ประชามติ 7 สิงหา สัญญาณ”การเมือง” “จัดฉาก”ใหม่

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน จะถึงวันที่ 7 สิงหาคม วันประชามติ

ประชามติเพื่อลงคะแนน “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ

ประชามติเพื่อลงคะแนน “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับคำถามพ่วงเรื่องการให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรี

เป็นการประชามติที่มีเดิมพันทางการเมืองด้วย เพราะนอกจากจะหมายถึงการยอมรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว

Advertisement

ยังถูกตีความว่ายอมรับ คสช.ด้วยอีกหรือเปล่าด้วย

ดังนั้น คสช. และแม่น้ำทั้ง 5 สายจึงมุ่งมั่นที่จะให้รับ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็ออกมาเคลื่อนไหวไม่รับ

การปะทะกันระหว่าง “รับ” กับ “ไม่รับ” สำแดงออกมาจากปฏิกิริยาของ นปช. และกลุ่มนักศึกษากับทาง คสช.

Advertisement

แม้จะแลดูปฏิกิริยาไม่ขยายวงในประเทศ แต่สำหรับต่างประเทศแล้วต้องยอมรับว่ามีผลกระทบต่อไทย

หากไม่มีผลไปถึงต่างประเทศ ทำไมสหประชาชาติถึงออกมาย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

ย้ำว่าสนับสนุนการเปิดกว้าง

ย้ำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประชามติ

ขณะที่ทุกอย่างรอผลการประชามติ ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่เงียบมานาน

ปรากฏการณ์แรกคือ การปรากฏตัวของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยบนเวทีวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล

คุณหญิงสุดารัตน์ มาพร้อมกับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทยพัฒนา

บนเวทีนั้น ได้มีการผลักดันให้นักการเมืองพูดคุยกันเพื่อปฏิรูปตัวเอง และมีการตอบรับที่จะผลักดันเรื่องปฏิรูปการเมือง

หลังจากนั้นจึงเกิดกระแสข่าวคุณหญิงสุดารัตน์ นัดอดีต ส.ส. พูดคุยเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง

ชูเป้าหมายสู่ปรองดอง

แต่ขณะเดียวก็เกิดกระแสข่าวคู่ขนาน ที่ว่าการนัดหมายของคุณหญิงสุดารัตน์ มีเป้าประสงค์ทางการเมืองด้วย

เป็นเป้าประสงค์ที่จะมีผลหลังจากประชามติผ่าน

เป็นเป้าประสงค์ที่โยงกับ คสช. หรือมีการยึดโยงกับพรรคเพื่อไทย

โดยมีผลประเทศไทยหลังการเลือกตั้งในปี 2560

ดังนั้น หลังจากคุณหญิงสุดารัตน์ขยับเรื่องนัดอดีต ส.ส.หารือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอว่าถ้า คสช. เป็นเจ้าภาพก็ยินดี

ขณะที่พลพรรคเพื่อไทยก็มีความเคลื่อนไหวตั้งการ์ด ระมัดระวังต่อท่าทีข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์

ทุกประการที่ขยับสะท้อนว่า การเมืองมีความเคลื่อนไหวรับเลือกตั้งกันแล้ว

ปรากฏการณ์ที่สองคือ ความเคลื่อนไหวของนายถาวร เสนเนียม ที่ได้แสดงตัวพบปะกับอดีตแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์

แม้นายถาวรจะเป็นแกนนำ กปปส. แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จะยืนยันว่าไม่กลับมาเล่นการเมือง

แต่นายถาวรย้ำเสมอว่า ไม่เคยลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้น เมื่อปรากฏความเคลื่อนไหวที่นายถาวรพบปะกับนายศุภชัย พานิชภักดิ์ และนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ จึงกลายเป็นกระแส

ยิ่งชื่อชั้นของนายศุภชัย และนายสุรินทร์ ติดโผหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทั้งคู่

ทำให้กระแสการเตรียมพร้อมกระพือขึ้น

เข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เตรียมการเลือกตั้งในปี 2560 เหมือนกัน

ปรากฏการณ์ที่สามคือ การออกโรงตำหนิ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. และนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. เรื่องการเดินสายพบปะพรรคการเมือง

การออกโรงตำหนิเกิดขึ้นระหว่างการประชุม สปท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวข้อการโจมตีคือการใช้งบประมาณไปใช้พบปะการเมืองโดยไม่ผ่านความเห็นของ สปท.

การโจมตีในสภา สปท.วันนั้นถือว่า เดือด ข้อกล่าวหารุนแรงถึงขั้นคิดตั้งพรรคใหม่

กระทั่ง ร.อ.ทินพันธุ์ ถึงกับน้ำตาคลอและกล่าวขออภัย

ว่ากันว่า การออกโรงถล่มนายอลงกรณ์ และ ร.อ.ทินพันธุ์ ครั้งนี้ได้รับ “ไฟเขียว” มาให้สั่งสอน

ผู้ที่เข้าชื่อ “สั่งสอน” ก็อาจมีโอกาสทางการเมืองต่อไป

ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ มีตำแหน่ง “แต่งตั้ง” อยู่มาก

ปรากฏการณ์ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่สอดรับกับระยะเวลาที่ คสช. ครองอำนาจ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 หลังจากที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกกดดันจากหลายฝ่ายจนยุบสภา แต่ไม่สามารถเลือกตั้งได้

มวลชนของ กปปส. ปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพฯ มวลชน นปช. ตั้งหลักอยู่ที่พุทธมณฑล นครปฐม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.สมัยนั้นถือเป็นเหตุที่ต้องทำการยึดอำนาจ

เวลาล่วงเวลามา 2 ปี รัฐบาลทหารที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้รับแรงบีบจากต่างประเทศมากขึ้น

ผลจากแรงบีบของโลกได้ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้น

การประกาศโรดแมปครั้งแรกล้มไป และประกาศโรดแมปครั้งที่สอง โดยไปสัญญากับโลกว่าทำได้

ทำให้ทุกอย่างถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

การเลือกตั้งสมควรที่จะเกิดขึ้นตามโรดแมป

เพียงแต่ว่า หลังการเลือกตั้ง “การเมืองไทย” จะเป็นเช่นไร?

หากมีการเลือกตั้งตัวละครสำคัญคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมี สมาชิกวุฒิสภาก็ต้องมี

ถ้าพิจารณาตามร่างรัฐธรรมนูญนายมีชัย และบทเฉพาะกาล

สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมาจากการเลือกตั้ง 2 ระบบ คือระบบเขตประชาชนเลือก และระบบบัญชีรายชื่อที่ต้องผ่านการคำนวณ

จำนวน ส.ส.แต่ละพรรคก็มาจากการคำนวณจากผลการลงคะแนนเช่นกัน

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา หากเป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญ ใช้วิธีเลือกไขว้สลับ แต่ถ้าใช้วิธีตามบทเฉพาะกาล คสช.มีส่วนกำหนดสูง

นอกจากนี้ หากประชามติคำถามพ่วงผ่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ล้วนมีโอกาสเลือกนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดข้อห้าม “บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.” ดังนั้น ถ้าสมาชิกรัฐสภาเลือกใคร คนนั้นก็ได้เป็น

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญของนายมีชัย รวมถึงบทเฉพาะกาล และคำถามพ่วง ยังยึดโยงอำนาจกับฝ่ายทหาร

และดูอากัปกิริยาของ พล.อ.ประยุทธ์ และขุนทหาร ก็ยังมองว่าระยะนี้เป็นช่วง “เปลี่ยนผ่าน”

การให้ความสำคัญต่อความมั่นคงถือว่ามีความสำคัญอยู่

ดังนั้น การเมืองไทยหลังเลือกตั้งจึงมีโอกาสที่จะยึดโยงอำนาจฝ่ายทหาร

การเมืองหลังเลือกตั้งจึงมีโอกาสเป็นเพียงแค่ “ฉากใหม่” ที่เข้ามาแทน “ฉากเดิม”

เปลี่ยนจากการยึดอำนาจไปสู่การเลือกตั้ง

เพียงเป็นการเลือกตั้งที่ฝ่ายทหารยังมีพลังสูงกว่าฝ่ายการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image