สุจิตต์ วงษ์เทศ : รัฐเร้นพันลึกลับ

“รัฐพันลึก” จากข้อเขียนของ อ. ผาสุก พงษ์ไพจิตร, อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์, อ. เกษียร เตชะพีระ ว่าแปลจากคำว่า “Deep State” ในบทความชื่อ Thailand’s Deep State, Royal Power and Constitutional Court (1997-2015) ของ เออเจนี เมริโอ นักศึกษาปริญญาเอก และอาจารย์ประจำของสถาบันแห่งหนึ่งในปารีส

“รัฐเร้นลึก” จากคำแปลใหม่ของกองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน [ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2559)] แล้วแปลบทความของ เออเจนี เมริโอ เป็นภาษาไทย ชื่อ รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540-2558)

แม้จะเข้าใจไม่หมด แต่ผมอ่านบทความแปลนี้แล้วรู้สึกตัวว่าตาสว่างกว่าเดิม

รัฐเร้นลึก เข้าใจได้ สื่อได้ ว่าเป็นรัฐซ่อนเร้น ไม่เปิดเผย แต่มีพลังอำนาจเหนือรัฐปกติ ยิ่งอ่านไปไม่ว่าจะเรียกรัฐพันลึก หรือรัฐเร้นลึก ยิ่งรู้สึกเป็นรัฐลึกลับ

Advertisement

รัฐปกติ ประชาชนมองเห็นได้ แต่รัฐเร้นลึก ประชาชนมองไม่เห็น เพราะแฝงตัวอยู่ และไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำใดๆ โดยแก่นแท้แล้วต่อต้านประชาธิปไตย ประกอบไปด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้แก่ ทหาร, ตำรวจ, และตุลาการ ที่มีตำแหน่งในระบบการบริหารราชการในรัฐปกติอยู่แล้ว แต่ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมแอบแฝงที่ทำให้พวกเขามีอำนาจยับยั้งเหนือรัฐปกติ

ด้วยปฏิบัติการมากมายหลังฉาก หรือแบบลับๆ รัฐเร้นลึกสามารถสร้าง “สถานการณ์” ที่สั่นคลอน หรือคว่ำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือทำรัฐประหารล้มล้างรัฐปกติ (ดังทำแล้ว และจะทำอีก)

ตุลาการภิวัตน์ คือ “ยุทธศาสตร์เพื่อการพิทักษ์อำนาจนำเพื่อประโยชน์ของตนเอง” เป็นความพยายามเมื่อเข้าตาจนที่จะทำให้รัฐเร้นลึกกลายเป็นสถาบันเพื่อปกป้องตนเองจากความท้าทายของทั้งขบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและช่วงเปลี่ยนผ่าน

Advertisement

รัฐประหารของกองทัพในปี 2557 พิสูจน์ให้เห็นว่าความพยายามนี้ยังดำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน และตั้งใจให้สืบถึงอนาคตชั่วกัลปาวสาน (ถ้าไม่มีต่อต้าน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image