การมาเยือนของ ‘แซงเตมิลิยง’ กับความสตรองของไวน์เบอร์ 1 เมืองไทย

ภายในไวเนอรี่บ่มไวน์ด้วยถังไม้โอ๊ค

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการไวน์จากเมือง แซงเตมิลิยง (St.Emillion) เมืองเลื่องชื่อด้านการผลิตไวน์บอร์โดซ์คุณภาพระดับโลก ประเทศฝรั่งเศส เดินทางมาเยือนไทยเป็นครั้งแรก

กลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวนำทีมโดย แบร์นาร์ โลเรต์ ผู้ว่าราชการแห่งเมืองแซงเตมิลิยง และเป็นประธานกลุ่มเมืองแซงเตมิลิยง ซึ่งรวมหมู่บ้านทำไวน์ 22 แห่ง บนพื้นที่ 238 ตารางกิโลเมตร โดยมีบทบาทในการพัฒนาดูแลเศรษฐกิจ ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชน รวมทั้งเป็นผู้มีบทบาทสูงในการกำหนดทิศทางและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับไวน์ในเขตเมืองแซงเตมิลิยง โดมินิก โลเรต์-เมแทร์กูย์เล็ม เจ้าของไร่ไวน์ชาโต แปงเดอเฟลอร์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดไวน์บอร์โดซ์ ฟิลิป โลเรต์ เจ้าของบริษัท แบงตง-โลเรต์ ให้บริการด้านบุคลากรและเครื่องจักรในการทำไร่องุ่น นาตาลี โลเรต์ เจ้าของไร่ไวน์ชาโต เล ซาร์เม เดอ บรองโด และ อแลง เบล เจ้าของไร่องุ่น ชาโต คาพ์ เดอ มารี ผู้ผลิตไวน์ส่งออกรายใหญ่ของฝรั่งเศส

แม้ไม่ได้เป็นแขกอย่างเป็นทางการ มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานปารีส ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แต่การมาครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง

ทำไมผู้ประกอบการไวน์เมืองแซงเตมิลิยงจึงเจาะจงมาเยือนเมืองไทย

Advertisement

ซึ่งโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเยี่ยมชมไร่องุ่นไวน์ กรานมอนเต้ (GranMonte) บริษัทผู้ผลิตไวน์ มีที่ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

(ซ้ายบน) วิสุทธิ์ โลหิตนาวี กับไร่องุ่นที่ทะนุถนอมมาเกือบ 4 ปี (ขวาบน) วิสุตา ไวน์เมกเกอร์คนแรกของไทย กับ แบร์นาร์ ผู้ว่าฯแซงเตมิลิยง (ซ้ายล่าง) วิสุทธิ์อธิบายให้กับแบร์นาร์และอแลง (ขวาล่าง) ครั้งแรกการมาเยือนของผู้ผลิตและส่งออกไวน์คุณภาพจากบอร์โดซ์
(ซ้ายบน) วิสุทธิ์ โลหิตนาวี กับไร่องุ่นที่ทะนุถนอมมาเกือบ 4 ปี (ขวาบน) วิสุตา ไวน์เมกเกอร์คนแรกของไทย กับ แบร์นาร์ ผู้ว่าฯแซงเตมิลิยง (ซ้ายล่าง) วิสุทธิ์อธิบายให้กับแบร์นาร์และอแลง (ขวาล่าง) ครั้งแรกการมาเยือนของผู้ผลิตและส่งออกไวน์คุณภาพจากบอร์โดซ์

‘รางวัล’กำลังใจพิสูจน์ความแกร่ง

เช้าวันที่อากาศเป็นใจ แม้เมฆดำจะลอยเต็มฟ้าแต่ไม่ถึงกับโปรยสายลงมา กลับช่วยบดบังแสงแดดแรงกล้า คณะผู้ประกอบการราว 10 ชีวิต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ททท. สำนักงานปารีส เดินทางถึงไร่กรานมอนเต้เวลา 9 โมงเช้าโดยประมาณ ต่างตื่นเต้นเมื่อเห็นต้นองุ่นยืนเป็นแนว โดยมีหัวแถวเป็นต้นกุหลาบ

นี่เป็นวิธีการเฝ้าระวังโรคและแมลงศัตรูต้นองุ่นเช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศส

“เพราะองุ่นกับกุหลาบมีความคล้ายกัน ไม่ว่าจะเรื่องรากเรื่องอะไรต่างๆ เมื่อโรคมาก็จะแสดงที่กุหลาบก่อน เป็นสัญญาณบอกว่าเราต้องจัดการอะไรสักอย่างก่อนจะลุกลามทำความเสียหาย แต่บ้านเราจะมีปัญหามากกว่านั้น เช่นเรื่องความชื้นสูง”

วิสุทธิ์ โลหิตนาวี เจ้าของไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ อธิบายขณะให้เกียรตินำชมไร่องุ่นด้วยตนเอง ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมชมไร่ “เจ แอนด์ เจ” ไร่องุ่นตัวอย่างที่วิสุทธิ์ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 10 ปี หลอมรวมในการบริหารจัดการไร่แห่งนี้ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน และเพิ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

“การทำไวน์จะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คุณภาพขององุ่นด้วย” จึงต้องดูแลในทุกรายละเอียดตั้งแต่การปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

สำหรับกรานมอนเต้นั้น บนพื้นที่ปลูกองุ่น 100 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ยที่ 80,000 ขวดต่อปี ส่งออกไม่ถึง 20% มีลูกค้าสำคัญคือญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่นสนใจเรื่องไวน์มากและให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ ตอนนี้เราก็มีบริษัทที่พัฒนาเรื่องต้นองุ่นมาทดลองปลูกองุ่นที่เรา 3-4 ปีแล้ว เอาต้นพันธุ์ของเขามาปลูกที่เรา เขาเชื่อว่าแบบของเขาจะให้ผลผลิตที่ดีกว่า”

ซึ่งไม่เพียงแต่ญี่ปุ่นที่มีการทำไร่องุ่นเพื่อผลิตไวน์ ในอาเซียนล้วนแล้วแต่มีการผลิตไวน์ด้วยกันทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าสมาชิกในสมาคมผู้ประกอบการไวน์อาเซียนนั้นมีตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย พม่า ไทย บาหลี (อินโดนีเซีย) เป็นต้น และแม้แต่เวียดนามและกัมพูชาจะยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก แต่ก็มีไวเนอรี่เช่นกัน แต่ไม่มาก

“เรารวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและด้านการตลาด” วิสุทธิ์บอก และว่า แม้ว่าไวน์ในแถบนี้จะเป็นไวน์ใหม่ แต่เรื่องของเทคโนโลยีเราทันเขา ส่วนรสชาตินั้นอยู่ที่ความชอบของแต่ละบุคคล

เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพและรสชาติของไวน์ กรานมอนเต้จึงส่งลงสนามประกวดมาตลอด ซึ่งก็กวาดรางวัลในระดับนานาชาติมาทุกปี นอกจากเวทีเฉพาะไวน์พันธุ์เซียร่า “เซียรา ดู มอง” ที่ฝรั่งเศส ปีที่ผ่านมาได้รับรางวัล 3 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และชมเชยอีก 5 รางวัล รวมทั้งได้เป็น The Best Thai Wine และได้ 2 Star Winery ในระดับโลก

ส่วนปีนี้ประเดิมมาหมาดๆ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2 เหรียญทองจากเมืองเวียนนา ออสเตรีย ซึ่งเป็นเวทีที่มีผู้ส่งเข้าร่วมชิงชัยมากที่สุด ปีละ 12,000-13,000 ขวด

วิสุตา โลหิตนาวี ผอ.ไร่องุ่นกรานมอนเต้ อธิบายเทคนิคการดูแลต้นองุ่น
วิสุตา โลหิตนาวี ผอ.ไร่องุ่นกรานมอนเต้ อธิบายเทคนิคการดูแลต้นองุ่น

แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝรั่งเศส-ไทย

หลังมื้อเที่ยง กับการทำความรู้จักความละมุนของกรานมอนเต้อย่างลึกซึ้ง มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้มาเยือนจากแดนน้ำหอม

แบร์นาร์ ผู้ว่าราชการเมืองแซงเตมิลิยง และอแลง เจ้าของไร่องุ่นและผู้ส่งออกไวน์รายใหญ่ของฝรั่งเศส เปิดใจถึงการมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความตั้งใจที่จะทำความรู้จักไร่องุ่นของคนไทย ไม่เพียงในประเด็นที่เขาใหญ่และแซงเตมิลิยงมีภูมิประเทศที่เป็นเนินและอยู่ในหุบเขาคล้ายกัน ยังชื่นชมกับความตั้งใจในการผลิตไวน์คุณภาพของกรานมอนเต้

ไวน์ไทยแม้จะเป็นไวน์ใหม่เนื่องจากสายพันธุ์เพิ่งจะเกิด แต่วิธีการทำไวน์เป็นนานาชาติมาก ใช้การหมักในถังไม้โอ๊คเหมือนกัน การคัดเลือกเม็ดองุ่นก็แทบจะเป็นวิธีการเดียวกัน ซึ่งถ้าให้เทียบระหว่างไวน์โลกเก่าและไวน์โลกใหม่นั้นอย่างไรก็แตกต่างเพราะดินและอากาศ แต่ที่น่าสนใจคือ เรื่องเจเนเรชั่นซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของไทยเอง ศึกษาและมีการพัฒนาไวน์โดยมีแรงบันดาลใจจากไวน์โลกเก่า

อย่างไรก็ตามถ้าเปรียบเทียบกับไวน์โลกใหม่ด้วยกันเอง แบร์นาร์บอกว่า เปรียบกับไวน์ออสเตรเลียนับว่าน่าประหลาดใจ และมีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นไวน์ขาวกึ่งแชมเปญ ไวน์ชมพู บอกได้เลยว่าสู้ได้หรือดีกว่าไวน์ออสเตรเลียบางพันธุ์ด้วยซ้ำ

“จุดเด่นของไวน์ไทยคือ ความสามารถของผู้ทำไวน์ ถ้าเปรียบกับไวน์ออสเตรเลียหรือไวน์ฝรั่งเศส มีความนุ่มนวลที่บาลานซ์มาก ไม่หวาน เปรี้ยว หรือฝาดเกินไป ที่สำคัญและสร้างความประหลาดใจคือ กลิ่นที่มีความหอมนุ่มและยาวมาก ซึ่งนี่คือคาแรกเตอร์ของไวน์โลกเก่า มันเป็นเรื่องของความสมดุลของไวน์จริงๆ”

โลกร้อนทำให้ไวน์หวานขึ้น

ปัญหาหนึ่งที่ถือเป็นความท้าทายของเกษตรกรทั่วโลก คือสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อผลผลิตทุกชนิด รวมทั้งองุ่นไวน์

แบร์นาร์บอกว่า สิ่งที่ถือว่าเป็นปัญหา และเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ คือ ประเด็นของสารเคมีตกค้างจากการทำเกษตรแต่เดิม โดยเฉพาะในไร่องุ่นไวน์

“ผมเองใช้สูตรง่ายๆว่า ‘เราจะต้องอยู่ร่วมกันให้ดีที่สุด’ ในหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากเนื่องจากมีการใช้ยาปฏิชีวนะ (ต้านเชื้อแบคทีเรีย) เราจะไปบอกว่าไม่ดี ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกฎหมายอนุญาตให้จำหน่ายได้”

แบร์นาร์บอก และยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจมีสารตกค้าง มีผลต่อดิน น้ำ และแมลงในทางกีฏวิทยา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในรุ่นปู่รุ่นพ่อแม่ ซึ่งการทำการเกษตรจะใช้ยาฆ่าหญ้า แต่พอมายุคของเรามีการรณรงค์ใหม่ ไม่จำเป็นต้องฆ่าหญ้าเสมอไป หรือแม้แต่ในเมืองที่ปลูกดอกไม้แล้วมีหญ้าขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องฆ่าหญ้าเสมอไป นี่คือการรณรงค์การอยู่ร่วมกันของคนรุ่นใหม่

“ในฐานะของเกษตรกรที่ทำองุ่นผลิตไวน์จะใช้วิธีสังเกตว่า ช่วงไหนจำเป็นต้องใช้เคมีในการฆ่าหญ้าก็จะใช้ แต่ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ใช้เลย” อแลงบอก และว่า

กรณีของภาวะโลกร้อน ส่งผลทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ในแง่บวกคือการที่โลกร้อนและฤดูกาลเปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้องุ่นที่เก็บเพื่อทำไวน์จะได้รสชาติที่กลมกล่อมขึ้น เนื่องจากองุ่นสุกมากและสุกไว

แต่ในแง่ลบคือ บางปีถ้าร้อนมากจะทำให้องุ่นมีรสชาติหวานมาก เป็นผลให้ไวน์องุ่นมีดีกรีที่สูง ไม่สามารถเก็บได้นานเมื่อเทียบกับไวน์ที่ผลิตในบอร์โดซ์ปี 1960 เก็บได้นานมากเพราะไม่มีปัญหาโลกร้อน

ครั้งแรกก็ตกหลุมรักเมืองไทย

เวลาที่ไม่คอยท่า สำหรับการมาเยือนทริปนี้ของไวน์เมกเกอร์แห่งเมืองแซงเตมิลิยง ยังมีโปรแกรมเยี่ยมชมอีกหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความประทับใจที่ได้รับระหว่างการมาเยือนครั้งนี้ แบร์นาร์บอกว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้มาประเทศแถบเอเชีย รู้สึกประทับใจมาก

“ภาพลักษณ์ประเทศไทยก่อนที่จะได้มาเห็นด้วยตัวเองนั้น เป็นภาพลบด้านเซ็กซ์ แต่เมื่อได้มาเห็นด้วยตัวเอง กลับพบว่าผู้คนที่นี่เป็นมิตรและอบอุ่น มีความปลอดภัยสูง ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือในชนบทที่ห่างไกล และเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยาวนาน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะนักท่องเที่ยวสามารถหาชายหาดสวยๆ โรงแรมดีๆ ได้จากทั่วโลก แต่การมีประชาชนที่น่ารัก มีรากฐานทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้ทั่วไป”

ขณะที่อแลงบอกว่า หากจุดประสงค์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการเชิญคณะผู้ประกอบการไร่ไวน์มาดูงานครั้งนี้ คือต้องการให้พวกเรากลับมาเที่ยวที่เมืองไทยอีกครั้ง ผมคิดว่าประสบความสำเร็จ

ผมจะกลับมาเมืองไทยอีกแน่นอน เพราะประทับใจการต้อนรับที่เป็นกันเองของคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image