสมาชิก 17 ประเทศ

สหภาพยุโรปได้พัฒนาบทบาทในความสัมพันธ์ภายนอกและการป้องกันผ่านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วม มีการสถาปนาคณะผู้แทนทางทูตถาวรทั่วโลก มีผู้แทนของสหภาพยุโรปที่สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก จี8 และ จี20

สหภาพยุโรป (รวมอังกฤษด้วย) มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน หรือ 7.3% ของประชากรโลก ใน พ.ศ.2554 สหภาพยุโรปมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในรูปตัวเงินใหญ่ที่สุดในโลก กว่า 17.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 20% ของจีดีพีโลก

ปรากฏว่าในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 พลเมืองสหราชอาณาจักรได้ลงประชามติให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยคะแนนเสียง 17,410,742 หรือ 51.89% ส่วนคะแนนเสียงที่ต้องการอยู่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปมีคะแนนเสียง 16,141,241 หรือ 48.11% จัดว่าใกล้เคียงกันมากไม่เหมือนการลงประชามติครั้งแรก แต่ที่แน่นอนก็คือตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของโลกคงต้องปั่นป่วนกันไปอีกระยะยาว เนื่องจากจีดีพีของสหภาพยุโรปที่รวมทั้งอังกฤษด้วยเมื่อ พ.ศ.2558 นั้นคิดเป็นเงิน 16,220,370 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ในขณะที่อังกฤษใน พ.ศ.2558 มีจีดีพี 2,849,345 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นที่ 5 ของโลก โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีจีดีพีเป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อ พ.ศ.2558 อยู่ที่ 10,982,829 ล้านเหรียญสหรัฐ

ครับ ! สหภาพยุโรปกับอังกฤษก็เหมือนกับคน 2 คนที่แต่งงานกัน พอหย่าขาดจากกันแล้วจะไม่วุ่นวายและยากจนลงก็เป็นเรื่องแปลกละครับ แล้วเรื่องที่จะไม่กระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจโลก (ไทยด้วย) มากนักอย่างที่ปลอบใจกันนั้น เป็นไปไม่ได้หรอกครับ ตั้งรับเอาไว้ให้ดีๆ ก็แล้วกัน

ไหนนะครับ? จีดีพีอันดับหนึ่งของโลก ปี 2558 ก็คือสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 17,947,000 ล้านเหรียญสหรัฐครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image