ความเข้าใจ (ผิด) เกี่ยวกับ “รามายณะ” (จบ)

ความเข้าใจ (ผิด) เกี่ยวกับ “รามายณะ” (จบ)

การเมืองเข้ามาสัมพันธ์กับรามายณะหลากมิติ ในโลกโบราณไม่ว่าที่ไหนที่อิทธิพลทางศาสนาของอินเดียแผ่ไปถึง รามายณะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมพระราชอำนาจ และการสถาปนาความเป็นอินเดีย (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลในเวลานั้น) แก่ท้องถิ่น

เพราะพระรามคือตัวอย่างแห่งผู้ปกครองที่ทรงอำนาจและบุคคลในอุดมคติทางศีลธรรม อโยธยาบ้านเมืองของพระองค์ก็เป็นบ้านเมืองในอุดมคติเช่นกัน

ด้วยเหตุนั้นรามายณะจึงมีผลต่อชื่อบ้านนามเมือง ขนบประเพณี การละเล่นอย่างมากมาย

อีกทั้งความเก่าแก่ของรามายณะเองก็ทำให้รามายณะผสมกลมกลืนกับคติพื้นเมืองไม่ยากนัก

Advertisement

ในอินเดีย ผู้ศรัทธาหลายคนเชื่อว่า รามายณะไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอดีต พวกเขาสามารถบอกสถานที่สำคัญตามท้องเรื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เกิดของพระราม (รามชนมภูมิ) คือเมืองอโยธยา สะพานพระราม (เสตุราม-ซึ่งคือแนวหินที่ทอดผ่านไปยังลังกา) กรุงลงกา ฯลฯ

แต่ถ้าถามว่าเกิดขึ้นตอนไหน พวกเขาจะงงสักพัก บางท่านว่าในยุคอื่นๆ หรือเป็นล้านปีมาแล้ว

รามายณะมีอิทธิพลถึงเพียงนี้ ไม่แปลกที่จะถูกนำมาใช้ในทางการเมือง

Advertisement

ในยุคกลางของอินเดีย โคสวามีตุลสีทาสประพันธ์ “ศรีรามจริตมานัส” ในภาษาถิ่นแล้วมีผู้นิยมมาก ตำนานว่าจักรพรรดิโมกุลซึ่งเป็นมุสลิมไม่ค่อยพอพระทัย เกรงผู้คนกระด้างกระเดื่อง

ในทางตรงข้าม หลายครั้งที่นักบุญฝ่ายไวษณวนิกายสายภักติในยุคกลางของอินเดีย ก็ได้ตีความคำสอนเรื่องพระรามไปในทางสันติเพื่อประสานความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิม

คือเน้นว่าพระรามเป็นองค์แห่งความสันติและเมตตา พระเจ้านั้นคือองค์ภาวะเดียวกัน แต่ถูกเรียกขานต่างกันไป มนุษย์เราจึงไม่ควรแบ่งแยกและปฏิบัติต่อกันอย่างเลวร้าย

ท่านถึงขนาดว่า “ราม” นั้นไม่ต่างกับ “รอฮีม” เลยทีเดียว (คำนี้ท่านนักบุญกพีรทาสกล่าวไว้ มิใช่ผม)

แต่นักการเมืองและองค์กรสายชาตินิยมและฮินดูนิยม ให้ภาพของ “ราม” อีกแบบ

ดร.เทวทัต นักเทวตำนานวิทยาคนโปรดของผมให้ข้อสังเกตในหนังสือ Book of Ram ของท่านว่ารูปเคารพพระรามแต่เดิม มักประทับยืนขวาซ้ายแวดล้อมด้วยพระลักษมณ์และพระแม่สีดา เบื้องหน้ามีหนุมานกราบไหว้ เรียกปางว่า ราชสภาของราม (Ramdarbar)

รูปเคารพชุดนี้ พระรามประคองศรศิลป์ไว้ด้านข้าง (มิได้ใช้) พระหัตถ์หนึ่งทรงอภัยมุทราคือแสดง “ความไม่กลัว” ไม่มีท่าทีห้าวหาญอย่างจะไปรบ แต่ให้ความรู้สึกสงบสันติแต่สง่างาม ดุจพระราชาเสด็จออก

แต่เมื่อพรรคการเมืองและองค์กรชาตินิยมทั้งหลาย มี “ประเด็น” ทางการเมืองเรื่องศาสนา โดยเอาพระรามเป็นสัญลักษณ์ เช่น โฆษณาชวนเชื่อเรื่อง “รามราชยะ” อาณาจักรของพระรามที่พระรามปกครองอย่างร่มเย็น (คือเชิดชูฮินดูให้ปกครองอินเดียทั้งหมดนั่นแล) การต่อต้านการขุดเสตุราม การเรียกร้องต้องการสร้างเทวสถานของพระราม ฯลฯ

พวกเขาจะใช้รูปพระรามอีกแบบ เป็นพระรามที่โดดเดี่ยวปราศจากบริวารรายรอบ มีเพียงพระองค์อยู่ในท่าพร้อมรบ ยืนอย่างสง่า กำลังยกศรขึ้นเงื้อง่า พุ่งเล็งไปที่ศัตรู น่าเกรงขามอย่างยิ่ง

รูปนี้แหละครับคือ “ภาพ” ของพระรามสำหรับนักการเมืองและองค์กรชาตินิยม มิติที่เขาต้องการคือความกล้าหาญพร้อมรบ และรับใช้อุดมการณ์อย่างสุดใจเท่านั้น มิใช่ความเมตตากรุณาอย่างที่พวกนักบุญชอบ

ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 สมัยโมกุลปกครองอินเดีย มีการสร้างมัสยิดขึ้นที่เมืองอโยธยา เรียกกันว่า มัสยิดบาบรี (Babri) ถึงปี 1853 นักบวชฮินดูกลุ่มหนึ่งอ้างว่ามัสยิดนี้สร้างอยู่บนสถานที่ประสูติของพระราม (รามชนมภูมิ) ข้อขัดแย้งนี้ยุติลงเมื่อได้มีการแบ่งสถานที่ออกเป็นสองส่วน โดยชาวฮินดูและชาวมุสลิมต่างใช้สถานที่นั้นด้วยกันอย่างสันติ

แต่พอถึงราวต้นทศวรรษที่ 40 ก็เกิดความขัดแย้งอีกครั้ง ครั้นถึงปี ค.ศ.1949 มีชาวฮินดูกลุ่มหนึ่งแอบนำเทวรูปพระรามไปไว้ในมัสยิดกลางดึก และประกาศว่าเทวรูปปรากฏขึ้นเองโดยปาฏิหาริย์ ซึ่งทำให้มีผู้มาชุมนุมมากมาย ก่อกระแสความตื่นตัวไปทั่วอินเดีย

ปี ค.ศ.1984 องค์กรวิศวฮินดูปริษัท (VHP) และนักการเมืองในพรรค BJP บางคน สร้างแคมเปญรณรงค์ให้สร้างเทวสถานของพระรามขึ้นมาใหม่ บนพื้นที่ของมัสยิดบาบรี และจัดขบวนโดยรถเดินทางไปยังอโยธยา ชูประเด็นรามชนมภูมิ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทั้งฮินดูและมุสลิมที่อาศัยในอโยธยาและใกล้มัสยิดไม่เห็นด้วย

ครั้นเดือนธันวาคม ปี 1992 เกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ ชาวฮินดูปะทะกับชาวมุสลิมด้วยต้องการเข้าไปทำลายมัสยิด มีผู้เสียชีวิตเฉพาะในอโยธยาถึงเกือบสองพันคน และยังลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของอินเดีย เช่น มุมไบ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบพันคน

ท่านที่สนใจเหตุการณ์นี้โปรดดูสารคดี เรื่อง “In the name of God” หรือในชื่อภาษาฮินดี ว่า “Ram ke naam” (ในนามแห่งราม) แล้วท่านจะเข้าใจประเด็นนี้ยิ่งขึ้น

ที่น่าเศร้าคือนักบวชประจำเทวสถาน (เดิม) ซึ่งใช้พื้นที่ร่วมกับมัสยิด คือ ท่านปูชารี ลาลทาส ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ของวิศวฮินดูปริษัท และแสดงอย่างชัดเจนในสารคดีนี้ก็โดนลอบฆ่าในภายหลัง

ปัจจุบัน เรื่องรามชนมภูมิยังคงเป็นปัญหาของศาลสูงและรัฐบาลอินเดียทุกยุคสมัย

นอกจากเรื่องนี้ ที่จริงแล้วยังมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับรามายณะอีกประเด็นหนึ่ง แต่เป็นประเด็นทางวิชาการที่มีความสัมพันธ์กับการเมือง

นักวิชาการโดยเฉพาะในบ้านเรา มักเชื่อสืบๆ กันมาว่ารามายณะ เป็นเรื่องราวสะท้อนการรุกรานของชนเผ่าอารยันกับพวกฑราวิทหรือชนพื้นเมือง

เป็นการรุกรานจากภาคเหนือมายังภาคใต้ของอินเดีย (ฟังคล้ายๆ เรื่องเทือกเขาอัลไตกับเผ่าไท)

พระรามจึงเป็นตัวแทนของเผ่าอารยัน ส่วนพวกพื้นเมืองถูกมองว่าเป็นยักษ์เป็นมาร (ที่จริงทศกัณฑ์มิใช่ยักษ์แต่เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่งเรียกว่า รากษส)

เรายังคงเชื่อทฤษฎีนี้กันต่อๆ มา และบางครั้งขยายไปถึงว่า รามายณะเป็น “สงครามชนชั้น” ขณะที่ทางอินเดียมีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างจริงจังมานานพอสมควร

เรื่องนี้ที่จริงมีที่มานะครับ ในราวปี ค.ศ.1922 นายเปริยาร์ อีวี รามสวามี (Periyar E.V. Ramaswami) ชาวอินเดียใต้ ตีความรามาวตารัมหรือรามยณะฉบับอินเดียใต้ใหม่ว่า พระรามคือชาวเหนือ (วัฒนธรรมเหนือหรือวัฒนธรรมสันสกฤต) ที่เข้ามารุกรานภาคใต้ของอินเดีย

ในขณะที่ทศกัณฐ์นั้นคือตัวแทนกษัตริย์ของชาวทมิฬ รามายณะจึงเขียนให้พวกคนใต้กลายเป็นพวกยักษ์มารเสีย วรรณกรรมนี้คือความพยายามลดคุณค่าทั้งชาวทมิฬและวัฒนธรรมทมิฬ

นายเปริยาร์ไม่เพียงแต่ตีความอย่างเดียวนะครับ ยังมีการรณรงค์ให้เผาหนังสือรามายณะทิ้งด้วย ในปี 1956 แกยังรณรงค์ให้เผารูปพระรามในที่สาธารณะอีก โดยอ้างว่าในเทศกาลของชาวเหนือ เช่น ทศหรา (ดุสเซร่า) ยังมีการเผารูปทศกัณฐ์ได้ ทำไมชาวใต้จะเผารูปพระรามบ้างไม่ได้

ความพยายามของนายเปริยาร์ในครั้งนั้นทำให้ความคิดที่ว่ารามายณะคือภาพสะท้อนความขัดแย้งของคนสองเผ่าสองวัฒนธรรมแพร่กระจายไปทั่วอินเดีย และกลายเป็นที่มาของความคิดเรื่องความขัดแย้งระหว่างอารยันและฑราวิทของรามายณะในที่สุด

ที่จริง จะโทษนายเปริยาร์อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะความคิดเรื่องแบ่งแยกเหนือใต้ อารยันและฑราวิทนี้ มีที่มาจากทฤษฎีของพวกฝรั่งก่อนครับ โดยมีรากฐานที่ทฤษฎีการรุกรานของเผ่าอารยันจากภาคเหนือสู่ภาคใต้

แต่ในเวลานี้นักวิชาการหลายท่าน เช่น M. Lal Goel เสนอความเห็นใหม่ๆ ว่า การรุกรานของอารยันดังที่เคยเชื่อกันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเลย ชาวอารยันและชนพื้นเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีการผสมผสานทั้งชาติพันธุ์และวัฒนธรรมมาโดยตลอด การขุดค้นทางโบราณคดียิ่งสนับสนุนความคิดนี้ เพราะในโบราณสถาน เช่น หารัปปาและโมเหนโชทะโรกลับไม่พบสัญลักษณ์พิเศษใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการเข้ามาทำลายล้างของชาวอารยัน

นักวิชาการทางภาษาศาสตร์ยังเห็นว่าในงานวรรณคดีสันสกฤตแบบแผนเช่นรามายณะของวาลมีกิ พอมองเห็นอิทธิพลของวรรณกรรมทมิฬที่ผสมอยู่

แม้แต่ภาษาทมิฬเอง ก็มีอิทธิพลของภาษาสันกฤตอยู่มากเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ หากกล่าวถึงในเชิงวัฒนธรรมของคนทมิฬเอง ศูนย์กลางการนับถือพระรามที่สำคัญ ก็มีมากในอินเดียใต้และมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

นักวิชาการอีกหลายท่านเสนอว่า ที่จริงอารยันมิใช่ “ชาติพันธุ์” อย่างที่เคยเข้าใจ แต่น่าจะเป็น “วัฒนธรรม” มากกว่า

ถ้าเช่นนี้ ทศกัณฐ์ผู้มีวรรณะพราหมณ์ มีการศึกษาและเป็นปราชญ์ ก็ย่อมแสดงว่า ทศกัณฐ์มิใช่ชาวบ้านกระจอกๆ แต่ก็เป็นผู้มีวัฒนธรรมอย่างอารยันด้วย

ที่สำคัญ เวลาพูดถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมจากทางเหนือหรือวัฒนธรรมสันสกฤต ชาวอินเดียใต้มักใช้ตำนาน ฤษีอคัสตยะเดินทางข้ามเขาวินธัยมาสู่ที่ราบภาคใต้มากกว่าใช้รามายณะอธิบาย

ความเชื่อที่ว่า รามายณะเป็นภาพสะท้อนตำนานการรบพุ่งของสองเผ่า หรือเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น จึงเป็นเรื่องการเมือง

ลากเข้าการเมืองไม่ว่าจากทั้งคนอินเดียภาคไหนๆ ฝรั่ง หรือไทยเราเอง

พอๆ กับเรื่องโขนในอุษาคเนย์เลยพี่น้องเอ้ย

นาร้ายณ์ นารายณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image