“วิสุทธิ์”ห่วง”ฟินเทค” ซ้ำรอยแชร์แม่ชม้อย สั่งคุมเข้มปิดความเสี่ยง “วิรไท”เผย ธปท.ให้น้ำหนักดูแลประชาชน กำลังศึกษากรอบกำกับดูแล ยึดรูปแบบจากต่างประเทศเป็นแนว

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ กล่าวในงานสัมมนา Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem จัดโดย C asean ชั้น 10 อาคารไซเบอร์เวิลด์ ว่า ขณะนี้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเงิน หรือฟินเทค เข้ามาช่วยให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ทำให้ลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เชื่อว่าฟินเทคในไทยมีโอกาสประสบความสำเร็จและขยายตัวได้ดีมาก ด้วยจำนวนการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต้องมีการส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชนด้วย เพราะส่วนใหญ่ยังขาดความรู้การเงิน ดังนั้น ฟินเทคก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี แม้ฟินเทคจะมีประโยชน์แต่ก็อาจสร้างความเสี่ยงหรือความเสียหายได้ หากไม่มีการควบคุมดูแลที่ดี ดังนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นต้น ต้องดูแลให้รัดกุม และต้องส่งเสริมให้กลุ่มฟินเทคมีการพัฒนาต่อยอด สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค

“ในต่างประเทศฟินเทคมีการพัฒนาและได้รับความนิยมมาก มีการทำธุรกรรมได้หลากหลาย เช่น การระดมทุนผ่านคลาวด์ฟันดิ้ง การให้กู้ระหว่างบุคคลแบบเพียร์ทูเพียร์ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์คล้ายแชร์แม่ชม้อยที่มีการเขียนโครงการระดมทุนแบบหลอกขึ้น สร้างความเสียหายกว่า 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนฟินเทคของไทย เรกูเลเตอร์ (คณะกรรมการกำกับดูแล) ต้องดูแลเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนและรายย่อย” นายวิสุทธิ์กล่าว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในงานเดียวกันว่า ธปท.พร้อมสนับสนุนการเติบโตของฟินเทค ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดและสร้างความน่าเชื่อถือในการใช้งานฟินเทคให้กับประชาชน เพราะฟินเทคเข้ามาเติมช่องว่างบริการทางการเงินของธนาคาร ซึ่งในส่วนการให้บริการฟินเทค ควรเน้นบริการคุนภาพ จับกลุ่มตลาดเฉพาะ (นิชมาร์เก็ต) เป็นต้น รวมทั้ง ธปท.ยังกำกับดูแลเพื่อระวังไม่ให้ฟินเทคเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเรื่องสำคัญที่ ธปท.ให้น้ำหนัก คือ ฟินเทค ต้องคุ้มครองผู้บริโภค ประชาชนที่ใช้บริการต้องได้รับข้อมูลเพียงพอ สามารถเลือกซื้อหรือใช้บริการฟินเทคได้ตามต้องการ และเมื่อเกิดความเสียหาย ประชาชนต้องได้รับกระบวนการแก้ไข หากพิสูจน์ว่าไม่ใช่ความผิดของบุคคล ต้องมีการชดเชย และต้องมีการรักษาความลับและข้อมูลของประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล

Advertisement

“แนวทางการกำกับดูแลฟินเทค จะเน้นเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ แก้ไขกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน และดูแลไม่ให้การดำเนินงานของฟินเทคส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น ฟินเทค ต้องไม่ไปส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายที่เกินตัว เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เป็นต้น” นายวิรไทกล่าว และว่า ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษากรอบการกำกับดูแลฟินเทค โดยอาศัยรูปแบบจากต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

นายวิรไทกล่าวว่า ธปท.พยายามลดข้อจำกัดโครงสร้างและบริการทางการเงิน และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์) มารองรับ และได้เสนอกฎหมายระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นฉบับเดียว จากที่มีหลายฉบับและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน คาดว่าจะผ่านการอนุมัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆ นี้ และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้จะมีเรื่องที่บังคับใช้ใหม่ อาทิ เรื่องอิเล็กทรอนิกส์อีเควายซี หรือการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ ง่ายขึ้นผ่านทางออนไลน์ มาตรฐานคิวอาร์โคดในระบบการเงิน และมาตรการผ่อนคลายการลงทุนของสถาบันการเงินในเวนเจอร์แคปปิตอลที่เกี่ยวกับฟินเทค นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร ที่อนุญาติให้บริษัทฟินเทค ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือนอนแบงก์เป็นสมาชิกได้ อยู่ระหว่างนำเสนอเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย (ทีเอฟทีซี) กล่าวว่า ได้จัดตั้งทีเอฟทีซีขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนฟินเทคในไทย ปัจจุบันมีสมาชิกแล้ว 50 บริษัท ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งการสนับสนุนการเติบโตของฟินเทคควรมีการหารือร่วมกันทั้งฟินเทค หน่วยงานกำกับ และหน่วยงานภาครัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image